June 2013

สพฐ. เชิญครู – นร. 10 ประเทศอาเซียน เรียนรู้อัตลักษณ์เห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกัน

28 มิถุนายน 2556

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนของบุคลากรในสังกัด จึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) โครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน (Spirit of ASEAN) ที่จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้อาเซียน 3 รูปแบบ คือ แบบ Sister School Buffer School และ ASEAN Focus School โครงการภาษาที่สอง โครงการพัฒนาภาษาอังกฤษสู่อาเซียน โครงการโรงเรียนในฝัน โครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับโรงเรียนในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนผ่าน ICT แต่อย่างไรก็ตาม การจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงจากวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ๆที่อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง รวมถึงสร้างความตระหนักและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกได้อย่างแท้จริง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ.ได้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติสู่ประชาคมอาเซียน ขึ้นครั้งแรกขึ้นเมื่อปี 2553 และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจและการเห็นคุณค่าของการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน และอัตลักษณ์ของพลเมืองอาเซียน การสร้างเครือข่ายการศึกษาระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้น สพฐ.จึงได้เชิญครูและนักเรียนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กว่า 100 คน เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมปฏิบัติการนานาชาติประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 24 – 29 มิถุนายน นี้ ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท จ.นครนายก

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า สำหรับกิจกรรมที่สพฐ.จัดขึ้น นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม การเรียนรู้ในเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การสร้างความรู้และการแบ่งปัน ผ่านกิจกรรมปฏิบัติการ เกม และการอภิปรายกลุ่มย่อย เพื่อก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน แล้วยังมีการจัดเทศกาลอาเซียนประกอบการเรียนรู้ และศึกษาดูงานสถานที่สำคัญ ๆของประเทศไทย อาทิ พาครูและนักเรียน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ทัศนศึกษาพระบรมมหาราชวัง และพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยกิจกรรมต่าง ๆที่สพฐ.จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 2 นี้ จึงคาดหวังว่าจะทำให้ครูและนักเรียนที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และอัตลักษณ์ความเป็นประชาคมอาเซียน เห็นคุณค่าต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน และสร้างเครือข่ายการศึกษาระหว่างกลุ่มประชาคมอาเซียนได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33195&Key=hotnews

จี้ “คุรุสภา” ร่วมครุศาสตร์พัฒนาครู

28 มิถุนายน 2556

ศ. ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการการดำเนินงานของคุรุสภา ได้หารือถึงแผนการดำเนินงานของคุรุสภา โดยชี้ให้เห็นถึงครูและวิชาชีพครูมีปัญหามากเริ่มตั้งแต่คนเก่งคนดียังไม่เข้ามาเป็นครูมากพอ สถาบันผลิตครูยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร งานครูไม่ท้าทาย อีกทั้งครูยังมีปัญหา เศรษฐกิจ กลุ่มผู้นำครูบางกลุ่มยังเน้นการเมืองมากกว่าวิชาการ ดังนั้น คุรุสภามีหน้าที่ต้องพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูงโดยจะต้องร่วมกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ คัดเลือกเด็กที่มาเรียนครูให้ได้คนเก่งและสนใจเป็นครูจริงๆ และมุ่งมั่นพัฒนาให้สถาบันผลิตครูเป็นสถาบันชั้นเลิศ ไม่ใช่เป็นสถาบันชั้นรองอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ จะต้องยกระดับการพัฒนาให้คุรุสภาเป็นองค์กรเข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่การเตรียมบุคลากรให้ทันสมัย เรียนรู้แนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ตามทันเทคโนโลยี พัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการได้อย่างเต็มที่กับครูและประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือครูประจำการที่มีภาระอื่นมากกว่าการสอน หรือการไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ การทำงานของคุรุสภาควรนำข้อมูลจากการวิจัยมาเป็นฐานการทำงานให้เชื่อถือได้และมีหลักการ.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33193&Key=hotnews

