October 2013

กช.ไฟเขียวเพิ่มเบี้ยครูใต้ 224 ลบ. ‘อาชีวะ’ เอกชนเฮ-อนุมัติรับ น.ร.เทอม 2 ปรับสวัสดิการเบิกค่าเรียนบุตรถึงป.ตรี

28 ตุลาคม 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการอุดหนุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับครูโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. …ให้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย การสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น โดยได้อนุมัติให้ครูโรงเรียนเอกชนในระบบได้รับเงินเพิ่มพิเศษค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการศึกษา จากเดิมคนละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 2,500 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยขณะนี้ ศธ.ได้เสนอของบกลางจากรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 224 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับจัดสรรไว้แล้วจำนวน 149 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งหมดจำนวน 373 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ครูจำนวน 12,452 คน ครอบคลุมครูและโรงเรียนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะ 4 อำเภอ คือ จะนะ นาทวี เทพ และสะบ้าย้อย)โดยครูที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุน ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2556 หรือกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ส่วนโรงเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุน จะต้องยื่นคำขอ รับเงินอุดหนุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัด/อำเภอ พร้อมกับการขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคล ประจำเดือน

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการศึกษาเอกชน พ.ศ.2556-2560 โดยสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และอนุมัติให้โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนสามารถรับนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ได้ เพราะเห็นว่าปัจจุบัน สช.ได้ชะลอการอนุญาตให้โรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษารับนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ตามนโยบายที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมจัดการและสนับสนุนการศึกษา และเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น ขณะ เดียวกันที่ประชุมยืนยันไม่ปรับเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของสถานศึกษาในสังกัด สช. ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างระเบียบฯ เงินสวัสดิการสงเคราะห์การศึกษาบุตรของผู้อำนวยการ ครู บุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน พ.ศ. …เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนจนถึงระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ในปี 2556 จำนวนไม่เกินปีละ 20,000 บาท ต่อคนต่อปีการศึกษา จากเดิมที่ได้รับแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น คาดว่าจะใช้เงินประมาณจำนวน 50 ล้านบาทต่อปีเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป” นายจาตุรนต์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

บ้านหนังสืออัจฉริยะ ‘กศน.อุบลราชธานี’ กระจายความรู้สู่ชุมชน

28 ตุลาคม 2556

วัชรพล มีสวัสดิ์

น่าตระหนกตกใจไม่น้อยกับข้อมูลอัตราการอ่านหนังสือของคนไทย จากสถิติล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ พบว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละประมาณ 2-5 เล่ม ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ อ่านหนังสือปีละ 50-60 เล่ม และเวียดนาม 60 เล่ม

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาล โดยการนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมอนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำโครงการ “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ผลักดันให้มีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ

ทศพร อินทรพันธ์ ผอ.กศน.จังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า กศน.ได้นำร่องจัดตั้ง “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” 41,800 หมู่บ้านภายในปี 2556 จาก 80,000 กว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชน ในส่วนของ กศน.จังหวัดอุบลราชธานี จะไม่กำหนดว่าจะต้องซื้อหนังสือเล่มใดบ้าง จะให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าหากในบ้านหนังสืออัจฉริยะมีหนังสือที่ประชาชนในพื้นที่นั้นชื่นชอบ ก็จะจูงใจให้คนเข้ามาอ่านหนังสือมากกว่าการจัดหาหนังสือลงไปให้

“ผมมองว่าการส่งเสริมการอ่านไม่ได้หมายความว่าจะต้องอ่านหนังสือวิชาการเท่านั้น แต่ควรเป็นหนังสือที่ทุกคนเห็นแล้วอยากหยิบขึ้นมาอ่านมากกว่า มีหลายคนที่ได้ดีจากการอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว เป็นการอ่านหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต อีกทั้งปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ แต่หนังสือยังมีความสำคัญอยู่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหาความรู้และรับข้อมูลข่าวสารจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทั้งหมด นอกจากบ้านหนังสืออัจฉริยะจะเป็นแหล่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมนั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิ กิจกรรมสร้างรายได้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดอบรมฝึกอาชีพด้วย”

“ทศพร” ระบุด้วยว่า บ้านหนังสืออัจฉริยะเป็นเสมือนธนาคารความรู้ใกล้บ้าน ที่มีข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย ส่วนทำเลของการจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะจะตั้งอยู่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน อาทิ ร้านกาแฟ ร้านค้า บ้านผู้มีจิตศรัทธา โดยมีอาสาสมัครบ้านหนังสืออัจฉริยะซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่คอยให้บริการประชาชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ทั้งด้านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วารสาร นวนิยาย และหนังสือส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ
ด้าน กัญญาภัทร คำแก้ว เจ้าหน้าที่ กศน.อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระบุว่า การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของคนทุกระดับ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆ ให้แก่ตนเอง ดังนั้น ในบ้านหนังสืออัจฉริยะจะต้องจัดหนังสือไว้อย่างหลากหลาย ทั้งหนังสือพิมพ์ที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน หนังสือเกี่ยวกับการแนะนำอาชีพ เพื่อเป็นการชี้ช่องทางการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ หรือคิดจะทำงานเสริม ทั้งนี้อยากให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเป็นความรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ณิชชาภัทร วงษ์ปัน อาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่าน บ้านหนังสืออัจฉริยะ กศน.ตำบลธาตุ หมู่ 8 บ้านดอนกลางใต้ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนในการสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน ทั้งนี้ หนังสือทุกเล่มจะมีมูลค่าได้ ต่อเมื่อมีการหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน

ด.ช.ปัทมาภรณ์ ศิลาเกษ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านดอนกลางสงเคราะห์ อ.วารินชำราบ บอกว่า ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมได้ชวนเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือที่ศาลากลางบ้านอยู่เป็นประจำ หนังสือที่หาอ่านส่วนใหญ่เป็นพวกการ์ตูน คุณครูบอกว่าหนังสือทุกเล่มมีประโยชน์อย่างน้อยที่สุดเป็นการฝึกการอ่านได้ ไม่เหมือนดูการ์ตูนในทีวี เพียงดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

ขณะที่ จิราภรณ์ เจริญพงษ์ทวีสิน ชาวบ้านซึ่งมักจะแวะเวียนไปอ่านหนังสือ ที่บ้านหนังสืออัจฉริยะ บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 10 ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ความรู้มาอยู่แค่เอื้อม เพราะที่ผ่านมาถ้าจะอ่านหนังสือต้องไปที่ห้องสมุดในตัวเมือง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านมาก แต่ปัจจุบันเมื่อมีบ้านหนังสืออัจฉริยะทำให้ไม่ต้องเดินทางไกล เดินทางสะดวกมากเพราะอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน และมีหนังสือหลากหลายให้เลือกอ่าน

“ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอมีบ้านหนังสืออัจฉริยะอยู่ใกล้ๆ จะมาอ่านหนังสือเกือบทุกวัน อย่างน้อยมารับรู้ข่าวสารผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลังจากนี้จะช่วยไปบอกต่อให้เพื่อนบ้านมาอ่านหนังสือด้วย อย่างไรก็ตาม หนังสือที่อยากได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีคือ หนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งได้แจ้งกับอาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่านไปแล้ว คิดว่าในเร็วๆ นี้คงจะมีหนังสือที่อยากอ่านมาให้อ่านด้วย”

วิชัย แก้วกิ่ง ชาวบ้านบ้านโนนสมบูรณ์ เสริมว่า การมี “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” อยู่ในชุมชน จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ดีสุดให้แก่บุตรหลาน โดยผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กได้ซึมซับ และกลายเป็นคนรักการอ่านตามมาในที่สุด
แม้การสร้างนิสัยรักการอ่านจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อแน่ว่าอย่างน้อย “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” จะเป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้คนไทยเข้าถึงและอ่านหนังสือกันมากขึ้น

หลังจากนี้คงต้องร่วมกันลุ้นว่า “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้สถิติค่าเฉลี่ยการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และถึงเวลาแล้วที่ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่า…
“วันนี้คุณอ่านหนังสือแล้วหรือยัง!?!”

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34592&Key=hotnews

สกอ.เตรียมทาบทามมหา’ลัยสำรวจความเสียหายแท็บเล็ต

25 ตุลาคม 2556

นายสุภัทร จำปาทอง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ฐานะผู้ประสานงานการสำรวจความเสียหายเครื่องแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 ประจำปีการศึกษา 2555 เปิดเผยว่า ตามที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(สพฐ.) ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประสานกับมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือคณะที่เกี่ยวข้อง ทำการสุ่มตรวจความเสียหายและสาเหตุการเสียหายของเครื่องแท็บเล็ตที่แจกให้นักเรียนในปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งการสำรวจจะแบ่งออกเป็น 4โซน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการสำรวจโดยการสุ่มตรวจ

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า จากการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอให้เชิญผู้เชี่ยวชาญ จาก ม.เชียงใหม่ และ ม.นเรศวร มาช่วยสำรวจความเสียหายแท็บเล็ตในโรงเรียนในภาคเหนือ ม.ขอนแก่น และม.เทคโนโลยีสุรนารี สำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.สงขลานครินทร์ และ ม.วลัยลักษณ์สำรวจภาคใต้ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสำรวจภาคกลาง ทั้งนี้ก่อนจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สกอ.จะหารือร่วมกับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเพื่อวางแนวทางและวิธีการในการสุ่มตรวจ โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนของแผนการสำรวจภายในสัปดาห์หน้า.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34574&Key=hotnews

ศธ.เน้นสอนอาชีพผู้พิการ

25 ตุลาคม 2556

วังจันทรเกษม : กระทรวงศึกษาธิการจับมือกระทรวงแรงงานพัฒนาการศึกษานอกระบบในสถานประกอบการ มอบ กศน. เปิดศูนย์ดูแลผู้พิการ เน้นสอนอาชีพเพื่อสร้างโอกาสในการมีงานทำ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายด้านการศึกษาให้กับคณะผู้บริหารการศึกษา โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าร่วมว่า ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาฯที่ต้องทำให้ทุกคนในชุมชนอ่านออกเขียนได้ และมีงานทำ โดยมีครูอาสารับผิดชอบการสอน ในการรับสมัครครูอาสาในหมู่บ้านต้องมีหลักเกณฑ์ และเพิ่มจำนวนครู กศน. ที่เป็น ข้าราชการให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาฯจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาการศึกษานอกระบบในสถานประกอบการ ด้านการศึกษาอย่างน้อยต้องจบภาคบังคับ เพื่อให้ประชากรวัยแรงงานมีศักยภาพทางการศึกษา เพราะยิ่งการศึกษาน้อยประสิทธิภาพในการทำงานก็น้อยลงด้วย ในส่วนของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ มีศูนย์ดูแลผู้พิการ ซึ่ง กศน. ของไทยก็ควรมีด้วย โดยให้ใช้สถานที่ กศน.อำเภอ, กศน.ตำบล เป็นศูนย์ดูแลผู้พิการ ทำให้ผู้พิการสามารถออกจากบ้านได้และไม่เป็นภาระของคนในครอบครัว โดยจัดรถรับส่งให้ผู้พิการเข้ามาเรียนหนังสือหรือฝึกอาชีพที่ศูนย์ดูแล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาฯมอบนโยบายให้ กศน. จัดการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับความต้องการของชุมชน ให้ครบวงจร อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน โดยทำ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัย แหล่งเรียนรู้ต่างๆมาช่วยในเรื่องวิชาการ การศึกษาดูงาน เช่น ในพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงในด้านวิชา- การ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตลอดจนสถานประกอบการซึ่งจะช่วยในการฝึกอาชีพ ต้องปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนมากที่สุด มีแหล่งเรียนรู้ ที่ทั่วโลกยอมรับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34573&Key=hotnews

ร้องวิทยฐานะเหลื่อมล้ำกลุ่มพีอาร์-นักวิชาการชงแก้ ก.ม./สพฐ.จ่อย้าย ผอ.ด้อยคุณภาพ

25 ตุลาคม 2556

ที่หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 24 ต.ค.56 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดงานประชุมสมัชชาบุคลากรทางการศึกษาว่าด้วยการสร้างความพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีสมัชชาบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) ประมาณ 1,500 คนเข้าร่วม โดยได้เชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มาเป็นประธาน พร้อมกันนี้นายชาญ คำภิระแปง ประธานสมัชชาบุคลากรทางการศึกษา ได้ชี้แจงต่อนายจาตุรนต์ ถึงการเหลื่อมล้ำของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2547 กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา38 ค (1) ได้แก่ ครูผู้สอน ผู้บริหารการศึกษาผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ได้รับเงินวิทยฐานะตำแหน่งชำนาญการ 3,500 บาท และตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (คศ.3) รับเงินวิทยฐานะ 5,600 x 2=12,000 บาทขณะที่บุคลากรฯ ตามมาตรา 38 ค (2) ได้แก่นักประชาสัมพันธ์ นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล และนักจัดการงานทั่วไปตำแหน่งชำนาญการไม่ได้รับเงินวิทยฐานะตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินวิทยฐานะ 3,500 บาท ดังนั้น จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกให้บุคลากรฯ38ค (2) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 13,700 คนทั่วประเทศได้มีสิทธิ์เท่าเทียมกับบุคลากรฯ 38 ค (1) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

