kounchanok rujjanapan

การบินไทยแจกทุนนักบินฝึกหัดเริ่มรับสมัคร 1 เม.ย.นี้

28 กุมภาพันธ์ 2557
การบินไทยแจกทุนนักบินฝึกหัดเริ่มรับสมัคร 1 เม.ย.นี้
  
          การบินไทย ประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไป สอบคัดเลือกเป็น “นักบินฝึกหัดทุนการบินไทย” เริ่มรับสมัครวันที่ 1 เม.ย.57 เป็นต้นไป ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งมี 7 ขั้นตอนการสอบ ได้แก่
1. สอบข้อเขียน ทดสอบความรู้พื้นฐานของการเป็นนักบิน
2.ทดสอบควมพร้อมของร่างกาย
3.สอบสัมภาษณ์กับกัปตันการบินไทย
4. สอบAptitude Test รอบแรกกับ Professor: Written test
5.สอบ Aptiude Test รอบสองกับ Professor: Teamwork Exercise
6.สอบ Aptiude Test รอบสามกับ Professor: Individual
7.สอบจิตวิทยาการบิน
       
รับสมัครระหว่างวันที่ 1-18 เม.ย.57 ผ่านทางระบบออนไลน์เท่านั้น ที่เว็บไซต์ http:// www.tgpilotrecruitment.com/
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามกีฬา
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35958&Key=hotnews

คลอด 6 นโยบายใช้เปิดเทอมใหม่ ยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่องนโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยได้กำหนด 6 นโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเข้าถึงองค์ความรู้และก้าวทันโลก รวมถึงพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1. ให้ใช้กรอบมาตรการความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ได้แก่ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) เป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย ทั้งในการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้

2. ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ โดยเน้นการสื่อสารที่เริ่มจากการฟัง ตามด้วยการพูด การอ่าน และการเขียนตามลำดับ

3. ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานหลัก ด้วยหลักสูตรแบบเรียน สื่อการเรียนการสอนแต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันได้ ทั้งตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา และแสดงถึงความถนัดและความสนใจของผู้เรียน

4. ส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ อาทิ ขยายโครงการพิเศษด้านการเรียนการสอนในหลักสูตร English Program หรือ EP, Mini EP, International Program แก่ผู้ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง, English Bilingual Education โดยจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และศิลปการศึกษาแบบสองภาษา พัฒนาห้องเรียนสนทนาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการฟังและการพูดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และให้มีการเรียนการสอนวิชา
สนทนาภาษาอังกฤษเป็นการทั่วไป และมีการเรียนการสอนแบบเข้มข้น รวมถึงจัดให้เป็นสาระเพิ่มเติมในลักษณะวิชาเลือกได้ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ความถนัด และศักยภาพ เป็นต้น

5. ยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนที่เน้นการสื่อสารและ 6. ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความสามารถทางภาษาของครูและผู้เรียน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้หน่วยงานที่ต้องจัดการเรียนการสอนนำนโยบายไปปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักยภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาแต่ละแห่ง รวมทั้งบริบทและความต้องการของพื้นที่ที่แตกต่างกัน

นางอ่องจิต กล่าวว่า หลังจากออกประกาศ ศธ. แล้ว สพฐ. จะจัดทำแนวปฏิบัติแจ้งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อใช้ในภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งโรงเรียนสามารถเริ่มจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้นไป ตามศักยภาพและความพร้อม

–ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 10 – 16 ก.พ. 2557–

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง :: ชนาพร เคลือบคล้าย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35696&Key=hotnews

หนุนส่งออกเด็กสหกิจศึกษาฝึกงานต่างแดน

27 มกราคม 2557

โพสต์ทูเดย์ สมาคมสหกิจศึกษาโลกดันแผนส่งเด็กไทยฝึกงานต่างแดน ปั้นบุคลากร 70 มหาวิทยาลัยช่วยเดินแผน

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก เปิดเผยว่า ในปี 2557 นี้ สมาคมได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสมาคมสหกิจศึกษาไทย ร่วมกันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเตรียมความพร้อมในการส่งนิสิต-นักศึกษา