สั่ง ร.ร. ดูเด็กอย่าให้อยู่มุมลับตา

28 มิถุนายน 2556

ASTV ผู้จัดการรายวัน -สพฐ. ไม่นิ่งนอนใจกรณี ด.ญ.วัย 10 ขวบ ตั้งท้อง แนะโรงเรียนดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้อยู่ในที่ลับตา ควรสอนความรู้เพศศึกษาแต่ประถม

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงกรณีครูโรงเรียนนครพนมวิทยาคม เปิดเผยปัญหาสังคมหลังพบเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบ ตั้งครรภ์และคลอดลูกก่อนวัยอันควรรวมถึงกรณีเด็กใช้ห้องพักเรียนในการแอบมีเพศสัมพันธ์ ว่า เรื่องนี้จะต้องเน้นระบบการดูแลนักเรียนให้มีความเข้มข้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีแนวปฏิบัติเรื่องระบบการดูแลนักเรียนอยู่แล้ว ซึ่งกำชับว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโรงเรียนที่จะดูแลเฝ้าระวังนักเรียนทุกอิริยาบถ เมื่อเด็กยังอยู่ในโรงเรียน โดยเฉพาะมุมอับลับตาคน

“ส่วนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนนั้นผมอยากให้เริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ระดับประถม แต่จะต้องอาศัยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเน้นการให้ความรู้ด้านวิชาการ เพราะเรื่องนี้เหมือนดาบสองคมระหว่างการให้ความรู้และการชี้นำให้เกิดความอยากลอง ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้เด็กเกิดการอยากรู้อยากลองด้วย โดยครูและผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักเรียนด้วย จากนี้ไปจะไม่ใช่ครูเพียงคนเดียวที่เรียนรู้ด้านศีลธรรม แต่เป็นหน้าที่ของครูทุกคนและเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นครูทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบ” นายชินภัทรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33192&Key=hotnews

สอศ.ผนึก ทัพเรือ ผลิตกำลังคนพาณิชยนาวี

28 มิถุนายน 2556

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าสถานศึกษาบ้านเราผลิตกำลังคนไม่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ หรือตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสาขาเฉพาะทาง
เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย พลเรือโท ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กับกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ร่วมกันจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาทวิภาคี สาขางานตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า สาขางานไฟฟ้าในเรือ สาขางานเทคนิคเครื่องกลเรือ และหลักสูตรระยะสั้นการดำน้ำ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการเดินเรือและพาณิชยนาวีให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นับว่าเป็นครั้งแรก ที่สองฝ่ายร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ พัฒนางานวิจัย การฝึกอบรมทางวิชาการ แลกเปลี่ยนสารนิเทศผลงานทางวิชาการ และเพิ่มคุณวุฒิทางการศึกษาและทักษะเฉพาะทาง ตลอดจนสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรทางการศึกษาและวิชาการ

พลเรือตรี วิทวัส ณ นคร เจ้ากรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบ กล่าวว่า กองทัพเรือ โดยกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ตระหนักถึงความสำคัญด้านการฝึกอบรม การวิจัย และส่งเสริมให้มีกิจกรรมพิเศษร่วมกันตามความเหมาะสม ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและวิทยาการสมัยใหม่ในด้านกิจการทางทะเลและอุตสาหกรรมการต่อเรือ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และความมั่งคงในภูมิภาค

ด้าน นาวาเอกชำนาญ สอนแพง ในฐานะอาจารย์สอนนักศึกษาสาขาตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า บอกว่า คนที่จะเรียนสาขานี้ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากๆ เพราะจะต้องดำน้ำเพื่อลงไปซ่อมแซมจุดที่ชำรุดชั่วคราว จากเหตุผลนี้ จึงร่วมกันเลือกนักศึกษา โดยวิทยาลัยดูจากผลการเรียน ขณะที่กรมโรงงานฐานทัพเรือ เลือกตามสไตล์ทหารเรือ อันดับแรกสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ว่ายน้ำเป็น เป็นต้น

