July 2013

“จาตุรนต์” สั่งทบทวนมติ ก.ค.ศ.ปมทุจริตครูผู้ช่วย

31 กรกฎาคม 2556

“จาตุรนต์” สั่งทบทวนมติ ก.ค.ศ.ปมทุจริตครูผู้ช่วย ระบุต้องการให้เรื่องนี้มีความชัดเจนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกันทั้งระบบ

วานนี้(30ก.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้รายงานเรื่องสืบเนื่องเดิมกรณีปัญหาการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษว12 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนอาจจะดำเนินการแตกต่างกัน หลังจากที่ได้มติ ก.ค.ศ.แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาที่อิงผลการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญและผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยการดำเนินการกับครูผู้ช่วยกลุ่มนี้ของผู้อำนวยการโรงเรียนอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย หรือสอบสวนแล้วไม่พบว่ามีการทุจริตจึงไม่ได้ดำเนินการอะไร หรือมีการสอบสวนและให้ออกจากราชการ รวมถึงบางแห่งไม่ได้มีการสอบสวนหรือเปิดโอกาสให้ชี้แจงแต่ให้ออกจากราชการ เป็นต้น ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้อ.ก.ค.ศ.วิสามัญด้านกฎหมายไปพิจารณามติเดิมของก.ค.ศ. รวมทั้งแนวปฏิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อทำให้เรื่องนี้มีความชัดเจนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกันทั้งระบบในครั้งต่อๆไป หากมีปัญหาที่ใครไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือควรได้รับการเยียวยาก็ต้องมีการดูแล

“ผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการไปแล้วและได้มาร้องเรียนจะดูประเด็นให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างดีที่สุด ซึ่งคนที่ถูกให้ออกจากราชการไปแล้วนั้นหากเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนก็ต้องให้ความเป็นธรรม ส่วนที่ถูกให้ออกจากราชการถูกต้องตามขั้นตอนก็คงไม่มีการทบทวนอะไร ส่วนการหาตัวผู้กระทำทุจริตมาลงโทษเพิ่มเติมนั้นยังไม่ได้มีการหารือกันในที่ประชุม” นายจาตุรนต์ กล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33536&Key=hotnews

“ชินภัทร” แจงจัดซื้อแท็บเล็ตรอบ 2

30 กรกฎาคม 2556

“ชินภัทร” แจงจัดซื้อแท็บเล็ตรอบ 2 ระบุการประมูลโซน 3 ที่ สตง.ตั้งข้อสังเกต และมีการสั่งชะลอเพื่อทบทวน ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

วานนี้(29ก.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดซื้อคอมพิวเตอร์พกพา หรือ แท็บเล็ต ให้แก่นักเรียนชั้นป.1 และม.1 ว่า เนื่องจากการจัดซื้อแท็บเล็ตได้มีหนังสือทักท้วงที่เป็นข้อสังเกตจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้งในส่วนที่เป็นภาพรวมและเฉพาะโซน ซึ่งในส่วนของภาพรวมเป็นเรื่องมุมมองของระเบียบที่วิเคราะห์แตกต่างกัน เพราะมีระเบียบการพัสดุที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นที่หนักหนาอะไร แต่เมื่อมีข้อสังเกตและข้อทักท้วงก็ควรจะเคลียร์ประเด็นเหล่านั้นไปก่อนที่จะเดินหน้า ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้ สพฐ.จะชี้แจงข้อสังเกตของ สตง.เสียก่อน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ หากตอบข้อสังเกตของสตง.ในส่วนที่เป็นภาพรวมได้เรียบร้อยแล้ว ในโซนที่ไม่มีข้อสังเกตเป็นการเฉพาะคือในโซน 1 และโซน 2 ก็คงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับโซน 3 (ภาคกลาง-ภาคใต้) ที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตเป็นการเฉพาะ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการได้สั่งให้ชะลอเพื่อทบทวนนั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากผลการตรวจสอบเสร็จสิ้นก็จะรายงานไปยัง สตง.ต่อไป สำหรับในโซน 4 ก็จะเดินหน้าตามขั้นตอน โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาได้มีการยื่นซองเทคนิคและทดสอบการตกกระแทกไปแล้ว ถ้าไม่มีการทักท้วงก็จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเลกทรอนิกส์ หรืออีออคชั่นตามกำหนด ทั้งนี้ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา ต่อ 1 นักเรียนเพื่อรายงานสถานการณ์และความคืบหน้าต่อไป
ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของโซน 3 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน ส่วนการเดินหน้าในโซน 4 อาจจะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการนำมาพิจารณาทบทวนโซน 3 ก็ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ คือการสร้างมาตรฐานและพัฒนาเนื้อหา เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตสื่อแท็บเล็ตเป็นจำนวนมาก ต่างก็บอกว่าส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก ตนจึงอยากให้ดูว่าสื่อดังกล่าวครอบคลุมและได้มาตรฐานหรือไม่ รวมทั้งมีความสะดวกที่จะให้ครูและนักเรียนเลือกใช้สื่อหรือไม่ โดยในปีงบประมาณ 2557 จะกำหนดให้การสร้างมาตรฐานและพัฒนาเนื้อหาสำหรับแท็บเล็ตและสื่ออิเลคทรอนิกส์เป็นความสำคัญอันดับแรกของเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ส่วนข้อห่วงใยว่านักเรียนมีแท็บเล็ตใช้แต่ครูยังไม่มีนั้น เรื่องนี้จะพยายามทำให้เข้าสู่วงจรปกติโดยเร็ว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33515&Key=hotnews

