August 2013

ชวนคิดเปลี่ยนห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่สาม

อ่านหนังสือที่บ้าน
อ่านหนังสือที่บ้าน
ภาพประกอบจาก http://www.thaiall.com/readbookt
ติดตามข้อมูลข่าวสารเชิงพัฒนาในต่างประเทศ
ประทับใจแนวคิดเชิงนวัตกรรมมากมายที่ปรากฏในสื่อ
บางแนวคิดก็ได้แต่มอง บ้างก็ไม่เห็นด้วย
บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

บ้าง ก็อยากนำมาใช้ เช่น การทำให้ห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่สาม หากตีความว่าการใช้เวลาในชีวิตอยู่ที่ใดมาก ก็จะเรียกว่าบ้าน ดังนั้น นอกจากบ้านที่ใช้หลับนอนจะเป็นบ้านหลังแรก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านหลังที่สองคือโรงเรียน เพราะตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย เราใช้ชีวิตไปมากกว่า 16 ปีตั้งแต่เริ่มจำความได้

ตามที่ปรากฏในสื่อของสิงคโปร์ และมีการนำมาแบ่งปันในไทย มีพาดหัวว่า The library : Your third home พบว่า สถิติการเข้าห้องสมุดจำนวน 21 ห้องสมุดในปี 2544 มีผู้เข้าไปใช้ถึง 28 ล้านครั้ง ในปี 2546 มีผู้เข้าใช้ 31.2 ล้านครั้ง ปี 2554 มีผู้เข้าใช้ 37.5 ล้านครั้งในเครือข่าย 25 ห้องสมุด ซึ่งพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนประชากรจะมีเพียง 5 ล้านคน และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเป็นสมาชิกห้องสมุดโดยการดูแลของคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติ (NLB = National Library Board) ที่สนับสนุนโดยภาครัฐอย่างจริงจัง

แม้จำนวนการเข้าใช้บริการ และยืมหนังสือจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ห้องสมุดตามจำนวนการใช้งาน ด้วยการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันจะพบการเข้าแถวรอรับบริการมีน้อยมากด้วยระบบการจัดการห้องสมุด (EliMS = Electronic Library Management System) ที่ จะช่วยตอบคำถามตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ทำให้จำนวนผู้เข้าแถวรอรับบริการที่เคาน์เตอร์ลดลง เวลาส่วนใหญ่ก็จะใช้ไปกับการจัดหนังสือเข้าชั้น ห้องสมุดมีจุดคืนหนังสืออัตโนมัติ 24 ชั่วโมง และไม่ต้องกลับไปคืนหนังสือที่ห้องสมุดเดิม แต่สามารถคืนที่ใดก็ได้ที่เป็นจุดรับคืนหนังสือ และที่ตั้งห้องสมุดก็จะไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่สะดวกในการใช้บริการทั่วประเทศ การปรับปรุง และออกแบบให้ห้องสมุดเป็นสถานที่น่าเข้าไปใช้บริการก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำ ให้ห้องสมุดมีผู้เข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย พบว่า สถิติการอ่านของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ สืบเนื่องจากการไม่รักการอ่านหนังสือ หรือหนังสือที่มีอยู่ไม่น่าอ่าน หรือสถานที่อ่านหนังสือไม่น่าเข้าไปใช้บริการ ก็ล้วนรวมกันแล้วส่งผลให้ร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยพบวิกฤติทางเศรษฐกิจ และปิดตัวเองไป สำนักพิมพ์ที่จัดทำหนังสือหรือนิตยสารก็ต้องแข่งขันกันสูง เป็นผลให้ปัจจุบันแผงจำหน่ายนิตยสารจะมีแต่ภาพหญิงสาวที่แต่งกายด้วยเสื้อ ผ้าน้อยชิ้นเป็นที่ชินตาเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ผ่านไปมาให้เลือกซื้อ หนังสือโดยพิจารณาจากหน้าปก