โดยทั้ง 2 หน่วยงานตกลงกันว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จะทำหน้าที่ติดจรวดความรู้ด้านวิชาการแก่นักศึกษา ส่วนกรมโรงงานฐานทัพเรือ จะฝึกอบรมการดำน้ำ ตลอดเทคนิคการซ่อมเรือใต้น้ำ และฝึกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการซ่อมเรือเฉกเช่นเดียวกันกับทหารเรือดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะให้ลงไปปฏิบัติจริงใต้น้ำนั้น เราจะฝึกบนบกจนชำนาญ จากนั้นค่อยให้ลงน้ำตื้นๆ และลึกลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเชี่ยวชาญ รวมถึงความปลอดภัย
รุ่นแรกที่คัดเลือกไว้จำนวน 20 คน ไม่รู้ว่าพอถึงปีสุดท้ายจะเหลือสักกี่คน ต้องยอมรับว่าสาขาวิชานี้ไม่ได้เรียนจบกันได้ง่ายๆ ต้องอดทน มีความมานะพยายาม เวลาทำงานต้องทำเป็นทีมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ภาษากายด้วย เนื่องจากเวลาซ่อมจุดที่ชำรุดอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถพูดได้ ทำได้เพียงภาษามือและกายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้านักศึกษาฝ่าด่านความมานะอดทนได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะตกงาน มั่นใจว่าบริษัทพาณิชย์ บริษัทเดินเรือ บริษัทขุดเจาะน้ำมัน รีบอ้าแขนรับเข้าทำงานอย่างแน่นอน เพราะว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการพนักงานสาขานี้ไว้ประจำบริษัท พร้อมกันนี้เชื่อว่าค่าตอบแทนจะได้สูงกว่าวุฒิอย่างน้อย 2-3 เท่า เพราะจะต้องบวกค่าความเสี่ยงอันตรายระหว่างปฏิบัติงานอยู่ใต้น้ำด้วย หากเรียนจบไม่อยากเป็นพนักงานประจำบริษัท อาจรวมกลุ่มกันรับงานเองก็ได้
…หากลูกศิษย์ที่สองหน่วยงานนี้ปั้นประสบความสำเร็จ มีโครงการขยายหลักสูตรถึงระดับปริญญาตรีแน่

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33191&Key=hotnews

สพฐ.พร้อมแจงซื้อรถตู้

28 มิถุนายน 2556

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ได้แขวนเรื่องการพิจารณางบประมาณเพื่อจัดซื้อรถตู้รับส่งนักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากมองว่าราคาสูงเกินไป พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้เปลี่ยนจากรถตู้ 12 ที่นั่ง มาเป็นรถบัสซึ่งสามารถรับนักเรียนมากกว่า 30 คนแทน ว่า งบประมาณที่ตั้งในการจัดซื้อรถตู้ 12 ที่นั่งเครื่องยนต์ดีเซลนั้น มีการกำหนดราคากลางไว้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกกระทรวงที่จะซื้อรถตู้แบบเดียวกันนี้ก็จะต้องตั้งงบฯ เหมือนกัน ส่วนที่เสนอว่าให้ซื้อรถบัสแทนรถตู้นั้นโดยปกติ กรรมาธิการฯ ไม่มีสิทธิเปลี่ยน แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อแบบอื่นจะต้องเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) พบว่ามีโรงเรียนทำแผนในการเคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกัน 2,600 แห่ง แสดงว่ามีแผนใช้รถตู้อยู่ แต่ก็มีความเห็นจากที่ประชุมว่าจำเป็นต้องใช้รถตู้เหมือนกันทุกพื้นที่หรือไม่ เพราะในบางพื้นที่อาจจะใช้รถกระบะซึ่งเหมาะสมกับสภาพของถนนมากกว่า เป็นต้น แต่ในมุมมองของ สพฐ.และเขตพื้นที่ฯ เห็นว่าการใช้รถตู้ เพื่อเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก โดยยึดตามระเบียบของกรมขนส่งทางบก เช่น ประตูทางขึ้น ที่นั่งเครื่องมืออุปกรณ์ครบ ที่เน้นไม่ได้มีแต่เรื่องการรับส่งอย่างเดียว ทั้งนี้ สพฐ.จะเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะอนุกมธ.วิสามัญฯ ที่จะเรียกไปชี้แจงต่อไป.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33190&Key=hotnews

ครูไทยมีหนี้เฉลี่ยคนละล้านบาท ศธ.ไฟเขียวเงินกู้ช่วยรายละ 2 แสน

28 มิถุนายน 2556

ครูทั่วประเทศมีหนี้เฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท รวมกว่า 4 แสนล้านบาท ศธ.ไฟเขียวงบ 500 ล้านบาท ให้ครูกู้คนละ 200,000 บาท กำหนดโควตา 2,500 คน ย้ำครูที่ได้สิทธิกู้ต้องเป็นลูกหนี้ชั้นดี

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ครั้งที่ 1/2556 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบและอนุมัติปล่อยกู้โดยใช้งบประมาณรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ในวงเงินกว่า 548 ล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นวงเงินให้ครูกู้ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถกู้ได้ 2,500 คน คนละ 200,000 บาท ทั้งนี้ กองทุนนี้เป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ดังนั้นผู้ที่จะกู้ต้องมีหนี้อยู่ก่อนที่จะขอกู้ไม่ใช่ไม่มีหนี้เลยแต่มาขอกู้
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณารายละเอียดจะมีคณะอนุกรรมการกองทุนหมุนเวียนฯประจำเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้พิจารณา เพราะจะทราบว่าหนี้ไหนจำเป็นและสำคัญที่จะอนุมัติให้กู้ นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียน โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามา เพื่อช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ

ด้าน นายสุบรรณ ไชยศิริโชติ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า สำหรับการปล่อยกู้ให้กับข้าราชการครูฯจะมีวงเงินสูงสุดรายละ 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-1 โดยการปล่อยกู้ให้เพื่อบรรเท่าช่วยเหลือครูที่มีหนี้สินให้สามารถจ่ายหนี้สินได้ซึ่งเงินจำนวน 2 แสนบาทจะจ่ายให้กับเจ้าหนี้ของครูไม่ได้โอนเงินดังกล่าวไปให้ครู แต่ครูต้องมาผ่อนชำระกับ ธ.ก.ส.แทน ส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิกู้ยืม อาทิ เป็นข้าราชการครูไม่น้อยกว่า 5 ปี มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินเดือน เป็นผู้ที่เคยได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีล้มละลาย เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครูในปัจจุบันจากข้อมูลการสำรวจหนี้สินครูล่าสุด ปี 2555 พบว่าครูทั่วประเทศประมาณ 4 แสนกว่าราย มีหนี้สินเฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาท รวมมีหนี้สินประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินของครูส่วนใหญ่แล้วมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่อาจจะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีหนี้วิกฤตประมาณ 2,000 กว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

Source – ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33186&Key=hotnews

ครูผู้ช่วยคดีเก่า! พบพิรุธใน 5 วิชาเอกคะแนนสูงผิดปกติ 204 ราย

28 มิถุนายน 2556

ก.ค.ศ.เผยสั่งเพิกถอนกลุ่มส่อทุจริตสอบครูผู้ช่วยแล้ว 42 ราย เหลืออีก 65 ราย เร่งเขตพื้นที่ฯ ยังไม่ได้ดำเนินการรายงานผล ขณะที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ.เผยได้รับข้อมูลจาก สพฐ.พบมีผู้ทำคะแนนสูงกว่าปกติใน 5 วิชาเอก อีก 204 ราย ส่งข้อมูลให้ จุฬาฯ วิเคราะห์แล้ว ขณะที่ผู้ถูกเพิกถอน 60 ราย ขอยื่นอุทธรณ์แล้วรอตรวจสอบข้อมูลต่อไป

วานนี้ (27 มิ.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้หารือเกี่ยวกับกรณีการเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่เข้าข่ายทุจริตจำนวน 344 ราย ใน 119 เขตพื้นที่ฯ ซึ่ง ก.ค.ศ.มีมติให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสั่งเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งดำเนินการเพิกถอนนั้น ซึ่งขณะนี้มีเขตพื้นที่ฯ รายงานว่ามีการดำเนินการเพียง 42 เขตพื้นที่ฯ และใน 42 เขตพื้นที่ฯ นั้นมีผู้เข้าข่ายการทุจริตสอบทั้งหมด 131 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูแล้ว 107 ราย ใน 38 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งทางสถานศึกษาผู้มีอำนาจได้ทำการเพิกถอนแล้ว 42 ราย ใน 22 เขตพื้นที่ ฯ เหลือที่ยังไม่สั่งเพิกถอนอีก 65 รายใน 19 เขตพื้นที่ฯ เพราะฉะนั้น ก.ค.ศ.จึงเร่งรัดให้เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้เพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งรายงานผลการดำเนินการเข้ามา รวมทั้งเร่งรัดให้อีก 77 เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้รายงานผลรีบรายงานเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ มีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนที่ไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งบางส่วนปฏิบัติหน้าที่เป็น ครูผู้ช่วย 24 ราย พนักงานราชการ 5 ราย ครูอัตราจ้าง 7 ราย และไม่สามารถระบุข้อมูลได้ 12 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้ ก.ค.ศ.ไม่สามารถตามไปดำเนินการกับต้นสังกัดได้เนื่องจากคนกลุ่มนี้สถานศึกษาเป็นจัดจ้างเอง จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะฉะนั้นต้องให้สถานศึกษา หรือต้นสังกัดไปพิจารณาเองหากเข้าข่ายการทุจริตสอบนั้น จะทำให้คนกลุ่มนี้ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์หรือระเบียบที่มีอยู่หรือไม่

ด้าน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งผลการตรวจสอบคะแนนใน 5 วิชาเอกมาเพิ่มเติมพบว่ามีผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย จำนวน 204 ราย ซึ่งพบว่าทำคะแนนได้สูงเกือบเต็มใน 5 วิชาเอกดังกล่าว แต่กลับทำข้อสอบผิดในข้อซ้ำๆ กัน ซึ่งเข้าข่ายว่ามีพิรุธ จึงรายงานให้ ก.ค.ศ.ทราบว่าในเบื้องต้น โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ขอให้ทางจุฬาลงกรณ์วิทยาลัยวิเคราะห์ผลคะแนนดังกล่าว เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ในจำนวน 204 รายนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าซ้ำซ้อนกับรายชื่อใน 344 คนหรือไม่

นางรัตนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ที่ถูกยกเลิกการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว จำนวน 60 รายในกลุ่ม 344 รายนั้นได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์มา ก.ค.ศ.ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดก่อนว่า ผู้อุทธรณ์ยื่นมาในเรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันจะขอให้เขตพื้นที่การศึกษาฯ ส่งข้อมูลคนเหล่านี้กลับมายังก.ค.ศ.เพื่อประกอบการพิจารณาจากนั้นจะสรุปเรื่อง และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะคณะอนุ ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ต่อไป

