นักเลงคีย์บอร์ด (itinlife472)

มีโอกาสฟังเพลงนักเลงคีย์บอร์ดที่ขับร้องโดยแสตมป์ ซึ่งเนื้อเรื่องในคลิ๊ปวีดีโอสะท้อนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กนักเรียนหญิงสองคนที่ดูเหมือนมีความรักต่อกัน สื่อสารกันผ่านโปรแกรมไลน์ (line) นานนับปี จนกระทั่งต่างบอกรักกันและกันอย่างสนิทสนม เหตุการณ์คือเป็นการนัดพบครั้งแรกของทั้งสองที่ไม่เคยพบกัน ไม่ทราบประวัติของกันและกันมาก่อน เมื่อถึงเวลานัดพบฝ่ายที่โกหกว่าตนเองเป็นผู้ชายชื่อน้องแบงค์ได้เห็นหน้าของฝ่ายหญิงที่ใช้ชื่อว่าน้องพิมพ์กลับไม่ได้แสดงตัว แต่เดินหนีออกมาจากจุดนัดพบ และปล่อยให้น้องพิมพ์ผิดหวังที่อีกฝ่ายผิดนัด โดยให้เหตุผลว่าไม่กล้าพูดออกไป เพราะถนัดที่จะพิมพ์มากกว่า เมื่อทุกอย่างผ่านไปกลับแก้ปัญหาด้วยการลบตัวตนของน้องแบงค์ทิ้ง แล้วตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่าน้องต้น เพื่อเข้าไปพูดคุยกับน้องพิมพ์อีก เป็นการเริ่มต้นโกหกครั้งใหม่และหลอกว่ามีเพศเป็นชายอีกครั้ง

คำว่านักเลง (Gangster) คือ คนที่จริงจัง มุ่งมั่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงคนเกะกะเกเร เช่น นักเลงรถคือคนที่มุ่งมั่นจะศึกษาเรื่องรถ นักเลงพระคือคนที่สนใจเรื่องพระเป็นพิเศษ ดังนั้นนักเลงคีย์บอร์ดคือคนที่มุ่งมั่นจะสื่อสารผ่านแป้นพิมพ์บนสมาร์ทโฟนมากจนทำให้การสื่อสารด้วยการพูดคุยโต้ตอบ หรือส่งเสียงแลกเปลี่ยนซึ่งหน้าด้อยลงไป กรณีของมิวสิกวีดีโอนี้ก็เช่นกัน สะท้อนว่าน้องที่ใช้ชื่อว่าแบงค์ติดกับสังคมก้มหน้ามากเกินไป ไม่เคยชินกับการใช้คำพูดในการสื่อสาร แต่ถนัดการใช้แป้นพิมพ์จนสามารถเลือกใช้คำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดจากปากกลับรวบรวมความกล้าไม่ได้และเลือกหนีความจริงกลับไปอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ไม่มีใครรู้ จะโกหกคนที่รักซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่มีใครมาว่ากล่าวตักเตือน

น่าเสียดายที่คลิ๊ปนี้ไม่ได้สอนให้เยาวชนตระหนักถึงผลเสียของการโกหกให้ชัดเจนกว่านี้ แต่กลับเปิดมุมมองว่าสมาชิกของสังคมก้มหน้าสามารถโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีก ปล่อยให้คิดต่อเองว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละคน แต่ถ้าคลิ๊ปนี้เพิ่มบทเรียนเชิงลบจากการโกหกให้ชัดเจนขึ้น ก็อาจช่วยให้ผู้คนลดการโกหก ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการสื่อสารซึ่งหน้าเพิ่มขึ้น ลดบทบาทสังคมก้มหน้าลง เพราะในชีวิตจริงผู้คนรอบตัวเรายังรอคอยการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้าอย่างจริงใจ มิใช่อยู่ด้วยกันแต่เหมือนต่างคนต่างอยู่อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน