November 2013

ไมโครซอฟท์ ให้สิทธิ์ นศ.ใช้ ‘ออฟฟิศ 365’ ฟรี ยกระดับการศึกษา

28 พฤศจิกายน 2556

“ไมโครซอฟท์” มอบสิทธิ์สำหรับนักศึกษาผ่านโครงการ “Student Advantage” เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลก ใช้บริการ Office 365 เพื่อการศึกษาได้ฟรี…

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเปิดตัวโครงการ “สิทธิประโยชน์สำหรับนักศึกษา” (Student Advantage) สำหรับสถาบันการศึกษาที่เลือกใช้ Office หรือ Office 365 เพื่อการศึกษา ในประเภทไลเซ่นส์ โปรแกรม ออฟฟิศ โปรเฟสชันนอล พลัส (Office Professional Plus) หรือออฟฟิศ 365 โปรพลัส (Office 365 ProPlus) สำหรับคณาจารย์และบุคลากรทั้งสถาบัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป นักศึกษาในสถาบันการศึกษานั้นๆ จะสามารถใช้งานโปรแกรม Office 365 Pro Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งข้อเสนอดังกล่าว จะมอบแก่นักศึกษาทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ บริการ Office 365 เพื่อการศึกษา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน โดยสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น Office ที่ประกอบด้วย Word PowerPoint และ Excel ผ่านทุกดีไวซ์ และจดบันทึกผ่าน OneNote โดยมีข้อมูลที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลา กับพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ (Sky Drive หรือ Sky Drive Pro) ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมั่นใจว่าข้อมูลจะมีความเป็นส่วนตัว

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ We Make 70 Million Lives Better โดยปฏิรูปการเรียนการสอนของผู้สอนให้ทันสมัย ตอบรับความต้องการของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้งานนวัตกรรมไอที และผลิตภัณฑ์นำสมัยอย่าง Office 365 เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และสร้างผู้ริเริ่มนวัตกรรมในอนาคต ด้วยการมอบโอกาสให้เยาวชน สามารถใช้งานโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพผ่านระบบคลาวด์ได้

สำหรับโครงการ Student Advantage เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงโปรแกรมชั้นนำ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในเวอร์ชั่นที่ทันสมัย และอัพเดต ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับนักศึกษา ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษากว่า 35,000 แห่งทั่วโลก ที่ได้สิทธิ์ในการมอบสิทธิประโยชน์การใช้งานให้กับนักศึกษา ตามเงื่อนไขโครงการ Student Advantage โดยอัตโนมัติ ซึ่งกว่า 98% ของนักศึกษาที่ใช้งานซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้ใช้งานไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365โปรพลัส ประกอบไปด้วย แอพพลิชั่นออฟฟิศต่างๆ ที่คุ้นเคยแบบครบวงจร โดยสามารถติดตั้งได้บนเครื่องพีซีหรือแมคได้ถึง 5 เครื่อง และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ได้ถึง 5 ดีไวซ์ และสามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้ เมื่อผนวกการใช้สิทธิ์ในโครงการ Student Advantage พร้อมกับการใช้งานคลาวด์เซอร์วิสของไมโครซอฟท์ อาทิ Exchange Online , SharePoint Online and Lync Online ที่สามารถใช้งานได้ฟรีในบริการ Office 365 เพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ไมโครซอฟท์ เชิญชวนมหาวิทยาลัยที่สนใจร่วมงานสัมมนา “ระบบคลาวด์สู่การศึกษายุคใหม่” เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ประโยชน์ และผลของการใช้งานของบริการ Office 365 จากสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ และรายละเอียดโครงการ Student Advantage โดยงานดังกล่าว จะจัดขึ้นที่สำนักงานบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34945&Key=hotnews

แนะแนวเรียนอาชีวะ 1.2 แสนคน

28 พฤศจิกายน 2556

บอร์ด กอศ.ชี้เอกชนอุดหนุนทุนเรียน ถ้าเด็กไทยไม่สน “พม่า-ลาว” เสียบแทน
ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดยกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือ จัดประชุมสัมนาการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีพ ให้กับครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ

โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการลงทุนมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องน้ำการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหา คือมีบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะตามแผนการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ต้องการกำลังคนถึง 5 แสนคน แต่วันนี้สามารถผลิตช่างเทคนิคได้ไม่ถึง 70% หรือไม่ถึง 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51:49 ขณะที่ปัจจุบันมีนักศึกษาอาชีวะเพียง 2.8 แสนคน ฉะนั้นหากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนคน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองตัวเลขนักเรียน ม.3 ในปัจจุบันที่มี 8.5 แสนคน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงเด็กมาเรียนอาชีวะได้ทันทีภายในปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำได้ภายใน 5 ปีก็ถือว่าไม่สายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความร่วมมือ ในการแนะแนวทางเลือกให้เด็ก อย่าปล่อยให้เป้าหมายอยู่แต่ในกระดาษ ต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะครูแนะแนว ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เด็กมากขึ้น ต้องมีการจัดโรดโชว์ในโรงเรียนมัธยม นักเรียนคนใดชอบเรียนปฏิบัติก็แนะนำให้มาเรียนอาชีวะ เพราะประเทศเราต้องพัฒนาถ้าไม่แนะนำให้เด็กมาเรียนอาชีวะโอกาสพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น และขณะนี้มีบริษัทเอกชน หลายแห่งให้ทุนเรียนอาชีวะมากขึ้น ถ้าเด็กไทยไม่เรียน ต่อไปเด็กจากพม่าและลาวจะมาเรียนและทำงานแทน

“ไม่ว่าใครก็ต้องมีอาชีพ แต่จะเลือกเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกว่าคนเรียนเก่งให้เรียน ม.ปลายสายสามัญ ถ้าไม่เก่งให้เรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพกลายเป็นชนชั้น 2 และสมัยนี้ยังมีปัญหาว่าค่านิยมว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้เด็กก็เรียนไม่ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน เพราะไม่สามารถเรียนในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะมีอัตราแข่งขันสูง อีกทั้งบริษัทชั้นนำ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เกียรตินิยม เพราะมีตัวเลือกมาก ทำให้เด็กจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่เด็กที่เรียนจบ ปวส. จะสามารถทำงานได้ทันที และยังสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของอาชีวะ โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ภาพลักษณ์นั้น”ประธาน กอศ.กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34943&Key=hotnews

นักวิชาการชี้ปฏิรูปครู ศธ.ต้องฟื้นโครงการ “ครูพันธุ์ใหม่”

28 พฤศจิกายน 2556

นักวิชาการ แนะปฏิรูปครูต้องเริ่มต้นที่การผลิต จี้ ศธ.ฟื้นโครงการครูพันธุ์ใหม่ ชี้ข้อดีคัดคนดี คนเก่งมาเป็นครู เสนอไอเดีย เปลี่ยนวิธีให้ทุนตรงที่คณะ ไม่ผ่านมหา’ลัยเช่นที่ผ่านมา

นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบัน กล่าวถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปฏิรูปครูทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการพัฒนาครู ว่า หาก รมว.ศึกษาธิการ จะเดินหน้าเรื่องปฏิรูปครูทั้งระบบนั้น อันดับแรกที่ต้องทำ คือ คิดหาวิธีจูงใจให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู โดยเฉพาะควรเร่งเดินหน้าโครงการครูพันธุ์ใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี ที่สามารถคัดคนเก่ง คนดีมาเป็นครูได้ แต่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ต้องหาวิธีการที่จะให้สถาบันฝ่ายผลิตลดจำนวนการผลิตลงด้วย เนื่องจากขณะนี้แต่ละสถาบันต่างฝ่ายต่างผลิต จนทำให้มีบัณฑิตครูออกมาจำนวนมากแต่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ โดย ศธ.อาจจะใช้วิธีการส่งทุนโดยตรงมาที่คณะครุศาตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ต้องผ่านสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยโดยตรง เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างในการหารายได้ และรับนักศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มากเกินความจำเป็น ส่วนการใช้ทุนอาจจะทำลักษณะเดียวกับทุนผลิตแพทย์ ที่ให้ทุนผ่านคณะโดยตรง และคณะเองก็สามารถไปกำหนดจำนวนรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ วิธีการนี้จะช่วยลดการผลิตในเชิงปริมาณได้มาก