Source – ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33185&Key=hotnews

สพฐ.กำชับโรงเรียนเข้มระบบดูแลนักเรียน

28 มิถุนายน 2556

สพฐ.กำชับโรงเรียนเพิ่มความใส่ใจระบบดูแลนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ย้ำถ้าเด็กอยู่ในโรงเรียนต้องอยู่ในสายตาครูทุกอิริยาบถ ชี้สอนเพศศึกษาควรเริ่มตั้งแต่ระดับประถม โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญ หวั่นเป็นดาบสองคมให้ทั้งความรู้และอาจเป็นการชี้แนะให้เด็กอยากลองก็ได้
วานนี้(27มิ.ย.)ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีครูโรงเรียนนครพนมวิทยาคมเปิดเผยปัญหาสังคมหลังพบเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบตั้งครรภ์และคลอดลูกก่อนวัยอันควรว่า เรื่องนี้จะต้องเน้นระบบการดูแลนักเรียนให้มีความเข้มข้น เพราะจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีนักเรียนผู้ชายเล่นกันจนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายและเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนยังมีช่องว่างเรื่องระบบดูแลนักเรียนอยู่ ซึ่งเด็กระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาหากโรงเรียนปล่อยให้ไปทำกิจกรรมกันเองโดยที่ไม่อยู่ในสายตาของครูก็อาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นแนวปฎิบัติเรื่องระบบการดูแลนักเรียนจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดดชอบของโรงเรียนที่จะดูแลเฝ้าระวังนักเรียนทุกอิริยาบถเมื่อเด็กยังอยู่ในโรงเรียน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมโครงการ “นครพนมวัยใสห่วงใยสุขภาพ”ของโรงเรียนนครพนมวิทยาคม จ.นครพนม ได้เปิดเผยปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องการท้องก่อนวัยอันควรนั้น ก็ต้องยอมรับเมื่อทำโครงการลักษณะนี้ขึ้นคงจะปกปิดข้อมูลไม่ได้ เพราะเมื่อพบปัญหาก็จะต้องได้รีบหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง ซึ่งการพยายามแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วแต่วิธีการนำเสนอจะต้องดูว่าอะไรเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวที่โรงเรียนจัดขึ้นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นโครงการที่ดีที่พยาพยามดูแลคุณภาพชีวิต ร่างกาย จิตใจ และความประพฤติของคนในสังคม เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะมิติด้านการศึกษา ดังนั้นโครงการใดก็ตามที่สสส.ดำเนินการ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

“ครูจะต้องดูแลนักเรียนให้อยู่ในสายตาตลอดเวลาขณะที่ยังอยู่ในโรงเรียน และต้องทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติงานของครูอย่างจริงจังด้วย เพราะในโรงเรียนบางแห่งจะมีมุมอับลับตาคน เมื่อเลิกเรียนแล้วโรงเรียนนจะต้องกำหนดแนวปฎิบัติให้เด็กลงมาอยู่ในพื้นที่ควบคุมดูแลของครูอย่างเคร่งครัด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาตนอยากให้เริ่มการให้ความรู้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่จะต้องอาศัยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเน้นการให้ความรู้ด้านวิชาการ เพราะเรื่องนี้เหมือนดาบสองคมระหว่างการให้ความรู้และการชี้แนะให้เกิดความอยากลองแต่ทั้งนี้ครูแลผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักเรียนด้วย โดยจากนี้ไปจะไม่ใช่ครูเพียงคนเดียวที่เรียนรู้ด้านศีลธรรมแต่เป็นหน้าที่ของครูทุกคน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นครูทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบ” ดร.ชินภัทร กล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33184&Key=hotnews

สพฐ.ยันงบจัดซื้อรถตู้ยังไม่ถูกแขวน

28 มิถุนายน 2556

สพฐ.ยันงบจัดซื้อรถตู้ 1,000 คันยังไม่ถูกแขวน “พงศ์เทพ”ยันราคาสูงเกินไป พร้อมมีเสียงข้างมากจาก กมธ.วิสามัญฯ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ได้แขวนเรื่องการพิจารณางบประมาณเพื่อจัดซื้อรถตู้ขนาด 12 ที่นั่ง จำนวน 1,000 คัน ในราคา 2,343,724,000 บาทเฉลี่ยคันละ 2 ล้านบาทของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกไปและมองว่าราคาสูงเกินไป พร้อมมีเสียงข้างมากจาก กมธ.วิสามัญฯ ต้องการให้ปรับเปลี่ยนจากรถตู้ 12 ที่นั่ง มาเป็นรถบัสแทน เนื่องจากสามารถจุนักเรียนได้มากกว่า 30 คนขึ้นไป