ทั้งนี้ นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2547 และ พ.ร.บ.เงินเดือนครู มาตรา 31 วรรค 2 คงต้องแก้ไขกันทั้งระบบและอาจต้องยุบบางตำแหน่งซึ่งต้องวิเคราะห์ให้ดีเพื่อกำหนดภารกิจของงานให้บุคลากรฯ 38 ค (2) จะเข้าลู่เดียวกับบุคลากรฯ 38 ค (1) ได้

วันเดียวกัน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงกรณีงานวิจัยเรื่องพัฒนาการของการทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ที่ระบุถึงการเน้นบทลงโทษโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินภายนอก จะถูกตัดงบประมาณว่างบฯ ปกติที่โรงเรียนจะได้รับการจัดสรร ก็คือเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนอยู่ได้ด้วยงบฯ นี้ ตัดไม่ได้เด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนงบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงบฯพัฒนาสถานศึกษา ก่อสร้างซ่อมแซมอาคารสถานที่ หรืองบฯ อบรมต่างๆ นั้นอาจถูกตัดหรือปรับลดงบฯ ได้ตามดุลพินิจของสำนักงบประมาณ หรือชั้นพิจารณาของกรรมาธิการส่วนการโยกย้ายผู้บริหารหากไม่มีคุณภาพนั้นสพฐ. ต้องทำอยู่แล้ว แต่จะย้ายไปไว้ส่วนใดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกนั้น สพฐ. จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าจะดำเนินการกับกำลังพลเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34572&Key=hotnews

ศธ.เล็งเพิ่มประเภททุน 1 อำเภอ

25 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ว่า ตามที่ ศธ.ได้เปิดรับสมัครผู้เข้ารับทุนตามโครงการดังกล่าวในรอบที่ 2 ซึ่งมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 19,756 คน และจะสอบข้อเขียนพร้อมกันวันที่ 27 ตุลาคมทั่วประเทศนั้น หากมีผู้ผ่านการคัดเลือกไม่ครบตามจำนวนอีก ก็คงจะไม่เปิดรอบ 3 เพราะถึงเวลาที่จะเตรียมการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 จากนั้นจะสรุปข้อดี ข้อเสียรวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของการดำเนินโครงการ เพื่อนำเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการบริหาร โครงการ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อให้มีผู้รับทุนเพิ่มในรุ่นที่ 5 เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกเข้ารับทุนตามโครงการดังกล่าวน้อยลงเรื่อย ๆ

“ในส่วนของหลักเกณฑ์ต่างๆ นั้นจะต้องไปดูเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ เรื่องกำหนดเวลาการรับสมัคร ซึ่งตรงกับช่วงที่นักเรียนต้องสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยพอดี ก็อาจจะพิจารณาปรับเลื่อนเวลาการรับสมัคร ขณะเดียวกันก็อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มประเภททุน เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้เข้ารับทุนมากขึ้น นอกจากนั้นจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการ ให้สามารถเข้าถึงตัวเด็กมากขึ้นด้วย” นางสุทธศรีกล่าว และว่า สำหรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น ที่ 4 ในรอบแรกมีผู้สอบผ่านการคัดเลือกและมีคุณสมบัติครบจำนวน 97 คน จาก ทั้งหมด 1,856 ทุน ยังเหลือทุนอีกจำนวน 1,759 ทุน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34571&Key=hotnews

ถึงเวลาที่รัฐต้อง…ลงทุนผลิตครู…อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

25 ตุลาคม 2556

คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มีพัฒนาการที่ด้อยคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวชี้วัดหลายอย่าง

คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มีพัฒนาการที่ด้อยคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวชี้วัดหลายอย่าง นับตั้งแต่ตัวชี้วัดระดับนานาชาติ ผลสอบ PISA (Programmer for International Student Assessment) ซึ่งจัดสอบโดยองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผลการสอบมีพัฒนาการที่ตกต่ำลงตลอด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่กลุ่มท้าย เช่น บราซิล แม้คะแนนจะต่ำแต่หากพิจารณาจากพัฒนาการเขาดีขึ้น