ชี้ภาษาแม่ต้องแข็งแรงก่อนเรียนภาษาที่สอง

30 กรกฎาคม 2556

ราชบัณฑิตยสถานจัดเสวนาแนะเรียนภาษาแม่ให้แข็งแรงก่อนเริ่มเรียนภาษาที่สอง ชี้ครอบครัวไทยยุคใหม่เข้าใจผิดที่เน้นพูดอังกฤษกับลูกตั้งแต่เล็กแต่กลับเป็นผลเสีย ทำให้อ่อนแอทั้งภาษาไทย และอังกฤษ “ทอดด์”เผยเรียนภาษาไทยจากคนไทยดีที่สุด พร้อมแนะรัฐบาลสนับสนุนเยาวชนและคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนเรียนรู้ภาษาถิ่นให้เข้มแข็ง และสามารถทำหน้าที่ทูตท้องถิ่นได้อย่างดี
วานนี้ (29 ก.ค.)ที่ราชบัณฑิตยสถาน ได้มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2556 โดยมีการอภิปรายหัวข้อ “อนาคตภาษาไทยในประชาคมอาเซียน” ซึ่งดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำเนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวว่า ภาษาไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับภาษาไทยเมื่อ 20 ปีก่อนแล้วเพราะภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาษาแม่ ซึ่งหมายถึงภาษาที่เราได้รับรู้มาตั้งแต่เกิด หากภาษาแม่แข็งแรงจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาอื่นได้อย่างดี อย่างไรก็ตามสมัยนี้บางครอบครัวอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็กๆ จึงนิยมพูดกับลูกด้วยภาษาอังกฤษโดยไม่พูดภาษาไทย ซึ่งในกรณีนี้หากพ่อแม่มีความรู้ภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ จะทำให้เด็กอ่อนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ดร.นิตยา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุผลที่เด็กไทยไม่นิยมเรียนภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ตนมองว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษจะมีผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานในอนาคต ลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรานิยมเรียนภาษาไทยเพราะจะต้องใช้ในการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันจำนวนอาจารย์ผู้สอนภาษาอาเซียนมีครบทั้ง 10 ภาษา โดยกระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับทั้งในระบบและนอกระบบทั่วประเทศแล้ว และในส่วนของราชบัณฑิตยสถานก็ส่งเสริมการเรียนทุกภาษาอย่างถูกต้องไม่ได้เจาะจงเฉพาะภาษาไทย โดยขณะนี้ได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์คำในภาษาอาเซียนเป็นภาษาไทยแล้ว อาทิ ภาษาเวียดนาม มลายู และขณะนี้กำลังจัดทำภาษาพม่า
“ส่วนเรื่องการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่นปัจจุบันที่มักประดิษฐ์คำใหม่ๆ ในการสื่อสารสังคมออนไลน์ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อยากขอให้ใช้ให้ถูกกาลเทศะ เช่น ถ้าเป็นเรื่องทางการก็ควรใช้ภาษาทางการ แต่หากเป็นการแชทในสื่อออนไลน์ก็สามารถใช้คำที่พิมพ์สะดวกและเป็นที่เข้าใจกันในกลุ่มได้” ดร.นิตยา กล่าว

นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการฝึกภาษาต่างประเทศนั้น ตนเห็นด้วยที่จะต้องมีภาษาแม่ที่แข็งแรงก่อน เพื่อจะสามารถเชื่อมโยงการออกเสียงในภาษาต่างๆ ว่ามีความคล้ายหรือแตกต่างกันกับภาษาไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนไทยจะต้องใช้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาราชการในกลุ่มอาเซียน แต่หากต้องการให้ภาษาไทยเป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศว่ามีความสำคัญต่อภูมิภาคเพียงใด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยพูดถึงประเด็นการให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในอาเซียน เพราะภาษาของทุกประเทศต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