“ภาครัฐเองก็จะต้องมีความชัดเจน ในเรื่องจำนวนความต้องการครูในว่ามีเท่าไหร่ และสาขาใด เพื่อช่วยให้สถาบันมีความชัดเจนในการผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันต่อไปศธ.ควรจะต้องมีการประเมิน และยกระดับคุณภาพการผลิตครูของแต่ละสถาบันโดยควรจะต้องมีสอบใบประกอบวิชาชีพครูทุกปี ไม่ใช่ว่าจบครู 5 ปี แล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แน่ใจว่าได้คนที่มีคุณภาพจริง ๆ มาเป็นครู” นายประวิต กล่าว

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34942&Key=hotnews

24 โรงเรียน กทม. ปิดเรียนต่อถึง 28 พ.ย.

27 พฤศจิกายน 2556

กทม.สั่งให้ปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.ในเขตพื้นที่ชุมนุม จำนวน 24 โรงเรียน จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ สพฐ. ให้อำนาจผู้อำนวยการตัดสินใจสั่งหยุดการเรียนการสอน หากเห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อเด็กและครู

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกทม. เปิดเผย หลังจากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการกระจายไปยึดที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานของ กทม.ปรับแผนปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดกทม. จำนวน 24 โรงเรียนในพื้นที่ 3 เขตคือ เขตพระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อไปจนถึงวันที่ 27-28 พ.ย.56 ส่วนโรงเรียนในเขตอื่นๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนที่ไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการสั่งปิดการเรียนการสอนหรือไม่ ทั้งนี้ กทม.จะมีการสอนชดเชยให้กับนักเรียนของกทม.ที่มีการปิดการเรียนการสอน เพื่อให้ครบตามหลักสูตร

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้จัดเวรยามดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตามอาคารสถานที่ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบริเวณพื้นที่การชุมนุม เพราะเป็นห่วงมือที่สามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ และยืนยันว่าในวันที่ 26 พ.ย. ข้าราชการและผู้บริหาร ยังคงเข้าทำงานตามปกติ โดยในวันนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้นัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ที่กระทรวงศึกษาธิการ

นายอภิชาติ จีรวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนต่างๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนในการสั่งปิดการเรียนการสอนได้ หากเห็นว่าสถานการณ์สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อเด็กและครู โดยโรงเรียนมีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 15 วัน จะเป็นอำนาจของเลขาธิการ สพฐ. สั่งปิดโรงเรียน ในส่วนของครูและนักเรียนที่จะไปร่วมชุมนุมนั้นถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้ปิดการเรียนการสอน ถ้าครูต้องการจะไปร่วมชุมนุมก็ต้องใช้วิธีขอลาราชการตามสิทธิ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34939&Key=hotnews

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

26 พ.ย.56 นักศึกษา และเพื่อนอาจารย์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
ประกอบด้วย นายไวภพ ตุ้ยน้อย อาจารย์วิเชพ ใจบุญ และนายณภัทร เทพจันตา
เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.56
โดย กสทช. จัดเวิร์กช็อปนักศึกษา
เรื่อง ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
(Threats on Cyber security and Its Implication on Thai Culture Workshop)

ตามที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทุกประเทศในโลกมีอัตราการเติบโตของปริมาณผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่เรียกกว่า สมาร์ทโฟน ขึ้นสูงมาก วิวัฒนาการได้ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ตนเองได้ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนดังกล่าว ทำให้เกิดช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดี และแฮคเกอร์ต่างใช้โอกาสนี้ในการโจรกรรมข้อมูล และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ใช้เครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะเฟชบุ๊คในกรุงเทพมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ยิ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮคเกอร์ได้โดยง่าย