โดยมอบให้อนุ กมธ.ด้านการศึกษาพิจารณาก่อนเข้าสู่ กมธ.ชุดใหญ่ต่อไป ว่า เนื่องจากงบประมาณของ ศธ.เป็นวงเงินจำนวนมากทาง กมธ.จึงได้ตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องของงบประมาณส่วนต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งกรณีตัวเลขงบประมาณในการจัดซื้อรถตู้ 12 ที่นั่งที่เสนอใน กมธ.วิสามัญฯ ยังเป็นจำนวน 2,343,724,000 บาทนั้น เรื่องนี้ทางสำนักงบประมาณได้ชี้แจงและมีการแก้ไขตัวเลขที่ถูกต้อง คือ รถตู้จำนวน 12 ที่นั่ง จำนวน 1,000 คัน ๆ ละ 1.2 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณ1,200 ล้านบาทเศษซึ่งได้แก้ไขตั้งแต่ครั้งเสนอในที่ประชุมรัฐสภารวมทั้งส่งให้ กมธ. ด้วยอย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ตั้งในการจัดซื้อรถตู้ 12 ที่ นั่งเครื่องยนต์ดีเซลนั้นมีการกำหนดราคากลางไว้อยู่แล้วเพราะฉะนั้น ทุกกระทรวงที่จะซื้อรถตู้แบบเดียวกันนี้ก็จะต้องตั้งงบประมาณเหมือนกัน ส่วนที่เสนอว่าให้ซื้อรถบัสแทนรถตู้นั้นโดยปกติ กมธ.ไม่สิทธิเปลี่ยนซึ่งการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อแบบอื่นจะต้องเสนอผ่านที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยจัดซื้อรถตู้เพื่อการรับส่งนักเรียนซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น ทางกมธ.วิสามัญฯ ได้มีมติให้ส่งเรื่องนี้ให้ อนุกมธ.ด้านการศึกษาพิจารณาต่อไป ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสพฐ.จะต้องจัดเตรียมรายละเอียดและแผนการใช้รถตู้ จำนวน 1,000 คันนำเสนออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เสนอต่อที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ว่าผลการสำรวจข้อมูลจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) พบมีโรงเรียนทำแผนในการเคลื่อนย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกัน 2,600 แห่ง แสดงว่าเป็นแผนใช้รถตู้ ซึ่งก็มีความเห็นจากที่ประชุมว่าจำเป็นต้องใช้รถตู้เหมือนกันทุกพื้นที่หรือไม่ เพราะในบางพื้นที่อาจจะสามารถใช้รถกระบะซึ่งเหมาะสมกับสภาพของถนนมากกว่า เป็นต้น แต่ในมุมมองของ สพฐ.และเขตพื้นที่ฯ เห็นว่าการมีรถตู้นั้นเน้นความปลอดภัยเป็นหลักโดยยึดตามระเบียบของกรมขนส่งทางบก เช่น ประตูทางขึ้น ที่นั่งเครื่องมืออุปกรณ์ครบ เน้นไม่ได้แต่เรื่องการรับส่งอย่างเดียว ซึ่งเมื่ออนุกมธ.วิสามัญฯ เรียกชี้แจงจะได้นำเสนอแผนการใช้รถต่อไป

“ขณะนี้เรื่องรถตู้ยังไม่ได้มีการบอกว่าแขวนไว้ก่อนแต่อย่างใด มีเพียงแต่มติของ กมธ.วิสามัญฯ ที่ได้มอบให้ สพฐ.ทำแผนการใช้มาเสนอกับทางอนุกมธ.วิสามัญฯ เป็นผู้พิจารณาก่อนนำเสนอให้ทาง กมธ.วิสามัญฯ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งงบประมาณในเรื่องอื่น ๆ ของ สพฐ.ก็ผ่านเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงเรื่องรถตู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมซึ่ง สพฐ.จะทำข้อมูลเพื่อนำไปเสนอทันทีที่ทางอนุกมธ.วิสามัญฯ เรียกไปชี้แจง” นายชินภัทร กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33183&Key=hotnews