นายทอดด์ ทองดี พิธีกรรายการทีวี กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าภาษาแม่จะต้องเป็นเสาหลักในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ และในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติที่เรียนรู้ภาษาไทย ตนอยากเห็นการสนับสนุนภาษาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพราะถือเป็นภาษาแม่ของคนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดชายแดนเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จะมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างพรมแดนได้ นับเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นอกจากนี้การเรียนภาษาไทยที่ดีที่สุด คือการเรียนจากคนไทย ดังนั้นคนไทยในเขตพื้นที่ชายแดนจึงถือเป็นทูตวัฒนธรรมที่ดีที่สุด ตนอยากเห็นการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ให้รู้รักภาษาแม่ของท้องถิ่นตนเอง และขยายผลด้วยการส่งเยาวชนไปซึมซับวัฒนธรรมของชาติอาเซียนเพื่อให้กลายเป็นผู้นำของคนในรุ่นต่อไป.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33516&Key=hotnews

‘จาตุรนต์’ สั่งทบทวนสถานะ ‘สคบศ.’

30 กรกฎาคม 2556

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการทำงานแก่ผู้บริหารสำนักงานปลัด ศธ. ว่า มอบให้สำนักงานปลัด ศธ.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เดือนกันยายนนี้ เพื่อขับเคลื่อนงานการศึกษาและประกาศการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และสั่งให้ช่วยดูแลเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสื่อการเรียนการสอนที่ใช้กับแท็บเล็ต รวมถึงการพัฒนาครู โดยให้ประเมินบทบาทสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ว่าต้องปรับบทบาทอย่างไรและจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชนหรือไม่ ทั้งนี้ ตนสนับสนุนให้มีสำนักงานเลขาธิการภาคทั่วประเทศและให้ผู้ตรวจราชการ 13 เขต เป็นผู้ดูแล เพราะดูแล้วมีความจำเป็นต่อการทำงานในภาพรวมของ ศธ.และมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของรัฐมนตรี

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะช่วยผลักดันกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่ค้างอยู่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ อาทิ ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ สำหรับโรงเรียนในระบบ,การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2555-2556 การเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐานของครู สังกัดสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 6,124 คน ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนรายหัว ต้องทบทวน เช่น กศน.บอกว่าครูได้เงินน้อย เพราะเงินอุดหนุนรายหัวน้อย ระเบียบกำหนดว่าต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 60 คน จึงมีเงินอุดหนุนเพียงพอสามารถจ้างครูได้ 1 คน ซึ่งเห็นว่าคิดผิด มองว่าเป็นการบังคับให้ห้องเรียนมีขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดี จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร รวมถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33517&Key=hotnews

กสพท.รับน.ศ.แพทย์ 1-30 พ.ย.ปรับปฏิทินตามอาเซียน

30 กรกฎาคม 2556

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท. ) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ประธานอนุกรรมการจัดสอบใน กสพท. แถลงข่าวการรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2557 ผ่านระบบรับตรงของกลุ่ม กสพท. โดย นพ.อาวุธกล่าวว่า กสพท.ร่วมกับ ทปอ. จัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบรับตรงของ สอท. ผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง ลดปัญหาการมอบตัวซ้ำซ้อนหลายสถาบันซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการสละสิทธิ์ และมีที่นั่งว่างในแต่ละสถาบัน โดย กสพท.ได้รับมอบอำนาจจากคณะแพทยศาสตร์ 13 สถาบัน คณะทันตแพทยศาสตร์ 7 สถาบันในการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2557 ผ่านระบบรับตรง จำนวน 1,475 คน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนี้ คณะแพทย์มหาวิทยาลัยแก่น (มข.) รับ 20 คน

นพ.อาวุธกล่าวต่อว่า คณะแพทย์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับ 200 คน คณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รับ 30 คน คณะแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับ 65 คน คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) รับ 30 คน คณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) รับ 156 คน คณะแพทย์ ศิริราชพยาบาล มม. รับ 260 คน วิทยาลัยแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลราชวิถี) รับ 40 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.รังสิต (โรงพยาบาลเลิดสิน) รับ 15 คน คณะแพทย์ มศว รับ 180 คน คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) รับ 25 คน คณะแพทย์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมิน ทราธิราช รับ 70 คน วิทยาลัยแพทย์ฯพระมงกุฎเกล้า เพศชาย 60 คน วิทยาลัยแพทย์ พระมงกุฎเกล้า เพศหญิง 40 คน คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสยาม รับ 24 คน คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ 80 คน คณะทันตแพทย์ฯ มม.รับ 80 คน คณะทันตแพทย์ มช. รับ 25 คน คณะทันตแพทย์ฯ ม.อ.รับ 20 คน และคณะทันตแพทย์ มศว รับ 25 คน คณะทันตแพทย์ มข. รับ 10 คน และคณะทันตแพทย์ มธ. รับ 20 คน นักเรียนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใด สามารถเข้าไปตรวจสอบระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันแต่ละแห่ง