เข้าร่วมฝึกงานระยะยาวโครงการสหกิจศึกษาอินเตอร์ในต่างประเทศได้
“โครงการสหกิจศึกษาอินเตอร์เป็นสิ่งสำคัญมากในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีเพราะจะทำให้เด็กไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมคนต่างชาติจริงๆ ได้เห็นมุมมอง ได้ปรับตัว ได้เตรียมความพร้อม รองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์” นายสัมพันธ์ กล่าว

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดการอบรมบุคลากรกว่า 100 คน จาก 70 มหาวิทยาลัย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 2 วัน เพื่อให้บุคลากรตระหนักถึงความสำคัญของสหกิจศึกษาอินเตอร์ เข้าใจมาตรฐานใหม่ กระบวนการบริหารจัดการ และจัดการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับการส่งนิสิต-นักศึกษาไปต่างประเทศ โดยมีนายวิจิตร ศรีสอ้านนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทยและอดีตรมว.ศึกษาธิการ ร่วมเป็นวิทยากร

หลังการอบรมครั้งดังกล่าว แต่ละสถาบันการศึกษาจะทดลองนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถาบันของตัวเอง และวางแผนการดำเนินงานส่งนักศึกษาไปเข้าโครงการสหกิจศึกษาอินเตอร์ยังต่างประเทศ จากนั้นจะส่งแผนกลับมายัง สกอ.และสมาคมสหกิจศึกษาโลกอีกครั้ง เพื่อประเมินและวางเป้าภาพรวมการส่งนักศึกษาออกไปต่างประเทศร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการจัดอบรมครั้งต่อๆ ไปในปี 2557 นี้

ที่ผ่านมา ไทยส่งนักศึกษาร่วมโครงการสหกิจศึกษาอินเตอร์ไปต่างประเทศจำนวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ ไปร่วมโครงการสหกิจศึกษาในมาเลเซีย เนื่องจากใช้ภาษาใกล้เคียงกัน สามารถสื่อสารกันได้นับจากนี้ต้องมีเป้าหมายไกลขึ้น เช่นประเทศอื่นในอาเซียนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป –

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35537&Key=hotnews

หลักสูตรผลิตครู ป.ตรี ย้ำปีการศึกษา 57 ใช้หลักสูตรพื้นฐานใหม่ ข่าวทั้งหมด

20 มกราคม 2557

หลักสูตรผลิตครู ป.ตรี ย้ำปีการศึกษา 57 ใช้หลักสูตรพื้นฐานใหม่

จากกรณีที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้วิจัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อ รมว.ศึกษาธิการ โดยสรุปว่า ไม่ควรเร่งนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ในปีการศึกษา 2557 และเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนครู โดยเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นนั้น ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครู แต่ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนครูถือเป็นเรื่องยากที่สุด และที่สำคัญ คือ เวลานี้หน่วยงานที่ดูแลการพัฒนาครูโดยเฉพาะสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ก็มีปัญหาอยู่ ดังนั้นจึงต้องมองไปที่การปรับระบบการผลิตครูใหม่ แทนการปรับเปลี่ยนครูที่สอนอยู่ในเวลานี้

“หลักสูตรผลิตครูในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่ต้องการครูที่สอนได้ทั่วไปเหมือนแพทย์จีพีที่ตรวจรักษาโรคทั่วไปได้ ขณะที่การผลิตครูระดับปริญญาตรีกลับให้เลือกวิชาเอกที่แยกเป็นเอกประถมศึกษา เอกมัธยมศึกษา เอกวัดผล หรือเอกแนะแนว แต่พอส่งลงสนามจริง ๆ กลับสอนหนังสือในวิชาทั่วไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนการสอนด้วยระยะเวลาสั้น ๆ คงทำไม่ได้” ศ.พิเศษ ดร. ภาวิช กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามตนได้เสนอต่อสถาบันผลิตครูไปแล้ว ว่า ควรผลิตครูทั่วไปในระดับปริญญาตรี และผลิตครูวิชาเอกในระดับปริญญาโท ซึ่งฝ่ายผลิตครูก็ไม่ได้ท้วงติงอะไร โดยเร็ว ๆ นี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อว่า ส่วนการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ไปใช้นั้น เบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันว่าหลักสูตรใหม่ควรนำไปใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 นี้ แต่จะใช้พร้อมกันทั้งประเทศ หรือใช้เฉพาะชั้น ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 หรือ ใช้ในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) และช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) หรือใช้ เฉพาะโรงเรียนนำร่องก่อน ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มกราคมนี้ จะมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงานในภาพรวมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35457&Key=hotnews