ส่วนนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาลก็มีการให้เหตุผลว่า งบประมาณของภาครัฐมีจำกัดการจะให้งบประมาณสนับสนุนโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ ถึง 60 คน เท่ากับโรงเรียนที่มีนักเรียนหลายพันคน แต่มีคุณภาพของหนังสือและห้องสมุดเท่ากันคงไม่เหมาะสม หากยุบโรงเรียนเล็กหลายโรงเรียนเป็นโรงเรียนเดียว แล้วทุ่มงบประมาณลงไปก็จะทำให้ได้ห้องสมุดที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ หลักของโรงเรียน แต่นโยบายการยุบโรงเรียนมีประเด็นละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย ก็เชื่อว่าจะมีการพิจารณาในประเด็นต่างๆ รอบด้านก่อนตัดสินใจ

แต่นโยบายของภาครัฐที่จะพัฒนาห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยยังต้องรอดูกันต่อไป เพราะยังเห็นรูปธรรมไม่ชัด เมื่อเดินเข้าไปในห้องสมุดประจำอำเภอ หรือประจำจังหวัดก็ต้องเข้าใจว่างบประมาณน้อย และกลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเข้าไปใช้บริการด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวน และคุณภาพของหนังสือในห้องสมุด รวมถึงความสะดวกในการใช้บริการ หากจะให้คนไทยมองว่าห้องสมุดคือบ้านหลังที่สามคงต้องพัฒนาอย่างจริงจัง และใช้เวลาอีกนาน

ค่านิยมเรื่องการอ่านของคนไทยที่หวังว่าจะเพิ่มสถิติการอ่านให้สูงขึ้น เริ่มมีอุปสรรคชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีความเชื่อว่าทุกอย่างค้นหาได้จาก google.com ทำให้ความสนใจที่จะซื้อหนังสือจากร้านหนังสือลดลง เนื่องจากทุกอย่างหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต ประกอบกับค่านิยมที่มีต่อเครือข่ายสังคมจนหลายคนอาจมองว่าบ้านหลังที่สามคือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social network) ที่มี facebook.com เป็นที่มั่นสำคัญหลังการเชื่อมต่อออนไลน์ทุกครั้ง ค่าสถิติ เมื่อต้นปี 2556 พบว่า เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีสมาชิกเฟซบุ๊คสูงที่สุด มีบัญชีผู้ใช้สูงถึง 12.8 ล้าน ในภาพรวมของประเทศมี 18.3 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนประชากรที่ใช้เฟซบุ๊ค และค่าสถิติการใช้เฟซบุ๊คย่อมหมายถึงการดึงความสนใจของคนไทยออกจากการอ่าน หนังสือ เนื่องจากต้องให้เวลากับเฟซบุ๊คมาก ทำให้มีเวลากับการอ่านหนังสือลดลง

แล้วอนาคตของห้องสมุดไทยจะเดินไปทางใดก็ต้องฝากไว้กับรัฐบาลไทยที่จะผลัก ดันให้ห้องสมุดไทยอยู่ในใจคนไทย ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาให้คนไทยรู้ว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญกับ การดำรงชีวิตเพียงใด ถ้าจำนวนผู้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอด ชีวิตมีเพิ่มขึ้น สถิติการอ่านหนังสือก็จะเพิ่มขึ้น จำนวนห้องสมุดที่ดี และมีชีวิตชีวาก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ก็หวังว่าวันนั้นจะมาถึงในเร็ววัน

แหล่งอ้างอิง
! http://news.voicetv.co.th/global/75568.html
! http://newspapers.nl.sg/Digitised/Page/today20030306-1.1.3.aspx
! http://fbguide.kapook.com/view55860.html

โดย : ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ กรุงเทพธุรกิจ

! http://bit.ly/17e934p
! http://blog.nation.ac.th/?p=2808

ปัญหาเด็กอาชีวะ นักเรียนไทย-อเมริกันคล้ายกัน

30 สิงหาคม 2556

ปัญหาเด็กอาชีวะ นักเรียนไทย-อเมริกันคล้ายกัน
นักวิชาการมะกัน ชี้แนวทางออกของการแก้ปัญหา
นายทอม คอร์คอแรน ผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายการศึกษา Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวถึงระบบเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบโรงเรียนสายสามัญกรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ในการเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 4 ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดขึ้นว่า การศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย คือ เด็กออกกลางคัน สูงถึงร้อยละ 25 ร้อยละ 32 ไม่เรียนต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมปลาย ขาดทักษะความพร้อมในการประกอบอาชีพ และไม่นิยมเรียนต่อด้านอาชีวศึกษา ดังนั้น จึงได้มีการจัดการศึกษาทางเลือกหรือ Career Academies ขึ้นเป็นการจัดการศึกษาที่ผนวกด้านอาชีพไว้ในมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน และให้เด็กได้ค้นพบตนเองในการประกอบอาชีพหรืองานที่ชอบ จากการดำเนินงานมากว่า 30 ปี ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 8,000 แห่ง โดยหลักสูตรที่นักเรียนมีทักษะสามารถออกไปทำงานก็ได้หรือเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็ได้ มีทั้งหมด 16 กลุ่มอาชีพ ซึ่งต่างจากหลักสูตรของอาชีวะที่เน้นเทคนิคเฉพาะทางแต่หลักสูตร Career Academies สามารถเข้าสู่อาชีพได้มากถึง 79 อาชีพ มีรูปแบบการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือ

1.เป็นสายการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญในระดับ ม.3-6, ม.4-6 หรือ ม.5-6 รูปแบบที่

2.หลักสูตรเตรียมอาชีพเพื่อเข้าสู่วิทยาลัยชุมชน/มหาวิทยาลัย บูรณาการระหว่างวิชาชีพกับวิชาสามัญในระดับ ม.ปลาย เน้นการสอนในลักษณะโครงงานที่ให้ทั้งทักษะความรู้วิชาการและอาชีพ เชื่อมโยงหลักสูตรระดับอุดมศึกษานักเรียนสามารถเก็บสะสมรายวิชาพื้นฐานเพื่อในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ และ

3.การจัดการสอนแบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนและมหาวิทยาลัย โดยให้ภาคเอกชนได้มาร่วมออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เมื่อจบหลักสูตรนักเรียนสามารถมีทางเลือกได้ 3 ทาง คือ 1)เรียนต่อมหาวิทยาลัย 2)เรียนต่อสายเทคนิค และอาชีวศึกษาหรือ 3)เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีพื้นฐานการทำงานเพียงพอ โดยจะได้รับใบประกอบวิชาชีพ (Career Certificate) ด้วย ซึ่งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือทัศนคติของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนสูงๆ ดังนั้น การพยายามเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด จึงควรแนะนำให้ผู้ปกครองรู้จักกับเส้นทางสู่ความสำเร็จหลายๆ เส้นทาง ซึ่งอาจไม่ใช่การเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสายวิชาการเสมอไป

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33925&Key=hotnews

 

หนุนจัดอับดับคุณภาพมหา’ลัยไทย’ราชภัฏ-ราชมงคล’ชี้ต้องมีเกณฑ์เฉพาะกลุ่ม

30 สิงหาคม 2556

ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกัน บอกสังคมให้ได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านใด และอยู่ในอันดับที่เท่าไรของประเทศนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 56 นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวถึงนโยบายนี้ว่าเป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะในแง่ที่จะทำให้เด็กที่จะตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสรู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน คุณภาพอาจารย์ผู้สอน หรือจบในสาขาที่เรียนมีโอกาสในการทำงานมากเท่าใด ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะสะท้อนเรื่องเหล่านี้ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างมาก

“เรื่องนี้ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ ดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน และต้องสอดคล้องกับทิศทางการจัดอันดับในสากลด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมนึกถึงพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยซึ่งควรจะนำใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่อย่างแน่นอน” นายสุขุมกล่าว
ขณะที่ นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่าการจัดอันดับจะส่งผลดีต่อมหาวิทยาลัยในการเร่งพัฒนาตัวเอง และประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจ เพียงแต่มหาวิทยาลัยไทยนั้นมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตแตกต่างกัน แบ่งชัดๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดการศึกษาที่เน้นด้านสังคม หมายถึงกลุ่มมรภ. และ ม.เอกชน, กลุ่มจัดการศึกษาด้านสังคมและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าอย่างจุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ฯลฯ และกลุ่มจัดการศึกษาเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่ม มทร.กลุ่มมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า เป็นต้นเพราะฉะนั้น หากจะจัดอันดับจะต้องกำหนดตัวชี้วัดและแยกแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เพราะหากใช้เกณฑ์เดียวกันเพื่อมาประเมินจัดอันดับก็จะเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ มหาวิทยาลัยเอกชนอาจจะขาดความพร้อมในหลายด้าน และที่ลืมไม่ได้ในขณะนี้คือ สถาบันการอาชีวศึกษาที่เพิ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรี จะถูกนำมารวมจัดอันดับหรือไม่

“เรื่องสำคัญ คือ กรณีมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับรั้งท้ายรัฐควรจะต้องหามาตรการหรือแนวทางที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องที่อยากขอให้ช่วยคิดหามาตรการรองรับด้วย” นายประเสริฐกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33924&Key=hotnews

รื้อเกณฑ์ทุนอำเภอปันส่วนให้เด็กอาชีวะ

30 สิงหาคม 2556

ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปดูงานและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ร่วมกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหลายเรื่องที่จะต้องผลักดันและยกร่างเป็นข้อเสนอให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.พิจารณา โดยเฉพาะการจัดสรรทุนการศึกษาเรียนต่อระดับปริญญาตรีทั้งในและนอกประเทศ ในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือทุนโอดอส โดยแบ่งส่วนหนึ่งมาให้ทุนแก่นักเรียนสายอาชีวศึกษา ไปเรียนในประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพด้านอาชีวศึกษา อาทิ เกาหลี เยอรมนี จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยจะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนโอดอสใหม่ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะจัดสรรให้เด็กอาชีวศึกษาจังหวัดละ 1 คน เปิดโอกาสให้รับทุนเรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามศักยภาพและความต้องการของนักเรียน ซึ่งการสอบรับทุนจะต้องแยกสอบระหว่างนักเรียนสายอาชีวศึกษากับนักเรียนสายสามัญศึกษา

ดร.กิตติ กล่าวต่อไปว่า ตนได้มอบหมายให้ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ว่าที่ ปลัด ศธ.คนใหม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องสรุปข้อมูลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ทั้งกระบวนการสรรหา การสอบ การเตรียมตัวเด็ก การส่งเด็กไปเรียน และการติดตามเด็กใน ต่างประเทศ ตลอดจนเด็กกลับมาแล้วทำงานที่ไหนอย่างไร เพื่อมาพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนไหนบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก เช่น เรื่องการคัดเลือกเด็ก รายได้ต่อปีของครอบครัวนักเรียน การเตรียมตัวของนักเรียนที่สอบได้ในการไปเรียนต่างประเทศ อาจจะต้องเพิ่มระยะเวลามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เด็กมีความพร้อมด้านภาษา ความรู้ และการปรับตัวทางด้านวัฒนธรรม เป็นต้น

นายจาตุรนต์ เน้นด้านการอาชีวศึกษามาก และ จะขอแบ่งทุนโอดอสจำนวนหนึ่งมาให้เด็กอาชีวศึกษาได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเร็ว ๆ นี้เรื่องการให้ทุนโอดอสจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยจะเน้นการกระจายความเท่าเทียมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ห่างไกลให้มีโอกาสได้รับทุนนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ผมจะทำเป็นข้อเสนอในทางปฏิบัติไปให้ รมว.ศธ. และรองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยคาดหวังว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้ในปีการศึกษา 2557″ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33923&Key=hotnews

ศธ.รับแทบเล็ต ป.1 ปัญหาเพียบ

30 สิงหาคม 2556

วังจันทรเกษม : รมว.ศึกษาฯยอมรับครูและนักเรียนใช้ศักยภาพแทบเล็ต ป.1 แค่ 20% แจงพบปัญหาอื้อ หลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงครูบางส่วนยังไม่มีแทบเล็ตและไม่มีทักษะด้านไอทีทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยการใช้แท็บเล็ต ป.1 พบว่า ครูและนักเรียนยังคงใช้ศักยภาพเครื่องที่ได้รับแจกประกอบการเรียนการสอนเพียง 20% ซึ่งถือ ว่ายังน้อย จึงต้องหาแนวทางและจัดทำแผนเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้งานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า ครูผู้สอนยังไม่สามารถปรับเนื้อ หาการเรียนการสอนจากแทบเล็ตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นได้ รวมถึงยังมีข้อกังวลว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้เด็กติดเกมมากขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งพัฒนาเกมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นำมาบรรจุในแทบเล็ตมากขึ้น เพื่อกระตุ้นในการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาในการพัฒนาเด็ก

พร้อมกันนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งพัฒนาแผนแม่บทด้านไอซีทีของประเทศร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) โดยจะวางแผนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่พบว่าแผนแม่บทเดิมของไอซีทีเน้นเรื่องการศึกษาน้อย โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำวิจัยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ใช้แทบเล็ตในปี 2554-2555 พบว่าการใช้แทบเล็ตมีข้อดีคือ เด็กสนุกสนาน มีแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เนื้อหาในแทบเล็ตส่วนใหญ่ยังเหมือนในหนังสือเรียน มีปัญหาทางเทคนิค เช่น แบตเตอรี่หมดเร็ว เครื่องร้อน และหลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงครูบางส่วนยังไม่มีแทบเล็ตและไม่มีทักษะด้านไอทีทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33922&Key=hotnews

รมว.ศึกษาสั่งชลอเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยชั่วคราว มอบ ก.ค.ศ.หาแนวทางเอาผิดให้ชัด

30 สิงหาคม 2556

มว.ศึกษา มอบ ก.ค.ศ.ทำแนวปฏิบัติใหม่ใช้เอาผิดผู้ทุจริตสอบครูผู้ช่วยให้ชัด พร้อมจัดประชุมทำความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง สั่งชะลอการเพิกถอนบรรจุชั่วคราว หลังผู้ถูกเพิกถอนร้องทุกข์อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมเหตุไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อนเขี่ยออกจากราชการ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เมื่อเร็ว ๆนี้ ว่า จากการรายงานผลการกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้มีมติตามข้อเสนอของดีเอสไอ ให้เพิกถอนการบรรจุผู้ที่ได้คะแนนสอบสูงผิดปกติ จำนวน 344 คนเป็นข้าราชการครู นั้น ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนการบรรจุได้ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมมายัง ก.ค.ศ. โดยให้เหตุผลการให้ออกจากราชการโดยทันทีนั้นไม่มีความเป็นธรรมเพราะเจ้าตัวยังไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ในการการประชุมก่อนหน้านี้ ก.ค.ศ.มีมติให้ไปหารือกับ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับกฏหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซี่ง อ.ก.ค.ศ.ก็มีความเห็นว่า มติ ก.ค.ศ.ที่ให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แจ้งไปยังผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งก็คือ ผอ.สถานศึกษา ให้ดำเนินการกับผู้เข้าสอบ จำนวน 344 ที่ดีเอสไอแจ้งว่าเข้าข่ายดำเนินการทุจริตการสอบคัดเลือก หากรายใดได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว ก็ให้ออกจากราชการเพราะถือว่าเป็นผู้บกพร่องในศิลธรรมอันดีสำหรับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญก็เห็นว่า เป็นมติที่ถูกต้องแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มี อ.ก.ค.ศ.บางเขตพื้นที่การศึกษา ได้ดำเนินการตามมตินี้แล้ว แต่บางเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่ยอมดำเนินการตาม ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สำนักงาน ก.คงศ.ทำแนวปฏิบัติในการดำเนินการและให้จัดประชุมชี้แจง อ.ก.ค.ศ.และผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนในทางปฏิบัติ โดยให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น เลขาธิการกฤษฎีกา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้มีประสบการณ์ในเรื่องการสอบทางวินัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง มาอธิบายเรื่องทั้งหมดตลอดกระบวนการของแนวปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีการร้องทุกข์จะทำอย่างไร กรณีบกพร่องทางศิลธรรมอันดี หรือขาดความสามารถเป็นเหตุให้ออกได้หมายความว่าอย่างไร ส่วนกรณีที่มี่การร้องทุกข์ว่าไม่ได้มีดำเนินการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง ก็ให้ อกคศ.ที่เกี่ยวข้อง และผู้อำนวยการโรงเรียนไปทบทวนการดำเนินการ โดยไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งทางปกครอง คือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกให้ออกได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

“การเพิกถอนการบรรจุเป็นข้าราชการ หรือการให้ออกจากข้าราชการนั้น เป็นคำสั่งทางปกครอง สมควรที่จะให้เจ้าตัวมีโอกาสชี้แจง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ได้ร้องเรียนมาว่าไม่ได้มีโอกาสชี้แจง เพราะฉะนั้น จึงให้ ก.ค.ศ.ไปทบทวนเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยให้ระงับการเพิกถอนให้ไว้ก่อน เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะถูกเพิกถอนหรือถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ได้มีการชี้แจงตัวเองตามขั้นตอนราชการก่อน หลังจากนั้น หากสอบสวนแล้วพบว่า ผิดก็อาจจะให้ออกอีกรอบหนึ่ง ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย “ นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปสำนักงาน ก.ค.ศ.จะเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้องมารับฟังคำชี้แจงถึงขั้นตอนและแนวปฏิบัติจาก นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษษฎีกา ซึ่งเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรตามมติ ก.ค.ศ. ทั้งในกรณีที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2.กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วแต่พยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอจะต้องทำอย่างไร และ3.กรณีที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ก็ให้ดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้จะมีการชี้แจงแนวปฏิบัติทั้งในส่วนที่สอบข้อเท็จจริงแล้วมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเพียงพอว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนวันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ยังได้พิจารณากรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายการทุจริตอีกจำนวน 204 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนสูงกว่า 80 คะแนนขึ้นไปซึ่งภายหลังการพิจารณา ก.ค.ศ.มีมติเห็นสมควรมอบข้อมูลนี้ให้กับศูนย์ประสานงานการสอบสวนการทุจริตการสอบบรรจุครูผู้ช่วย เพื่อดำเนินสอบสวนต่อไป

–ASTVผู้จัดการออนไลน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33920&Key=hotnews

กระทุ้งหาครูภาษาอาเซียนเสนอเพิ่มเงินเดือน-แจกทุนปั้นบุคลากรปรับกฎยืดหยุ่นเอื้อเปิดหลักสูตร

28 สิงหาคม 2556

โพสต์ทูเดย์
นักวิชาการกระทุ้งรัฐเร่งปลดล็อกหาครูสอนภาษาอาเซียน หลังพบทั้งมัธยม-อุดมศึกษาขาดแคลนหนัก

น.ส.วิชชุกร ทองหล่อ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ควรร่วมมือกันสนับสนุนการสรรหาบุคลากรสอนวิชาภาษาต่างๆในกลุ่มอาเซียนให้แก่สถาบันการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาต้องการครูสอนภาษาอย่างมากเพื่อพร้อมรองรับประชาคมอาเซียน แต่ไม่สามารถหาบุคลากรเองได้เลย

“ปัญหาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่นเรื่องเงินเดือนครูสอนระดับอุดมศึกษาต้องจบการศึกษาระดับปริญญาเอก แต่ปัจจุบันครูสอนภาษาเวียดนาม ชาวเวียดนามของเราได้เงินเดือนเพียง 2.2 หมื่นบาทเท่านั้นขณะที่คนรู้ภาษาเวียดนามจริงๆ มีน้อยมาก เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน ผู้ที่มีความรู้ระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่จึงเลือกทำงานกับเอกชนเพราะได้เงินเดือนดีกว่า” น.ส.วิชชุกรกล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐจึงควรเพิ่มอัตราเงินเดือนสำหรับอาจารย์สอนวิชาภาษาในกลุ่มอาเซียนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ให้เข้ามาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษามากขึ้นระหว่างรอการสร้างบุคลากรใหม่ๆ

นอกจากนี้ สกอ. และ ก.พ. ควรร่วมออกทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกแบบต้องใช้ทุนคืนสำหรับเรียนวิชาภาษาอาเซียนมากขึ้น โดยออกกฎให้ต้องกลับมาสอนยังสถาบันการศึกษาต่างๆ
น.ส.วิชชุกร กล่าวอีกว่า ภาครัฐยังต้องแก้ปัญหาระเบียบปฏิบัติไม่ตรงกัน เช่น ปัจจุบันภาควิชาต้องการเปิดหลักสูตรวิชาภาษาพม่าระดับปริญญาตรี แต่ติดข้อบังคับของ สกอ.ที่ว่า แต่ละคณะที่จะเปิดหลักสูตรใหม่ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3 คน และอาจารย์อื่นๆอีกไม่น้อยกว่า 2 คน ขณะเดียวกันเมื่อต้องการหาอาจารย์ประจำเพื่อรองรับการเปิดภาควิชาภาษาพม่าก็ไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อบังคับเรื่องการขออัตรากำลังว่าต้องขาดแคลนอาจารย์ปัจจุบันก่อน จึงจะสามารถขออัตรากำลังได้

“ภาครัฐอาจปรับกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นเช่น ลดการบังคับจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรลง แล้วไปเพิ่มอาจารย์ผู้ช่วยอื่นแทน เพื่อให้เปิดหลักสูตรใหม่ได้ง่ายขึ้น”น.ส.วิชชุกร กล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มการเรียนภาษาในกลุ่มอาเซียนกำลังเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนปัจจุบันภาควิชามีเปิดสอนวิชาภาษาเวียดนามและกัมพูชาแล้ว ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสอบตรงเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละปี ขณะที่จำนวนผู้เรียนภาษาตะวันตก เช่น ภาษาฝรั่งเศส กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33890&Key=hotnews

 

เอาไงดี ! เว็บไซต์การพนัน ไม่ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

29 สิงหาคม 2556

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้หารือ คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นเว็บไซต์การพนันตามมาตรา ๒๐

ประเด็นปัญหาคือ ปัจจุบันเว็บไซต์การพนันทางอินเทอร์เน็ตปรากฏให้เห็นหลากหลายรูปแบบ เช่น การทายผลลอตเตอรี่ออนไลน์ การทายผลกีฬา และการทายผลตามอย่างในบ่อนกาสิโน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีหน้าที่ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและป้องกันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทางที่ผิด โดยมาตรการทางกฎหมายประการหนึ่งที่นำมาบังคับใช้ คือ การป้องกันมิให้เข้าถึงเว็บไซต์โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ (ปิดกั้นเว็บไซต์) ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์การพนันทางอินเทอร์เน็ตได้
ต่อมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้หารือกับเครือข่ายรณรงค์ หยุดการพนัน มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเยาวชนไม่พนัน และเครือข่ายผู้ปกครองสถานศึกษา เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์การพนันออนไลน์ โดยมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการระงับการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยมีความเห็นเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรกเห็นว่า เว็บไซต์การพนันเข้าข่ายเป็นความผิดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ฝ่ายที่สองเห็นว่า ลักษณะของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลจะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ตามนัยมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จะต้องเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ความผิดตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ นอกจากนั้นยังต้องเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในภาคสอง ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีเว็บไซต์การพนัน ทางอินเทอร์เน็ตมิได้เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ได้

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติและเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์การพนัน ทางอินเทอร์เน็ตตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จึงขอหารือว่า พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีจะยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ (ปิดกั้นเว็บไซต์) กรณีเว็บการพนันทางอินเทอร์เน็ตตามนัยมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ได้หรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานปลัดกระทรวง) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับ การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ในกรณีที่การกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสอง ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามกฎหมายนี้ จะต้องเป็นกรณีที่มีการกระทำที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดเสียก่อน และการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ใน ภาคสอง ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในหมวด ๑ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ ไม่มีมาตราใดที่บัญญัติให้การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

เมื่อการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ แม้ว่าการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้มีการเล่นพนันจะเป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ตาม

–มติชนออนไลน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33904&Key=hotnews

 

ชงตั้งกรรมการปฏิรูปหลักสูตรชุดใหม่ใหญ่กว่าเดิม

29 สิงหาคม 2556

“ภาวิช”เสนอตั้งกรรมการปฏิรูปหลักสูตรชุดใหม่ ใหญ่กว่าเดิม พร้อมผลักดันแนวคิดจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมทำหน้าที่ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