นอกจากนี้จากการประเมินคุณภาพการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียนในงานเวิลด์อีคอนอมิกฟอรั่ม หรือ WEF ที่เจนีวา ปี 2555 พบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย อยู่ลำดับที่ 6 ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา อยู่ลำดับที่ 8 ตามหลังฟิลิปปินส์และกัมพูชา (เดลินิวส์ : 25 ธ.ค. 2555) และผลการวิจัยแนวโน้มการจัดการศึกษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (The Trends in International Mathematics and Science Study : TIMSS) พ.ศ. 2554 ที่จัดโดย IEA (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement) พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 28 วิทยาศาสตร์อยู่ลำดับที่ 25 จาก 45 ประเทศ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มระดับแย่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วิชาคณิตศาสตร์อยู่ลำดับที่ 34 วิทยาศาสตร์อยู่ลำดับที่ 29 จาก 52 ประเทศ โดยคณิตศาสตร์จัดอยู่ระดับแย่ วิทยาศาสตร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพอใช้ ส่วนการสอบ O-Net ก็มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยของผลการสอบรายวิชาหลักทั้งวิทยา ศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ตกต่ำมาก

การที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อาจมาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย แต่ปัจจัยเหล่านั้น อาจมีอิทธิพลมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ความใส่ใจของผู้ปกครอง นโยบายรัฐที่ไม่เป็นเอกภาพขาดความต่อเนื่อง ระบบการสอนที่ไม่มีการตกซ้ำชั้น การปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งปฏิรูปแต่โครงสร้าง แต่ไม่เคยหันมาปฏิรูปการเรียนการสอนของครูอย่างจริงจัง ผู้บริหารโรงเรียนที่สนใจแต่กายภาพมากกว่าการพัฒนางานวิชาการ และเตรียมโยกย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่กว่าเดิม ศักดิ์ศรีดีกว่าเดิม เป็นต้น แต่ที่แน่นอนที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับยืนยันตรงกันว่าคุณภาพการศึกษาจะต้องเริ่มต้นที่ครูเป็นปัจจัยที่ตรงประเด็นที่สุด

ข้อเขียนชิ้นนี้ ต้องการสะท้อนในมุมของผู้ผลิตครูว่าสถาบันผลิตครู มีส่วนอย่างมากในกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะหากสถาบันผลิตครูด้อยคุณภาพ จะไปหวังอะไรกับคุณภาพครู และหากคุณภาพครูด้อยคุณภาพ ก็อย่าไปหวังว่าคุณภาพการศึกษาจะดีไปกว่าคุณภาพของครูไปได้ (คำกล่าวของ Sir Michael Barber, Minneapolis: 6 August 2009) หากพิจารณาจากพัฒนาการของการอุดมศึกษาไทย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา มีข้อสังเกต ดังนี้

1. ภาครัฐ มีทัศนคติโดยภาพรวมต่อระบบอุดมศึกษาว่า เป็นการศึกษาฟุ่มเฟือย เป็นการศึกษาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศแต่อยู่ในลำดับต่ำ ผู้ที่ต้องการเรียนควรจะลงทุนเอง เพราะเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้เรียนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่อตนเองสูงกว่าผลตอบแทนคืนต่อสังคมโดยรวม รัฐจึงพยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษาไปที่ผู้เรียน จากเดิมรัฐเคยสนับสนุนคนเรียนระดับอุดมศึกษาในสัดส่วนที่อาจสูงถึงร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายจริงต่อการผลิตบัณฑิตหนึ่งคน แต่สภาพปัจจุบันผู้เรียนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก จึงส่งผลให้ค่าเรียนระดับอุดมศึกษาสูงขึ้น แต่จะมีประชาชนสักกี่คนที่เข้าใจว่ารัฐต้องการผลักภาระนี้ให้ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยมิใช่ประเทศสังคมนิยม หรือมีการจัดรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศในยุโรป ที่หากต้องการเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยประชาชนต้องเสียภาษีประมาณร้อยละ 30 เช่น ฝรั่งเศส โปแลนด์ ออสเตรีย เป็นต้น

2. ค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตบัณฑิต รวมทั้งบัณฑิตครูสูงขึ้นมาก แต่การเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษายังไม่สามารถเก็บจนถึงขั้นจุดคุ้มทุนได้อย่างแท้จริง เพราะในมหาวิทยาลัยก็มีการเมืองที่ไร้เหตุผล ทั้งที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงกว่ามหาวิทยาลัยไทยหลายสิบเท่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกร้องเอาอะไรกับคุณภาพทั้งอาคารสถานที่ การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ไม่ต้องอื่นไกล คณะศึกษาศาสตร์ Malaya University ประเทศมาเลเซีย มีงบประมาณมากพอที่จะจ้างอาจารย์เก่ง ๆ ระดับโลกมาเป็นอาจารย์ โดยมีถึงร้อยละ 39 ของอาจารย์ทั้งคณะ ถามว่าคณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยมีงบประมาณมากพอที่จะทำเช่นนี้ได้หรือไม่

3. สภาพการบริหารงานของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยภาพรวม อธิการบดี คณบดี จะต้องรับผิดชอบหางบประมาณมาให้เพียงพอต่อการบริหารงาน นับตั้งแต่เงินเดือนอาจารย์ที่ต้องจ้างเพิ่มเอง งบฯเพื่อขึ้นเงินเดือน งบฯ เพื่อการพัฒนาคณาจารย์และนิสิต งบฯเพื่อการดูแลอาคารสถานที่ ยานพาหนะ และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ทั้งที่ทุกวันนี้รัฐสนับสนุนงบฯ ก้อนโตที่สุดก็เฉพาะงบฯ เงินเดือน การลงทุนสร้างอาคาร (นาน ๆ จะได้รับ) ส่วนงบฯ ดำเนินการผู้บริหารต้องหามาเอง เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ต้องเห็นใจมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ชื่อเสียงยังสู้มหาวิทยาลัยเก่า ๆ ไม่ได้ เมื่อมีนักเรียนมาสมัครมาก ๆ ก็ต้องรับไว้ก่อน ก็เพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของ “ธุรกิจการศึกษา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากใครจะบอกว่า ถ้านักเรียนไม่มีคุณภาพก็ไม่ต้องรับ หรือรับน้อย ๆ ถามว่า “ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเงินเดือนคณาจารย์ ใครจะรับผิดชอบจ่ายแทน ไม่เหมือนสมัยก่อนรับนิสิตนักศึกษามาสอน 5 คนก็อยู่ได้ เพราะรัฐรับผิดชอบทุกอย่าง การคัดเลือกก็เข้มข้น เอาคุณภาพได้ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนจนหย่อนคุณภาพผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมประชุมบอร์ดบริหารของ SEAMEO RIHED ครั้งที่ 21 ที่ National Institute of Education (NIE) ของสิงคโปร์ ในฐานะต้องไปนำเสนอ Country Report เรื่อง ครุศึกษาของประเทศไทย วันที่ 26-29 ก.ย. 2556 และได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์ Oon-Seng TAN คณบดีของ NIE และ Mr.Ng CherPong ผู้ช่วยปลัดกระทรวงด้านนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ สิงคโปร์ เกี่ยวกับปัญหาระบบการผลิตครู ทำให้ทราบว่า สิงคโปร์ถือว่าการผลิตครูเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องลงทุน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบงบประมาณ 100% และลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้กับ NIE เป็นการเฉพาะด้วย รวมถึงมีการลงทุนสร้างห้องเรียนต้นแบบในอนาคตที่ทันสมัยอย่างเต็มที่

4. ระบบการผลิตครูในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หากต้องการคุณภาพที่แท้จริง ต้องมิใช่การจัดการเรียนการสอนแบบแยกส่วน คือ ต้องการผลิตครูวิทยาศาสตร์ก็จะแยกส่วนวิทยาศาสตร์ไปเรียนกับอาจารย์ที่สอนคนให้ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเรียนหลักวิชาชีพครูกับคณะศึกษาศาสตร์ แต่ของ NIE จะจัดสอนโดยคณาจารย์ที่เคยเป็นครูในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อน แล้วนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อเป็นครูวิทยาศาสตร์ใน NIE เพราะครูวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการสอนลงลึกในเนื้อหาแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่การสอนคนให้ไปเป็นครูวิทยาศาสตร์ต้องสอนให้แม่นหลักการพื้นฐาน โดย NIE จะมีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญทั้งหลักวิชาชีพครูและวิทยาศาสตร์ในคนคนเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาหนักที่สุดของประเทศไทย เพราะมีผู้มีอำนาจเชิงนโยบายไม่เชื่ออย่างที่ NIE ปฏิบัติ ทุกวันนี้ได้พัฒนาการไปจนถึงขั้นผลิตครูโดยคณะที่มิใช่ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ใช่มืออาชีพ แล้วจะได้ครูมืออาชีพได้อย่างไร