กสทช. เห็นความสำคัญ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย ทุกภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมประชุมใช้วัฒนธรรมนำชีวิต รู้จักใช้วัฒนธรรมในโลกไซเบอร์ รู้จักวิธีป้องกันปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม และเพื่อสร้างความตื่นตัวของภาคการศึกษา ประชาชนและกรรมการสภาวัฒนธรรม ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน นักธุรกิจ และประชาชนที่สนใจ

http://www.pracharkomnews.com/hilight/%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81/

‘จาตุรนต์’ แนะสพฐ.ประชาพิจารณ์หลักสูตรก่อนใช้

26 พฤศจิกายน 2556

“จาตุรนต์”  แนะสพฐ. ส่งหลักสูตรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและเปิดสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก่อนนำไปใช้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ได้ประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2556 ขอให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาวิธีและกระบวนการที่เหมาะสมในการออกแบบ การจัดทำ ปรับปรุงหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล โดยขอให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเป็นผู้รับรองหลักสูตร และต้องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการลงนามก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้วจะมีการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย เช่น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

นอกจากนี้ในการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นควรให้หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แม้จะมีการประชุมรับฟังที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่มมาแล้วหลายจุด พบว่ายังมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องหลักสูตร บางรายเห็นว่าหลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน

ดังนั้น หากจัดให้มีการประชุมแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องมากๆ ได้มาพูดคุยหารือร่วมกันจะทำให้รู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรบ้าง และที่จำเป็นมากต้องให้คนทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครองทุกคน หากประชาชนในวงกว้างได้รับความรู้ความเข้าใจในความจำเป็น เนื้อหา รายละเอียดของการปรับปรุงหลักสูตร ก็จะสร้างความเข้าใจ เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปหลักสูตรประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นอุปสรรค และที่สำคัญเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้กระบวนการต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของ ศธ. และคนทั้งสังคม เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34936&Key=hotnews

ชี้เรียนอาชีวะโอกาสก้าวหน้าดีกว่าปริญญาตรี

26 พฤศจิกายน 2556

ภาคอุตสาหกรรมตั้งคำถามผู้ปกครองบังคับลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ ชี้เรียนอาชีวะมีโอกาสดีกว่ามาก เผย 3-5 ปีข้างหน้า 40 อุตสาหกรรมไทยขาดแรงงานกว่า 3.8 แสนคน ย้ำถ้าไม่พัฒนาทักษะฝีมือให้เด็กไทยก็ทำได้แค่แย่งงานแรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมือ

วานนี้ (25พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาให้มีกำลังคนที่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ” ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียนมัธยม ครูแนะแนว โรงเรียนเอกชน เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานกศน.เข้าร่วมกว่า 1,500 คน โดยดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะทำให้มีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มอีกเป็นแสนคน รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญเป็น 51 ต่อ 49 ภายในปี 2558 ซึ่งในปีนี้มีความพยายามรณรงค์เชิญชวนเด็กม.3 แต่ในปีหน้าจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รณรงค์ทำความเข้าใจกับเด็กตั้งแต่ชั้น ม.1 โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่การสอนเด็กได้รู้จักสำรวจตนเองว่ามีความถนัดด้านใด เป็นการทำความรู้จักตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตควรจะเดินไปทิศทางใด และสามารถเลือกศึกษาต่อได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องมีทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

น.ส.บุณฑริก กุศลวิทย์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีพลเมืองรวมกันกว่า 600 ล้านคน หากรวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีหรืออินเดียก็จะมีกำลังการบริโภคมหาศาล ในขณะที่การท่องเที่ยวได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว ทำให้งานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ งานโรงแรมและการบริการจึงต้องการบุคลากรอีกจำนวนมาก แม้แต่ทุกชาติในอาเซียนก็พูดตรงกันว่าขาดแคลนแรงงานด้านนี้เหมือนกันทุกประเทศ เฉพาะประเทศไทยก็คาดว่าในปี 2015 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 2.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน ดังนั้นการเรียนสายอาชีพจึงมีอนาคตที่ดี ซึ่งในส่วนของโรงแรมจะรับนักศึกษา ปวช.มาฝึก 2 ปี โดยให้ฟรีทุกอย่าง และยังจ่ายค่าแรงให้อีกด้วย เมื่อเรียนจบแล้ว หากจะเรียนต่อปริญญาตรีก็ยังให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งบริหารได้มากกว่าคนที่เข้ามาทำงานด้วยวุฒิปริญญาตรี