พญ.บุญมีกล่าวว่า สำหรับการรับสมัครคัดเลือกของ กสพท.ปีนี้ มีการปรับช่วงเวลาการรับสมัครใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้มีการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนใน ปีการศึกษา 2557 ไปเป็นในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยจากเดิมที่ กสพท.จะรับสมัครในช่วงเดือนสิงหาคม ปรับมาเป็น รับสมัครตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ทางเว็บไซต์ www9.si.mahidol.ac.th และเว็บไซต์ของสถาบันที่เข้าร่วมรับคัดเลือก ชำระเงินค่าสมัครสอบคัดเลือกและสอบวิชาเฉพาะ ผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระหว่าง วันที่ 1 พฤศจิกายน -3 ธันวาคม ผู้สมัครตรวจสอบสถานภาพการรับสมัครสอบคัดเลือกและสอบวิชาเฉพาะ ทางเว็บไซต์ 7 วันหลังจาก วันที่ชำระเงินค่าสมัคร ถึงวันที่ 10 ธันวาคม สอบวิชาเฉพาะ จัดสอบโดย กสพท. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพ ภายในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2557

“ทั้งนี้ในการสมัครสอบ ขอให้นักเรียนดำเนินการสมัครเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลการสมัครผิดพลาดเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งการสมัครนั้น ควรจะต้องให้ข้อมูลจริงเท่านั้น แต่หากพบว่ามีการให้ข้อมูลเท็จ หรือปลอมแปลงเอกสาร ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด เหตุที่ต้องย้ำเรื่องนี้ เนื่องจากการรับสมัครเป็นการรับทางออนไลน์ จึงหวังว่าจะไม่มีการปลอมแปลงเอกสาร นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครทุกคนจะต้องเก็บหลักฐานการสมัครทั้งหมดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เนื่องจากปีที่ผ่านมาพบว่านักเรียนประมาณ 1,000 คน เมื่อสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้เก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้ ทำให้เสียเวลาในหาข้อมูลย้อนหลัง และขอให้รีบมาสมัคร เพราะหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะได้แก้ปัญหาได้ทัน” พญ.บุญมีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อหนึ่งใช้นิสิตนักศึกษาแพทย์ โฆษณาเกินจริงจนเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น นพ.อาวุธกล่าวว่า กสพท.ได้หารือเรื่องนี้ และทำได้เพียงเจรจากับเจ้าของสินค้าให้ลบชื่อนิสิตนักศึกษาและสถาบันที่เรียนออก ซึ่งสินค้านั้นก็ได้ทำตามแล้ว แต่คงห้ามไม่ให้โฆษณาไม่ได้ และแพทยสภาก็ไม่สามารถเข้ามาควบคุมได้ เพราะนิสิตนักศึกษาแพทย์ ยังไม่ใช่แพทย์ สำหรับโรงเรียนแพทย์เอง ก็ไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้นิสิตนักศึกษาแสดงโฆษณา เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล สิ่งที่จะทำได้คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของการเป็นแพทย์

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33518&Key=hotnews

ก.ค.ศ.ยันไม่ทวนคำสั่งปลดครูผช.เผยอุทธรณ์ 143 ราย 58 เขตพื้นที่ ‘เสริมศักดิ์’ รอแจงเสมา1 ลุยต่อ

30 กรกฎาคม 2556

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงกรณีนายศิริชัย สมบัติโพธิ์ อดีตครูผู้ช่วย สังกัดโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ประธานเครือข่ายครู ผู้ช่วย ว12/56 และอดีตครูผู้ช่วย 150 คนที่ถูกให้ออกจากราชการตามรายชื่อของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ระบุว่าส่อทุจริตการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษครั้งที่ผ่านมา จะเข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะกระบวนการไต่สวนยังไม่ครบถ้วน ว่า ครูผู้ช่วยที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไปแล้วคงไม่สามารถสั่งให้ทบทวนคำสั่งได้ แต่สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งโทษปลดออก มายังสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ โดยขณะนี้มีผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งมาแล้ว 143 ราย แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 50 เขต จำนวน 132 ราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 8 เขต จำนวน 11 คน ซึ่งขณะนี้ยังมีเขตพื้นที่การศึกษาประมาณ 60 กว่าเขต ที่ยังไม่แจ้งผลหรือข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งให้ครูผู้ช่วยที่มีรายชื่ออยู่ตามข้อมูลของดีเอสไอ 344 ราย มายังสำนักงาน ก.ค.ศ.