5. การไม่สนับสนุนไม่ส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์ใน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ส่งผลลบและผลกระทบชัดเจนถึงปัจจุบัน เพราะในอดีตรัฐมีทุนพัฒนาคณาจารย์ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่มาเกือบ 20 ปีนี้รัฐไม่มีทุนสนับสนุนอย่างชัดเจน ทำให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ส่วนใหญ่จบการศึกษาในประเทศ หรือไม่ก็จากประเทศแถบเอเชียที่ไม่ต้องลงทุนสูง ทำให้ศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หวังจะผลิตครูเพื่อไปสอนนักเรียนโดยใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงการจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของอาเซียนยิ่งยากไปใหญ่

6. การยกฐานะวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ การยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัย และการยุบกรมการฝึกหัดครู ส่งผลให้ระบบการผลิตครูของไทยอ่อนแอลงอย่างชัดเจน จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่มีลักษณะคล้าย NIE ของสิงคโปร์ กลับกลายเป็นคณะศึกษาศาสตร์ที่อ่อนแอ มีอาจารย์บางท่านเคยเสนอให้ยุบคณะศึกษาศาสตร์เป็นแค่ภาควิชาก็พอ นับเป็นการเดินนโยบายที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดพิจารณา
1) ยอมรับและปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การผลิตครูต้องเป็นการลงทุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ เป็นสาขาวิชาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสาขาวิชาด้านวิทยา ศาสตร์สุขภาพ อาจต้องรับผิดชอบทั้งระบบ แต่ควรจัดสรรในรูปนักเรียนทุนการผลิตครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

2) ส่งเสริมให้มีสถาบันผลิตครูคุณภาพที่มีลักษณะของการบูรณาการวิชาชีพครูกับความรู้เฉพาะ เพื่อสร้างคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูงในการสร้างคนให้เป็นครูคุณภาพ และหากเป็นระบบปิดได้จะยิ่งทำให้การกำกับคุณภาพทำได้ง่ายขึ้น

3) คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่มีมากถึง 74 สถาบัน ควรปรับเปลี่ยนบทบาทและส่งเสริมให้รับผิดชอบการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) พัฒนาระบบการดูแลครูใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วิชาชีพ (Induction period) ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่วิชาชีพได้อย่างราบรื่น และมีการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มิใช่ปล่อยให้ไปหาทางแก้ปัญหาเองจนบางครั้งสร้างเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาชีพครูไปตลอดชีวิต

5) อนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มการจำกัดจำนวนนิสิต นักศึกษาครูไม่ให้เกินห้องละ 30 คน จะยิ่งกดดันให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตบัณฑิตครูมากขึ้น

6) การดำเนินงานตามแนวทางข้างต้นจะต้องมีคณะทำงานที่ไม่ผูกติดกับรัฐบาลหรือรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย

จากข้อเสนอดังกล่าวหากได้รับการพิจารณาและนำสู่การปฏิบัติบ้าง เชื่อว่า สถานการณ์ปัญหาของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะเปลี่ยนไปสู่กระบวนการเชิงคุณภาพมากขึ้นได้

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34570&Key=hotnews

 

ศธ. พลิกโฉมการศึกษาสู่มิติใหม่ จัดงาน เพื่อการเรียนภาษาและวิเคราะห์

24 ตุลาคม 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน พัฒนากระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบันและรองรับหลักสูตรใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น 1 ใน 8 นโยบายหลัก “รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” นั้น กระทรวงฯ ได้กำหนดจัดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” ขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ โดยจะนำเสนอองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งระบบ โดยเฉพาะเรื่องการสอนภาษา การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเรียนการสอนในโลกยุคดิจิทัล และ ตัวอย่างการเรียนการสอนแนวใหม่ อีกทั้งเป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของครูสอนภาษาต่างๆ ทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งระบบให้เชื่อมโยงกัน

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ภายในงานจะมีการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ “เรียนภาษาเพื่อสื่อสารให้เป็นประโยชน์” “เรียนอย่างไรให้คิดวิเคราะห์เป็น” “การจัดทำมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาระดับอุดมศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครูชาวต่างประเทศ” ซึ่งมีนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน อาทิเช่น ดร. ดวงทิตย์ สุรินทาธิป, ศาสตราจารย์ ฟู่ เจิ้ง โหยว, ศ. ดร. มนตรี จุฬาวัฒนทล เป็นต้น นอกจากการจัดเสวนาดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรมย่อยซึ่งเป็นการเปิดห้องเรียนตัวอย่างสาธิตการสอนภาษาไทยภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายู ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และการเรียนเชิงคิดวิเคราะห์ การนำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษา ตลอดจนการประกวดสุนทรพจน์ภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการและบูทต่างๆ เช่น องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับสำนักปลัดกระทรวงฯ British Council, AUA, Alliance fran?aise, Goethe, ITD, มูลนิธิไกลกังวล, สถาบัน HANBAN สำนักข่าวสารญี่ปุ่น โรงเรียน วิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการทดสอบเพื่อวัดภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เป็นต้น