วานนี้(28ส.ค.) ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรมว.ศึกษาธิการ แต่งตั้งได้หมดวาระไปตามตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการแล้ว และเมื่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เข้ามารับตำแหน่งก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปหลักสูตร โดยมองไปที่การปฏิรูปการเรียนรู้เป็นหลักที่ว่าจะปฏิรูปการเรียนรู้ได้ก็ต้องเริ่มที่การปฏิรูปหลักสูตร ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรทุกวันนี้จึงยังทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะหมดวาระไปแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามตนได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นชุดเดิมแต่เพิ่มคนทำงานมากขึ้นและใหญ่ขึ้น โดยชุดใหม่นี้จะมี 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับร่างหลักสูตร และระดับกลุ่มสาขาวิชา จากเดิมที่มีเพียงระดับนโยบายกับระดับร่างหลักสูตรเท่านั้น

ศ.ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะมีการผลักดันเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรไปสู่สภาพที่มีความยั่งยืน คือ การเป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและนวัฒกรรม เป็นองค์การมหาชนที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี ทำหน้าที่ไล่ดูหลักสูตร และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อเป็นหลักสูตรของประเทศไทย ไม่ใช่หลักสูตร พ.ศ.นั้น พ.ศ.นี้ เพราะการทำหลักสูตรไม่ควรทำเป็นเฮือก ๆ นาน ๆ ปรับปรุงที หรือ 10 ปีค่อยปรับปรุง แต่ควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและปรับแต่งตลอดเวลา เพราะความรู้ หลักการ กระบวนทัศน์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่จุดอ่อนของหลักสูตรปัจจุบันคือเรื่องการนำไปใช้ที่จะต้องมีการจัดทำให้มีความชัดเจนด้วย

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33903&Key=hotnews

แนะรัฐยกปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ

29 สิงหาคม 2556

นักวิชาการเสนอยกระดับปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ หลังพบสถิติเยาวชนเล่นการพนันมากกว่า 2 ล้านคน เผยผลวิจัยพบทุก 1 คนของผู้มีปัญหาการพนันจะมีคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยถึง 8 คน

วานนี้(28ส.ค.) ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ในเวทีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาแนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ตนได้นำเสนองานวิจัยบทสรุปการศึกษาการป้องกันและแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาชนในต่างประเทศ ซึ่งได้ทำการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กและเยาวชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงสูงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน โดยพบว่าผู้ที่มีปัญหาการพนันอย่างรุนแรงส่วนใหญ่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย และพบว่ามีผู้ปกครองเพียงร้อยละ 5 ที่พยายามจะห้ามบุตรหลานจากการเล่นการพนัน

ดร.ธีรารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุปัจจัยที่คล้ายคลึงในหลายประเทศจึงทำให้เกิดมาตรการในการป้องกันและการแก้ปัญหาในเด็กและเยาวชนในต่างประเทศหลายประการ ได้แก่

1.การกำหนดให้การแก้ปัญหาการพนันโดยใช้แนวทางบริการสาธารณสุข เพราะหลายประเทศมองว่าไม่ใช่เป็นแค่เพียงปัญหาสุขภาพของตัวบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่มองว่าปัญหาการพนันเป็นปัญหาของชุมชนโดยรวม เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ

2.การกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน

3.ความเข้มงวดในการกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน

4.การจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการพนัน อาทิ เก็บภาษีผู้ประกอบกิจการการพนันเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่มูลนิธิเพื่อแก้ปัญหาการพนัน เป็นต้น และ

5.การบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนรู้เท่าทันปัญหาการพนัน
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวอีกว่า มีผลการวิจัยของสหราชอาณาจักรที่พบว่าในทุก 1 คนของผู้มีปัญหาการพนันจะมีคนที่ได้รับผลกระทบถึง 8 คน เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติดหรือ ปัญหาสุรา ดังนั้นแนวทางการจัดการปัญหาในประเทศไทย ควรแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะต้นทำการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง พร้อมรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ ขณะเดียวกันต้องสร้างพื้นที่สีขาวเพื่อเป็นทางออกให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย ส่วนในระดับกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ และกระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน โดยเน้นให้เห็นถึงอันตรายที่มากับการพนัน

ทั้งนี้จากการสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจสถิติสถานการณ์ของการเล่นพนัน พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 75 ในประเทศไทย เคยเล่นการพนัน โดยสถิติที่น่าตกใจคือมีเยาวชนอายุน้อยกว่า 24 ปี เล่นพนันกว่าร้อยละ 4 หรือเกือบ 2 ล้านคน

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33902&Key=hotnews