“หากมีความผิดที่ชัดเจนทางคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ได้หลังจากได้รับข้อมูลแจ้งจากดีเอสไอ” เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว

ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า กรณีกลุ่มอดีตครู ผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการจะเข้าร้องเรียนเพราะถูกให้ออกจากราชการ ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะกระบวนการไต่สวนยังไม่ครบถ้วนนั้น ตามหลักการสอบสวนแล้ว จะต้องให้ผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการได้ชี้แจงก่อนถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเป็นคนที่ทุจริตการสอบ ฉะนั้นผู้อำนวยการสถานศึกษาในฐานะผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ควรออกคำสั่งโดยที่ไม่เรียกมาชี้แจงหรือมีการตั้งกรรมการสอบสวน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่าอดีตครูผู้ช่วยเหล่านี้สามารถใช้ช่องทางของการอุทธรณ์คำสั่งมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ตนจะเร่งขอดูข้อมูลผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีครูผู้ช่วยที่มีปลัด ศธ.เป็นประธานและจะหารือกับนายจาตุรนต์ว่า จะให้ตนช่วยเรื่องนี้อย่างไรบ้าง รวมทั้งจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการศธ.ให้เข้าใจว่าการดำเนินการสอบสวนกรณีปัญหาการทุจริตครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษที่ผ่านมา ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใครและเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งตนอยากจะให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้าใจ เพื่อจะได้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากจะทำเรื่องนี้ให้จบโดยเร็วเนื่องจากปลัด ศธ.จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้แล้ว
ด้านนายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรต้องรอหารือกันก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33519&Key=hotnews

ดัน พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนเข้าสภาบริหารจัดการศึกษาชัดเจนคล่องตัว

30 กรกฎาคม 2556

สกอ.เผยร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน คาดเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร ส.ค.นี้ ชี้มี พ.ร.บ.ของตัวเอง ทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวมากขึ้น มีความชัดเจนในการจัดการศึกษา ขณะเดียวกันบุคลากรของวิทยาลัยชุมชนมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ ขณะที่ “เสริมศักดิ์” เร่งดัน ก.ม.ต่างๆ เข้าสู่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ ทั้ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน

รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว และกำลังรอบรรจุเข้าพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมหน้า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะได้รับการพิจารณา ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนผ่านการพิจารณาและมีการประกาศใช้บังคับ ก็จะส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนอย่างมาก เพราะตอนนี้วิทยาลัยชุมชนมีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ และแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการศึกษาตามบริบทของชุมชน การมีพ.ร.บ.ของตนเองจะช่วยสนับสนุนในการจัดการศึกษาของแต่ละวิทยาลัยชุมชนมีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงจะช่วยการบริหารจัดการในส่วนของโครงสร้างองค์กร การพัฒนาบุคลากรให้มีความชัดเจนมากขึ้น

“วิทยาลัยชุมชนเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสถาบันการศึกษา แต่บุคลากรที่อยู่ในสังกัดวิทยาลัยชุมชนกลับมีสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การที่เรามีพ.ร.บ.ของตนเอง จะทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะครู บุคลากรวิทยาลัยชุมชนจะมีสิทธิ์และได้รับประโยชน์จากการเป็นบุคลากรในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเต็มที่ รวมถึงความก้าวหน้าในอาชีพด้วย ส่วนการจัดการศึกษา แม้เน้นหลักสูตรด้านวิชาการฐานสมรรถนะเหมือนเดิม แต่จะทำให้ผู้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าจะเรียนเพื่อได้รับอนุปริญญา หรือฝึกอบรม เพื่อขอใบประกาศนียบัตร สามารถสะสมหน่วยกิตเอามาเทียบโอนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้” รศ.ดร.ชวนีกล่าว

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ยังไม่ได้เข้ารับการพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่กำลังจะออกนอกระบบ หรือพ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ซึ่งในการประชุมสภาสมัยสามัญในเดือนสิงหาคมนี้ จะพยายามผลักดันกฎหมายต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ เพื่อให้การบริหารจัดการในแต่ละแห่งมีความคล่องตัวมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33520&Key=hotnews