เตรียมเด็กสู่อาเซียน สร้าง’ทัศนคติที่ดี’ต่อเพื่อนบ้าน

27 มิถุนายน 2556

อีก 2 ปีกว่าๆ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็น “ประชาคมอาเซียน” ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมมากที่สุด คือ “เตรียมคน”โดยเฉพาะ “เด็กเยาวชน” ให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน
คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดงานสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน” ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยได้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมทางการศึกษาของเด็กไทยสู่เวทีอาเซียน

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ของหลายชาติในโลกปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่มีทรัพยากรอื่นๆ แต่เน้นพัฒนาคนจนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าของโลก ขณะที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่า แม้จะลงทุนเรื่องการศึกษามาก แต่คุณภาพกลับไม่เป็นที่พอใจ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนโยบายด้านการศึกษาที่ผ่านมาดำเนินมาผิดทาง ซึ่งหากต้องการให้ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ อาจต้องทบทวนว่าอยากได้คนแบบไหนในอนาคตระหว่างคนที่เรียนด้วยการท่องจำหรือการคิดวิเคราะห์

“อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กคือภาษา หากเด็กไม่รู้ภาษาอังกฤษถือว่าเสียเปรียบ นอกจากนี้ การมีภาษาที่ 3 จะยิ่งได้เปรียบในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังต้องกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของอาเซียนมากขึ้น ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและทัศนคติ รวมถึงสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกประชาธิปไตย ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ให้เป็นค่านิยม เพราะหากปล่อยให้เข้าโรงเรียนแล้วมากล่อมเกลา อาจจะช้าเกินไป”

ภายในงานเดียวกันได้มีการอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่เวทีอาเซียนดร.สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านการพัฒนาเด็กของไทยดีมาก มีเอกสารของแต่ละหน่วยงานชัดเจน แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เห็นได้ชัดว่าปัญหาเด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังเป็นปัญหาเดิมๆ ซึ่งบรรจุในหลายฉบับ ก็แก้ปัญหาไม่ได้สักที

“ทางแก้ไขจึงต้องรู้จักปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และต้องเริ่มปรับที่ตัวผู้ใหญ่เอง เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เช่น อยากให้เด็กมีจิตสำนึกด้านประชาธิปไตยและเคารพสิทธิผู้อื่น ก็จำเป็นจะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างเสียก่อน รวมถึงผลักดันให้เด็กรู้จักเพิ่มคุณค่าให้ตนเองจากภายในด้วย”

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า การ เตรียมเด็กเข้าสู่อาเซียนจำเป็นต้องสร้างฐานความเป็นไทยในใจเด็ก เพื่อหาตัวตนให้กับเด็ก ปัจจุบันเด็กไทยบางคนยังพูดภาษาไทยได้ไม่ถูกต้อง และไม่รู้จักภูมิปัญญาของไทย จึงต้องเร่งสร้างอัตลักษณ์ให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะจับเรื่องใดก็ตามขอให้ชัดเจนในการสร้างตัวตนให้แก่เด็ก รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องอาเซียนให้แก่เด็ก ศึกษาภาษาต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน มิใช่เพียงภาษาอังกฤษ ง่ายๆ คือ ต้องรู้ฐานวัฒนธรรม รู้ว่าชนชาติใดไม่ชอบอะไรเพื่อจะไม่เป็นการเหยียดชาติอื่นโดยไม่รู้ตัว
“เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องสร้างทัศนคติต่อเพื่อนบ้านในอาเซียนใหม่ เพราะเด็กไทยมีทัศนคติในการเหยียดชาติอื่นๆ สูงมาก มองตนเองว่าอยู่เหนือกว่าทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง เวลาที่จำเป็นจะต้องรวมกลุ่มเพื่อหารือในประเด็นต่างๆ จึงไม่สามารถจับกลุ่มกับผู้อื่นได้”

เรื่องของอาเซียนไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่สำคัญ หาก “คน” ในอาเซียนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคนเป็นผู้ขับเคลื่อนให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้

–มติชน ฉบับวันที่ 28 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33177&Key=hotnews