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34557&Key=hotnews

สพฐ.โต้ตัดงบโรงเรียนตกประเมินชี้เงินรายหัวเด็กห้ามแตะ – ถก ก.ค.ศ.เด้ง ผอ.ห่วย

24 ตุลาคม 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม เปิดเผยข้อมูลผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการของ การทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพระดับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นหัวหน้าคณะวิจัย โดยระบุในส่วนของการประกันคุณภาพว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัด และเน้นบทลงโทษที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น หากโรงเรียนไม่ผ่านการประเมินภายนอกจะถูกตัดงบประมาณ ส่งผลให้โรงเรียนไม่มีงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพ จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงโทษผู้บริหารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ไม่เคยได้รับรายงานเกี่ยวกับการตัดงบประมาณ เพื่อเป็นบทลงโทษโรงเรียนสังกัดสพฐ. ที่ไม่ผ่านการประเมิน คิดว่าประเด็นนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจะให้สพฐ.ไปตัดงบประมาณส่วนไหน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า งบฯปกติที่โรงเรียนจะ ได้รับการจัดสรรคือเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้น พื้นฐาน หรือค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนอยู่ได้ ด้วยงบฯนี้ ตัดไม่ได้เด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนงบฯ อื่นๆ ทั้งงบฯพัฒนาสถานศึกษา ก่อสร้างซ่อมแซมอาคารสถานที่ หรืองบฯอบรมต่างๆ นั้น อาจถูกตัดหรือปรับลดได้ตามดุลพินิจของสำนักงบประมาณ หรือชั้นพิจารณาของกรรมาธิการ

“ส่วนการพิจารณาโยกย้ายผู้บริหารหากไม่มีคุณภาพ สพฐ.ต้องย้ายออกอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ทราบมา ปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นระดับผู้บริหาร แต่หาโรงเรียนไม่เจอ บริหารผ่านโทรศัพท์ แต่คำถามคือ แล้วจะย้ายไปไว้ไหน เพราะไปไหนก็คงมีปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้น หากจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้ สพฐ.ต้องไปตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า กำลังพลเสื่อมเหล่านี้จะจัดการอย่างไร” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34556&Key=hotnews

สพป.พล.1 จัดค่ายลูกเสืออาเซียน เร่งทำคู่มืออังกฤษ-นำร่องภาค 2/56

24 ตุลาคม 2556

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก (สพป.พล.) เขต 1 เปิดเผยว่า สพป.พล.เขต 1 เล็งเห็นความสำคัญของกิจการ ลูกเสือ จึงมีแนวคิดบูรณาการลูกเสือในเขตพื้นที่ฯ ให้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้จัดทำหลักสูตรเข้าค่ายลูกเสือสู่อาเซียนขึ้น เพื่อให้โรงเรียนในสังกัดใช้เป็นคู่มือ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำหลักสูตรภาษาไทย และภาษาอังกฤษสำหรับการเข้าค่าย แบ่งเป็น หลักสูตร 1 วัน สำหรับลูกเสือสำรอง หลักสูตร 2 วัน 3 คืน สำหรับลูกเสือสามัญ และลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

“เนื้อหาหลักสูตร แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ เตรียมความพร้อมก่อนการเข้าค่าย เช่น การเตรียมตัวของครู ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ นักเรียน การจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ขั้นดำเนินการ เช่น ความรู้เกี่ยวกับขบวนการ ลูกเสือ คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ กิจกรรมกลางแจ้ง ระเบียบแถว เกมส์ และขั้นสุดท้าย เป็นเรื่องของการประเมิน และสรุป มีแบบสรุป แบบประเมิน แบบสำรวจว่าการเข้าค่ายบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่โรงเรียนในการจัดกิจกรรมค่าย และฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมค่ายลูกเสือ โดยคู่มือจะแล้วเสร็จปลายเดือนตุลาคมนี้ เมื่อคณะศึกษานิเทศก์ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว จะทดลองใช้กับนักเรียนกลุ่มทดลอง ก่อนนำไปใช้จริงในภาคเรียนต่อไป” นายบุญรักษ์กล่าว

–มติชน ฉบับวันที่ 25 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34555&Key=hotnews

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34555&Key=hotnews