“เส้นทางความสำเร็จในชีวิตมีอยู่หลากหลาย แล้วทำไมครูแนะแนวจึงไม่เติมเต็มข้อมูลเหล่านั้นให้นักเรียน เพื่อช่วยให้เขาค้นพบเส้นทางเดินชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง และได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีความสุข” น.ส.บุณฑริก กล่าว

ในขณะที่นายพงศ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ ประธานอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในอีก 3-5 ปี 40 อุตสาหกรรมของไทยจะขาดแคลนแรงงานระดับฝีมือถึง 3.8 แสนคน ในขณะที่เรามีแรงงานต่างด้าวอยู่กว่า 3.7 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ตนจึงอยากถามว่าเราจะให้เด็กไทยไปแย่งงานแรงงานไร้ฝีมือเหล่านั้นหรือจะพัฒนาคนของเราให้เป็นแรงงานฝีมือซึ่งยังมีความต้องการอีกมหาศาล เมื่อจบแล้วไม่ตกงานแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรณรงค์ให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพนั้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครอง ไม่ใช่เด็ก ครูแนะแนวจึงต้องเป็นผู้ชี้แจงกับผู้ปกครองให้เข้าใจ ซึ่งตนอยากให้ถามผู้ปกครองว่าการที่อยากให้ลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ เป็นการบังคับให้ลูกเรียนเพื่อสนองตนเอง หรือสนองลูกกันแน่ ดังนั้นเด็กต้องลุกขึ้นมาค้นหาตัวตนให้ได้ว่าต้องการอะไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจเส้นทางชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34937&Key=hotnews

ก.ค.ศ.เสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี

26 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการผลิตและพัฒนาครู เปิดเผยว่า จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีการเสนอความคิดเห็นหลายประเด็น อย่างระบบความก้าวหน้าของวิชาชีพข้าราชการครูยังไม่ชัดเจนเพราะไปผสมอยู่กับระบบราชการ ไม่ได้เป็นระบบวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ

ทางด้าน นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประธานคณะทำงานการผลิตครู กล่าวว่า กำลังรวบรวมความคิดเห็นจากการประชุมซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการจะสร้างคุณภาพนักเรียน จะต้องไปเสริมสร้างอะไรได้บ้าง อย่างการผลิตครูควรจะต้องไปผูกกับการบรรจุครูเพราะก่อนการผลิตครู จะไม่รู้ว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วจะไปอยู่ที่ไหนบ้าง

ส่วนแนวคิดการเสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี นั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปซึ่งหากจะต่ออายุราชการน่าจะต้องดูเป็นรายโรงเรียนที่มีความจำเป็นต่อคุณภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องประชุมหารือกันอีกหลายรอบเพื่อหาข้อสรุปกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

ขณะที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เสนอแนวคิดการต่ออายุราชการครูจาก 60 ปี เป็น 65 ปี แต่จะต้องเป็นข้าราชการครูในสาขาที่ขาดแคลน ครูในท้องถิ่นที่มีความต้องการครูเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการต่ออายุราชการด้วย เช่น การกำหนดวิทยฐานะขั้นต่ำที่จะต่ออายุราชการได้ อาจจะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต่ออายุราชการให้อาจารย์ที่จะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องการต่ออายุราชการครูอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายละเอียดของสำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ จะลดปัญหาการขาดแคลนครูได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน

Source – มติชนออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34935&Key=hotnews