เผยร่างแผนแม่บทไอซีที ศธ. ดันเด็กไทยเข้าถึงเน็ตใน 5 ปี

10 มกราคม 2557

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการจัดทำร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ศธ. พ.ศ.2557-2559 ซึ่งเป็นแผนที่จะใช้ในการขับเคลื่อนงานไอซีทีเพื่อการศึกษาทั้งระบบ โดยขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 70% แล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและนำผลที่ได้มาสรุปเพื่อปรับปรุง ทั้งนี้แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.เพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถของผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาในด้านไอซีที

2.พัฒนามาตรฐานสาระความรู้สื่อการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์

3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที

4.พัฒนาระบบไอซีทีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการ และ

5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษา

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมเน้นย้ำว่าแผนแม่บทฯ จะต้องครอบคลุมและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าควรจะให้ไอซีทีเข้าถึงสถานศึกษาทุกแห่งได้ภายในปีใด และดำเนินการอย่างไร ส่วนเป้าหมายที่จะทำให้ไอซีทีเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน ภายใน 5 ปี ก็จะต้องมาดูว่าจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอะไรมารองรับ และต้องใช้งบประมาณเท่าใด เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตภายใน 5 ปี ส่วนเรื่องเนื้อหาก็จะต้องมีระบบคัดกรองเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งการพัฒนาครูและบุคลากรก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะต้องมีนักเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในแต่ละสถานศึกษาภายในปีใด จำนวนเท่าใด

ที่มา: http://www.prachachat.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35358&Key=hotnews

กพฐ.ให้โรงเรียนเลื่อนปิดเทอมได้ พิจารณาตามความเหมาะสม

10 มกราคม 2557

กพฐ.ให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาถึงความเหมาะสม หากต้องเลื่อนกำหนดปิดภาคเรียนออกไป หลังการชุมนุมกระทบตารางเรียน เชื่อไม่กระทบ ม.3, ม.6 ที่ต้องไปศึกษาต่อ

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ชุมนุมต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นระยะ กพฐ. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังแต่ละโรงเรียนแล้วว่า หากการชุมนุมกระทบกับตารางเรียนตามปกติ ก็ให้มีการจัดเรียนชดเชยให้ครบตามหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 20 สัปดาห์ โดยอาจเลื่อนกำหนดการปิดภาคเรียนออกไปได้ตามความเหมาะสม

ส่วนปัญหาการเรียนไม่ทันที่จะนำไปใช้สอบปลายภาคนั้น ได้กำชับให้สถานศึกษาดำเนินการตามสมควร ซึ่งหลายโรงเรียนได้มีการแก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์บ้างแล้ว ส่วนนักเรียน ม.3 และ ม.6 ที่จะต้องเตรียมตัวไปศึกษาต่อ เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ที่มา: http://www.prachachat.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35354&Key=hotnews