รัฐบาลไทยเชื่อศัพท์โจ๋ไม่ทำให้วิบัติ

30 กรกฎาคม 2556

นักวิชาการ-ราชบัณฑิต ชี้ ศัพท์วัยรุ่น ไม่ทำภาษาไทยวิบัติ แค่สื่อสารในกลุ่มไม่นานก็หาย แนะศึกษาภาษา เพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2556 “ภาษาไทย ภาษาอาเซียน” ที่ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการไปมาก เป็นโลกไร้พรมแดน และต่อไปไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ซึ่งการใช้ภาษาจะมีความสำคัญอย่างมาก

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาไทยที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กัน คนรุ่นเก่าไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเด็กรุ่นใหม่พัฒนาภาษาให้ตรงกับการสื่อสารภายในกลุ่มของตน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีการใช้กันเป็นปกติ และภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง จึงจะไม่ตาย อย่างไรก็ตาม แต่ละชาติต่างมีภาษาของตนเอง โดยเฉพาะภาษาไทยมีตัวอักษรและเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงอยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยไว้

“ต่อไปเมื่อเปิดเอซีจะมีชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในหลายเรื่อง เช่น การค้า การศึกษา ทำให้ชาวต่างชาติต้องเรียนรู้ภาษาไทยกับคนไทย เพื่อจะได้สื่อสารกับคนไทยได้ จึงเป็นความท้าทายว่า เราจะจัดระบบอย่างไรให้ชาวต่างชาติเรียนภาษาไทยกับเราได้ง่าย อย่างไรก็ตาม คิดว่าภาษาไทยไม่ได้เป็นภาษาหลักของอาเซียน เพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของเอซี” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำเนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ไม่รู้สึกตกใจกับการใช้ภาษาของวัยรุ่นยุคใหม่ รวมไปถึงภาษาในไลน์ เช่น คำว่า สาด เกรียน จุงเบย เพราะเป็นการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เพียงแต่ต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักแยกแยะและรู้กาลเทศะในการใช้ภาษาไทยว่า เวลาใด สถานที่ใด ควรใช้ภาษาไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ

“คิดว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า แต่คงไม่ใช่ภาษาหลักของอาเซียน เพราะหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย บรูไน ก็ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย อย่างไรก็ตาม การจะให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ภาษาไทยและภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูผู้สอน ซึ่งต้องมีความเข้าใจเนื้อหาและวิธีการสอน” ดร.นิตยา กล่าว

นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มองว่าขณะนี้สถานการณ์การใช้ภาษาไทยไม่น่าห่วง เพราะการใช้ภาษาไทยในโลกออนไลน์มีชีวิต มั่นคงและมีวิวัฒนาการของผู้ใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ภาษาไทยมีความแข็งแรง ยั่งยืน ไม่ล้มหายไปไหน อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยไม่สามารถเป็นภาษาหลักของเอซีได้ เพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง และแต่ละชาติมีภาษาของตัวเอง

นายทอดด์ ทองดี พิธีกรรายการคุณพระช่วย สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 กล่าวว่า เชื่อว่าต่อไปภาษาไทยจะเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งของอาเซียน อยากให้ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญภาษา ท้องถิ่นเป็นทูตด้านภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติ รวมทั้งกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการทูตวัฒนธรรมเยาวชน โดยให้เยาวชนไทยไป แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อซึมซับและเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

นายชิบ จิตนิยม พิธีกรรายการเอเชีย คอนเนค สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า จากประสบการณ์ไปทำข่าวประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร พม่า สิ่งที่น่าห่วงคือ ประเทศเพื่อนบ้านต่างสนใจและเรียนรู้ภาษาไทยกันมาก ทั้งเรียนในมหาวิทยาลัยในไทย หรือสื่อบันเทิงอย่างละครทีวีของไทย แต่คนไทยกลับไม่ยอมเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน จึงอยากให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติหันมาเรียนรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้สื่อสารกันได้ ไม่เสียโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรมและการค้าเพื่อรองรับเอซี

วันเดียวกัน ที่โรงละครแห่งชาติ มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2556 และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และรางวัลเพชรในเพลง

นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่สื่อต่างๆ ให้ความสนใจในการนำเสนอข่าววันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม จึงอยากรณรงค์ให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนตระหนักและให้ความสำคัญกับภาษาประจำชาติ ด้วยการใช้ภาษาไทยให้ถูกหลัก และหลีกเลี่ยงคำร่วมสมัยที่ไม่ถูกต้อง

นายประมวล พิมพ์เสน ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น กล่าวว่า คนส่วนใหญ่จะหวั่นวิตกเรื่องศัพท์สแลง และภาษาสมัยใหม่ แต่ส่วนตัวคิดว่า การใช้ภาษาไทยของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นวิวัฒนาการของภาษาที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ภาษาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เรียกได้ว่า ศัพท์เสริม ศัพท์เสื่อมก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายจะเห็นว่า ส่วนที่ดีก็ยังมีอยู่ ส่วนที่ไม่ดีจะหายไปเอง ดังนั้นอย่าหวั่นวิตกกับศัพท์วัยรุ่นมากเกินไป

“อยากฝากว่า การใช้ภาษาไม่ว่าจะใช้ในทางใด เราต้องรู้จักความเป็นชาติ เพราะภาษาเป็นอันดับหนึ่ง แผ่นดินเป็นอันดับสอง ดังนั้นเราต้องรักษาเอกลักษณ์ การแสดงออกเป็นชาติเอาไว้ให้ได้” นายประมวล กล่าว

ขณะที่ นายสุรินทร์ แปลงประสพโชค ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า มีความเป็นห่วงการใช้ศัพท์ของวัยรุ่นในปัจจุบัน เพราะเด็กสมัยใหม่มีฐานภาษาไทยค่อนข้างอ่อน ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังภาษาไทยตั้งแต่ 3-4 ขวบ ซึ่งง่ายๆ และสนุก เด็กชอบ นั่นก็คืออ่านนิทานให้ฟังแล้วพยายามให้เด็กจินตนาการตามไปด้วย ถ้าหากเด็กมีพื้นฐานภาษาไทยแน่นก็จะมีภูมิต้านทานที่จะต่อสู้กับภาษาใหม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างเด็กให้แม่นภาษา ควร พูด อ่าน เขียน ให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันพยายามปลูกฝังให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรียนรู้ภาษาไทยให้ถ่องแท้แล้วก็ควรมีความรู้ด้านภาษาเพื่อนบ้านด้วย ก็จะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33522&Key=hotnews

’จาตุรนต์’ มอบนโยบายเคลื่อนอาชีวะ

30 กรกฎาคม 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการมอบ นโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า การพัฒนางานอาชีวศึกษามีความจำเป็น และเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะต้องหาแนวทางและกรอบความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ว่าจะทำอย่างไรให้อาชีวศึกษาสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งปริมาณและคุณภาพ มิเช่นนั้นแล้ว ไทยอาจจะตกอยู่ในสภาวะชะงักงันในการพัฒนา และไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร สอศ.เพื่อกำหนดแผนและวางมาตรการพัฒนาอาชีวศึกษาไว้แล้ว โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน 9 เรื่อง ได้แก่

1.ประเมินสถานการณ์อาชีวศึกษาโดยเร่งด่วน โดยมอบให้สถาบันอุดมศึกษา 3-4 แห่ง มาช่วยประเมินสภาพและสถานะของอาชีวศึกษาทั้งประเทศแบบเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่อไป ซึ่งสิ่งที่จะต้องประเมิน อาทิ การผลิตนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาตรงกับความต้องการหรือไม่ ครู-อาจารย์ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ศักยภาพของการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อจะใช้เป็นแนวในการที่จะปรับการทำงานของอาชีวศึกษาให้ตรงกับโจทย์ใหญ่ โดยจะนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2557 หรือวันที่ 1 ต.ค.นี้

2.เร่งผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของประเทศ

3.เร่งผลักดันให้เกิดระบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยดำเนินการนำร่องบางสาขาอาชีพ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมกับภาคเอกชน

4.ขยายและยกระดับการเรียนการสอนระบบทวิภาคี เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น

5.ยกระดับการพัฒนาระบบความร่วมมือกับต่างประเทศให้มากขึ้นในเรื่องหลักๆ ที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ

6.ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้มีความทันสมัย ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาท

7.ขยายโอกาสทางการศึกษาและยกระดับการศึกษาของแรงงานไทย เพราะปัจจุบันแรงงานกว่า 25 ล้านคน ยังไม่จบมัธยมศึกษา จึงควรส่งเสริมให้ยกระดับการศึกษา โดยอาจร่วมมือกับสถานประกอบการ หรือเปิดให้มาเรียนวันหยุด และให้ สอศ.มีบทบาทในการดูแลมาตรฐานคุณภาพ

8.การพัฒนาแรงงานต่างด้าวให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะสอดคล้องกับความต้องการ มีมาตรฐานสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และ

9.สร้างเครือข่ายอาชีวศึกษาอาเซียน เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาชีวศึกษาภูมิภาค ทั้งนี้ สอศ.จะต้องไปทำแผนปฏิบัติการ เพื่อนำกรอบแนวทางดังกล่าวสู่การปฏิบัติต่อไป