ศธ.ประสานกรมสรรพากร ยกเว้นภาษีให้กับสถานศึกษาเอกชน

25 พฤศจิกายน 2556

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การจัดการศึกษาของเอกชน ที่ขณะนี้ประสบปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหาการคิดอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันการคิดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ผลการประเมินมีความหลากหลาย อีกทั้ง อัตราภาษีก็คิดในรูปแบบธุรกิจบริการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาเนื่องจากการจัดธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่มีรายได้เหมือนธุรกิจบริการต่างๆ ที่มีรายได้มาก ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างประสานกรมสรรพากร เพื่อขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรการโอนภาษีที่ดินให้กับสถานศึกษาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอขอให้คิดในอัตราต่ำสุดที่ 1-2% ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาในเรื่องของการเสียภาษีนำเข้าสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการคิดในอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เสนอว่าอยากให้มีการลดหย่อนภาษีหรือคิดในอัตราภาษีการศึกษาแทน ซึ่งขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสถานประกอบการด้วยว่าการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้นยังไม่มีผู้เรียนเข้าร่วมตามเป้าหมายอย่างพอเพียง จึงเสนอว่าอยากให้อาชีวศึกษาเอกชนเข้าร่วมกับสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี 100% นอกจากนี้มีข้อเสนอด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สถานประกอบการในตำบลหรือในจังหวัดที่อยากได้คนเข้าทำงานจัดสรรทุนให้เด็กอาชีวะ โดยทำเป็นโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน ซึ่งจะมีรูปแบบคล้าย1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งจะเป็นการจูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะเพราะได้เรียนฟรี หรืออาจจะจูงใจว่าเมื่อมาเรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการด้วย

นางสุทธศรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการขออนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะไปทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหากจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาต่างๆ ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อดูแล ได้แก่คณะทำงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาภาษีโรงเรือนการลดหย่อนภาษี คณะทำงานดูแลกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน คณะทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งจะรวมถึงการดูแลการจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพมาตรฐานและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการกับภาคเอกชนด้วย

ที่มา: http://www.naewna.com

เล็งแก้โจทย์ 15 ปี ปั๊มครูเกิน 2.8 แสน

25 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ” ซึ่งที่ประชุมได้หารือเรื่องการผลิตและพัฒนาครูเพื่อรองรับอัตราที่จะเกษียณอายุราชการในระยะยาวก่อน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พบว่า อีกประมาณ 10 ปี (2556-2565) จะมีครูเกษียณอายุราชการประมาณ 2 แสนคน ถึงปี 2570 ประมาณ 2.8 แสนคน เฉลี่ยจะมีครูเกษียณอายุราชการปีละประมาณ 2 หมื่นคน ขณะที่ตัวเลขการผลิตครูแต่ละปีประมาณ 5 หมื่น เท่ากับว่า ในช่วง 10 ปี จะมีครูเกิน 3 แสนคน 15 ปี เกิน 4.5 แสนคน ซึ่งเกินจำนวนครูเกษียณอายุราชการ 2.5 เท่า เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน ควบคุมปริมาณในการผลิตครู และวางแผนดูแลครูที่จบเกินอยู่ขณะนี้ รวมถึงครูอัตราจ้างในระบบมี 6 หมื่นคน โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่างๆ ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ สถาบันผลิตครูจะรับนักศึกษาครูกันตามอัธยาศัยต่อไปไม่ได้แล้ว จะทำให้ปัญหาอัตราครูเกินสะสมไปเรื่อย

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1 เพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งรับทราบสรุปการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะยังมีความเห็นต่างกันมาก บางรายเห็นว่า หลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน ฯลฯ
ด้าน นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมโดยทั่วไปเห็นด้วยที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลต่างๆ ทั้งในแง่ของการนำหลักสูตรไปใช้ การปรับตัวของครูผู้สอน รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน ซึ่งเดิมจะใช้ศึกษานิเทศก์ แต่ระบบใหม่จะต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ นายจาตุรนต์จึงไฟเขียวให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวขึ้น ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและวิจัยหลักสูตร เพื่อให้หลักสูตรมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ไปหยุดนิ่ง รวมถึงสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัย ทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34922&Key=hotnews