การพัฒนากำลังคนจากสถาบันสู่โรงงานมีความจำเป็นสูง

3 มกราคม 2557

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึง การเตรียมการพัฒนากำลังคนจากสถาบันการศึกษาสู่สถาบันอาชีพ ในงานเปิด “ชุมแพโมเดล:แนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพ” ว่า ได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อใช้เป็นจุดเน้น ส่งเสริมและสร้างศักยภาพในการยกระดับพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะการที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตและพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยมีคุณภาพของกำลังคน และมีฝีมือ-ทักษะที่สอดคล้องกับกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นสถาบันอาชีพในวิถีชีวิตของคนทุกคน เนื่องจากประเทศไทยกำลังแข่งขันกับประเทศต่างๆ ไปพร้อมกับการจะต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งแต่ละประเทศกำลังปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่คนไทยจะด้อยกว่าเขาไม่ได้ เพราะหากมีการพัฒนากำลังคนดีจะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจดีไปด้วย ยิ่งพัฒนากำลังคนได้ดีมากเท่าใด ก็จะช่วยผลักให้เศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น และเมื่อเศรษฐกิจดีก็จะมีงบประมาณมาพัฒนากำลังคนต่อไป ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จจากการศึกษาและการพัฒนากำลังคนที่ดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อน ประเทศไทยถูกมองว่า อาจจะไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ทันประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากกำลังคนภาคการผลิตมีการศึกษาต่ำมาก ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ ในเวลาต่อมา เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ประเทศเหล่านั้นก้าวหน้าไปไกลมาก เนื่องจากมีการพัฒนากำลังคนให้มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย และข้อมูลในปี 2008 ยังพบว่าแรงงานของไทยมีระดับการศึกษาที่ต่ำมากในขั้นน่าเป็นห่วง จึงเป็นหน้าที่ของ ศธ.ที่จะต้องศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า เราจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ มีการเรียนฟรี 12 ปี แต่เหตุใดกำลังแรงงานไทยจึงมีการศึกษาต่ำ แล้วแรงงานเหล่านั้นเข้าสู่ระบบแรงงานเมื่อใด มีสัดส่วนเท่าใด จะต้องหาตัวเลขที่ชัดเจนต่อไป นอกจากนี้ แรงงานที่จบแค่ชั้น ม.3 กว่าแสนคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งก็ไม่ได้เรียนต่อสายอาชีวะเพิ่มเติม จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการของฝ่ายผลิตและภาคเอกชน ที่กำลังต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโต มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหากการจัดการศึกษายังเป็นอยู่เช่นนี้ โอกาสที่จะไปแข่งขันกับประเทศใดก็เป็นเรื่องยาก

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35280&Key=hotnews

เด็กเอเชียเก่งระดับโลก

3 มกราคม 2557

เด็กเอเชียมีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในโลก จากการประเมินผลสอบ PISA ในปี 2012 เซี่ยงไฮ้ได้คะแนนรวมอันดับหนึ่งโลก ตามด้วยฮ่องกงและสิงคโปร์ ประเทศไทยอยู่อันดับ 50 จาก 65 ประเทศสมาชิก ตามหลังเวียดนามที่อยู่อันดับ 17 และนับเป็นที่ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Develop ment) ได้ดำเนินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Pro gram for International Stu dent Assessment) หรือ PISA โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจากทั่วโลก 65 ประเทศ มีเด็กเข้ารับการทดสอบประมาณ 510,000 คน

การประเมินของ PISA เป็นการประเมินเพื่อชี้อนาคตของกลุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ไม่เน้นความรู้ตามหลัก สูตรในห้องเรียน แต่เน้นทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตจริงในอนาคต 3 ด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน หลายประเทศในเอเชียมีคะแนนรวมสูงสุดในโลก นักเรียนในเซี่ยงไฮ้ทำคะแนนสูง สุดทั้ง 3 วิชา โดยด้านคณิต ศาสตร์ ทำได้ 613 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 494 คะแนน ด้านการอ่าน 570 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 496 คะแนน ด้านวิทยา ศาสตร์ 580 คะแนน จากค่าเฉลี่ย 501 คะแนน

สิงคโปร์มีคะแนนรวมอันดับ 3 ด้านคณิตศาสตร์ทำได้ 573 คะแนน แต่การอ่านและวิทยาศาสตร์น้อยกว่าฮ่องกง โดยการอ่านได้ 542 คะ แนน และวิทยาศาสตร์ 551 คะแนน ฮ่องกงมีคะแนนรวมอันดับ 2 ด้านคณิตศาสตร์ 561 คะแนน การอ่าน 545 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 555 คะแนน

ประเทศอื่นๆที่มีคะแนนรวมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้ แก่ ไต้หวัน เกาหลี มาเก๊า ญี่ปุ่น ลิกเตนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ นอกเหนือจากสิงคโปร์ ประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างเวียดนามทำคะแนนรวมอันดับ 17 มีคะแนนด้านคณิตศาสตร์ 511 คะแนน การอ่าน 508 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 528 คะแนน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 50 จาก 65 ประเทศทั่วโลก มีคะแนนด้านคณิตศาสตร์ 427 คะแนน การอ่าน 441 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 444 คะแนน นับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามด้วยมาเลเซียอันดับ 52 มีคะแนนด้านคณิตศาสตร์ 421 คะแนน การอ่าน 398 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 420 คะแนน

อินโดนีเซียอันดับ 64 มีคะแนนด้านคณิตศาสตร์ 375 คะแนน การอ่าน 396 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 382 คะแนน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ถึงระบบการจัดการศึกษาและการแข่งขันกันเป็นเลิศทางการศึกษาของประเทศที่เตรียมคนในยุคที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสูงมาก โดยประเทศในเอเชีย มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งเซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี มาเก๊า และญี่ปุ่น ขึ้นนำในฐานะกลุ่มประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงและเศรษฐกิจมั่นคง
ให้เห็นเหตุผลที่สอดคล้องกัน ผลการสอบ PISA แสดงระหว่างความมั่งคั่งของประเทศและความสำเร็จของนักเรียนในการทดสอบทางคณิตศาสตร์

นักเรียนในเซี่ยงไฮ้ทำได้ดีที่สุด ขณะที่รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัวประชากรของเซี่ยงไฮ้สูงเป็นอันดับ 1 ของจีน คุณภาพของการศึกษาเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยผลการจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกช่วงเดือนตุลาคมปีก่อน กาตาร์มาเป็นที่หนึ่ง ตามด้วยลัก เซมเบิร์ก และสิงคโปร์ กาตาร์มีคะแนนวิชาคณิต ศาสตร์อันดับ 63 ขณะที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในโลก เพราะรวยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 3 เพราะความเจริญด้านเทคโน โลยี การผลิต และศูนย์กลางการเงิน

จีนเริ่มประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาที่ มุ่งเน้นความสามารถในการ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหามาตั้ง แต่ปี 2005 เปลี่ยนจากระบบการศึกษาแบบเดิมที่เน้นการท่องจำ

แม้ความสำเร็จของการจัดการศึกษาของเซี่ยงไฮ้ไม่ได้สะท้อนมาตรฐานการศึกษาของทั้งประเทศ เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพของโรงเรียนในเมืองและชนบท แต่ความคาดหวังสูงและการให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่ว่ายากดีมีจนนับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญมาก เกิดความหวังขึ้นมาว่า ผลการประเมิน PISA เปรียบเทียบกับนานาประเทศอาจเป็นประเด็นร้อนให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัว เร่งผลักดันการปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในระยะยาว

–โลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 4 – 10 ม.ค. 2557–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35279&Key=hotnews

บูมภาษาอังกฤษ นศ.แพทย์แนะมหา’ลัยแพทย์ศึกษาวิจัย ‘โรค ‘อาเซียน

3 มกราคม 2557

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ประธานเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าขณะนี้โรงเรียนสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนด้านวิชาทางการแพทย์ ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในเรื่องของคุณภาพด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการ ความสามารถในการวินิจฉัยโรค เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ถือว่าบุคลากรด้านวิชาชีพสายแพทย์ของไทยไม่ด้อยกว่าชาติใดในอาเซียน แต่สิ่งที่ไทยต้องปรับปรุงคือการเตรียมความพร้อมด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เด็กไทยภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ถ้าต้องใช้ภาษาทางการแพทย์ลงลึก นิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยอาจยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซียได้ เพราะเด็กจากประเทศเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร

นอกจากนั้น เมื่อเปิดประเทศแล้วมีการเคลื่อนย้ายคน สิ่งที่จะตามมาคือการเคลื่อนย้ายของโรคต่างๆ ด้วย ดังนั้น โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรทางการแพทย์ต้องให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาโรคที่ห่างหายจากประเทศไทยแต่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น โรคเท้าช้าง เป็นต้นรวม ถึงต้องสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างเครือข่ายให้นิสิตนักศึกษา ศึกษา วิจัย เรียนรู้โรคต่างๆอีกทั้งต้องมีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาแพทย์ให้เขามีศักยภาพความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ที่ไม่ใช่รักษาเฉพาะคนไทย แต่ต้องสามารถรักษาประชาชนจากประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย

ผศ.พญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าขณะนี้การเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นในส่วนของเนื้อหาวิชาการ องค์ความรู้มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ระยะเวลาในการเรียนนั้นแตกต่างกัน โดยคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยจะเรียน 5 ปี หรือ 6 ปี ส่วนประเทศอาเซียนจะเรียน 4 ปี ซึ่งเรื่องความแตกต่างตรงนี้นิสิตนักศึกษาไทยอาจไม่มีปัญหาในการเคลื่อนย้ายไปศึกษาต่อหรือไปทำงานในประเทศอาเซียน เพราะเรามีองค์ความรู้ เรียนมากกว่า แต่สิ่งที่เราจะเสียเปรียบได้แก่ทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเด็กไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร อาจทำให้ไม่คุ้นชิน ส่งผลให้การสื่อสารด้านภาษาอังกฤษไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายบุคลากรสายวิชาชีพแพทย์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละประเทศมีการรับรองที่แตกต่างกัน แพทย์ เภสัชกร จะไปทำงานได้ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพจากประเทศตนเองและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะไปทำงานร่วมด้วย ดังนั้น ขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ พยายามเพิ่มเติมศักยภาพด้านภาษาให้แก่นิสิต นักศึกษา อย่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พยายามให้นิสิตได้เรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติโดยตรงและได้มีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือสถานประกอบการ บริษัทเอกชนที่ทำงานวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ และเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษให้แก่นิสิต เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35274&Key=hotnews

อนาคตครูในศตวรรษที่ 21

2 มกราคม 2557

ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภาเปิดเผยว่า เนื่องในวันครูปี 2557 ถือเป็นโอกาสดีที่คุรุสภาจะเริ่มพัฒนาวิชาชีพครูอย่างเอาจริง โดยสิ่งแรกที่จะพูดถึงคืออนาคตครูในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดหาแนวทางที่จะพัฒนาครูให้ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคุรุสภาต้องการให้ครูเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองว่า นอกจากการอบรมสั่งสอนเด็กแล้วยังต้องทำตัวให้เป็นที่พึ่งของเด็ก เพราะครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ซึ่งสิ่งแรกที่ครูต้องทำคือ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็น เป็นครูที่ดีไม่มีอบายมุข ไม่ทำตัวให้เสื่อมเสียต่อวงการวิชาชีพครู และต้องเป็นครูยุคใหม่ที่พร้อมเข้ารับการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาวิชาชีพของตนเองให้ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากการจะพัฒนาเด็กให้เป็นเยาวชนที่ดีในอนาคตได้ตัวครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีวิถีชีวิต ที่ทันสมัยก่อน ไม่ใช่แค่มุ่งทุกอย่างไปที่เด็กเพียงอย่างเดียว

ประธานกรรมการคุรุสภากล่าวต่อไปว่า การจะรู้ว่าครูมีการพัฒนาแล้วหรือยังนั้นจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการประเมิน ซึ่งขณะนี้ คุรุสภากำลังรอดูแนวทางการประเมินครูที่เป็นมาตรฐานสากลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ร่วมจัดทำแนวทางการประเมินร่วมกับนานาชาติ เพื่อใช้ยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพครูว่าเป็นมาตรฐานอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพครูมากน้อยเพียงใด สามารถทำให้ครูตื่นตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ หากสามารถใช้ได้คุรุสภาจะนำมาปรับใช้ ในการประเมินต่อไป

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35260&Key=hotnews