“จะต้องยกระดับและเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งความร่วมมือจะไม่ใช่เพียงแค่ต้องการทราบว่าเอกชนต้องการบุคลากรด้านใด แต่เราจะต้องรู้ด้วยว่า เขาต้องการแรงงานที่มีคุณลักษณะอย่างไร หลักสูตรและเครื่องมือในการเรียนการสอนควรเป็นอย่างไรด้วย เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2558 สอศ.จะต้องเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญ เป็น 50 : 50 ด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าน่าจะสามารถเพิ่มได้ตามสัดส่วนดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะหาก สอศ.เร่งขับเคลื่อนตามนโยบายที่ตนได้มอบไว้ เด็กก็จะเห็นเอง ว่าเรียนอาชีวะแล้วมีความก้าวหน้าทางอาชีพ มีอนาคต และมีรายได้ที่สูง โดยที่ไม่ต้องมีใบปริญญา” นายจาตุรนต์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33523&Key=hotnews

“จาตุรนต์” เล็งหารือ ทปอ. รื้อใหญ่ระบบสอบเข้ามหา’ลัย

29 กรกฎาคม 2556

“จาตุรนต์” เล็งหารือ ทปอ. ปรับใหญ่ระบบสอบคัดเลือกเข้ามหา’ลัย ชี้รูปแบบที่ใช้อยู่ไม่สะท้อนการคัดผู้ที่เหมาะสมเข้าเรียน แต่กลับเป็นระบบที่สร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม และยังเป็นบ่อเกิดของปัญหากวดวิชาด้วย

นายจาตุรนต์ ฉายแสงรมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนเตรียมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเสนอให้ ทปอ.ปรับปรุงระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ส่วนตัวเห็นว่าระบบที่ใช้อยู่มีส่วนทำ ให้การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญระบบเช่นนี้ได้สร้างความไม่เท่าเทียม กันในสังคม ปัจจุบันการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีหลากหลายรูปแบบทั้งแอดมิชชัน สอบรับตรง การรับผ่านระบบโควตาของมหาวิทยาลัย ตลอดปีจึงมีการเปิดสอบมากมาย ทำให้เกิดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบจำนวนมาก เด็กที่มีฐานะจึงได้เปรียบ บางคนยอมทุ่มเป็นเงินแสนบาทไล่สมัครสอบหลายแห่ง แต่ถ้าเป็นเด็กยากจนแล้ว งบประมาณแค่ 3,000 บาท เพียงพอแก่การสมัครสอบที่ได้แห่งเดียว

แม้จะมีกา รสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่สามารถสะท้อนการคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าเรียนในแต่ละคณะวิชาได้ เห็นได้จากผลการประเมินสถาบันอุดมศึกษาระดับนานาชาติของประเทศไทยซึ่งไม่ได้กระเตื้องขึ้น ตนเห็นว่า สมควรปรับระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ และการปรับครั้งนี้น่าจะต้องเป็นการปรับครั้งใหญ่ อีกทั้งควรจัดประชุมเสวนาระดมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ความคิดเห็นด้วย

“ผมจะหารือกับ ทปอ.ว่า น่าจะต้องมีการตั้งวงหารือในเรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่า ระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนอกจากเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าเรียนแล้ว จะต้องคำนึงถึงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานไม่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง หมดความสนใจการเรียนในชั้นเรียน แต่พบว่า ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยลัย ในปัจจุบันออกไม่ตรงกับหลักสูตร เด็กจึงหันไปกวดวิชา ติวข้อสอบแทน หมดความสนใจเรียนในชั้นเรียนและทำให้เกิดปัญหากวดวิชาตามมา 2.ต้องคำนึงโอกาสและความเท่าเทียมกันของเด็กด้วย เมื่อมีการเปิดสอบกันตั้งแต่ต้นปีจนปลายปี จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเด็กที่ฐานะต่างกัน”นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่า จะต้องมีการปรับปรุงระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในจุดใดบ้าง เพราะตนอยากรอฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่อยู่ในความสนใจของตน คือ การสอบรับตรงที่มีเปิดสอบตลอดปีและเสียค่าใช้จ่ายการในสอบสูง และเนื้อหาของข้อสอบที่อาจออกไม่ตรงหลักสูตร ทำให้เกิดปัญหากวดวิชาตามมา แต่ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนใด ๆ จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวทัน จะไม่มีการประกาศใช้ทันทีเพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็กที่ได้เตรียมตัวตามแนวทางสอบคัดเลือกแบบเดิมไปแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33492&Key=hotnews