สสวท.ดันระบบ”สเต็มศึกษา” เพิ่มศักยภาพแข่งขันประเทศ

26 เมษายน 2556

สสวท.ดันระบบ “สเต็มศึกษา” พัฒนาศักยภาพแข่งขันไทย ตั้งเป้าพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นร.ทุกระดับชั้นปีละ 4% โดยวัดผลจากคะแนนโอเน็ต ชี้หากไม่รีบพัฒนาจะตกกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สูญเสียอำนาจแข่งขัน ขณะที่ผลวิจัยการศึกษาไทยชี้ 20 ปีการศึกษาไทยยังไม่กระเตื้อง ขวัญสรวงแนะตีกรอบแก้ปัญหารายพื้นที่ อย่าหวังแก้ทั้งระบบ เพราะเป็นเรื่องยาก

ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท.ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี พ.ศ.2555-2559 ตั้งเป้าพัฒนาเด็กไทยให้มีความสามารถระดับนานาชาติภายในปี 2570 หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของนักเรียนทุกช่วงชั้นจะต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งจะวัดผลจากการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) โดยจะใช้ระบบ STEM Education หรือ “สเต็มศึกษา” เป็นกลยุทธ์หลักในการพัฒนา
ด้านการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ จะมีการตั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.การตั้ง “สเต็มอคาเดมี” 10 จังหวัด เพื่อนำร่องโครงการ กระจายอยู่ใน 4 ภาคของประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเลือกจังหวัดที่เหมาะสมในการจัดตั้ง ซึ่ง สสวท.จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) ในการดำเนินการ ส่วนบทบาทหน้าที่ของสเต็มอคาเดมี จะมีผู้เชี่ยวชาญ และสเต็มแอมบาสเดอร์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ที่สนใจ อันได้แก่ ครู นักเรียน ผู้มีความสามารถพิเศษหรือประชาชนทั่วไป

หน่วยงานที่ 2 คือ “iStem” เป็นคลังความรู้ ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งใน iStem นี้จะมีคลังความรู้ ตำราหรืออุปกรณ์ที่น่าสนใจ หน่วยงานที่ 3 คือ Hall of fame เป็นหอเกียรติยศที่รวบรวมผู้มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบสเต็มและเป็นแรงจูงใจแก่นักเรียนนักศึกษา
ประธานบอร์ด สสวท.กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ สสวท.ต้องการผลักดันระบบสเต็มศึกษาให้เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าหากเรายังไม่พัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราก็จะสูญเสียศักยภาพการแข่งขันไปเรื่อยๆ เพราะระบบสเต็มจะตอบคำถามให้กับผู้เรียนวิทยาศาสตร์ได้ว่า เรียนไปแล้วสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง และระบบสเต็มยังทำให้เกิดการบูรณาการในความรู้ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

“ตอนนี้เราเป็นประเทศมีรายได้ระดับปานกลาง หรือ Middle income แต่ถ้าเราไม่พัฒนาศักยภาพการแข่งขัน เราจะตกอยู่ในช่วง Middle income trap หรือตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และเอสเอ็มอี เราจะตายหมด เหลือเพียงธุรกิจผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ดังนั้นเราต้องหลุดพ้นจากช่วงนี้ไปให้ได้ด้วยการต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เราต้องเปลี่ยนความคิดพื้นฐานของเรา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ พลิกสถานการณ์ หรือที่เรียกว่า Game changer ยกตัวอย่างเช่น การมีระบบ 3G หรือสมาร์ทโฟน ก็เป็น Game changer”

วันเดียวกัน ที่บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบการศึกษาไทยขั้นพื้นฐาน (จากอนุบาลถึงมัธยมปลาย) ความก้าวหน้าและความล้มเหลว” โดย ดร.สุธรรม วาณิชเสนี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคเชิงระบบ ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย เปิดเผยวิจัยที่ใช้ระยะเวลาศึกษากว่า 2 ปีว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าการศึกษาไทยไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย โดยเฉพาะเรื่องผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เทียบจากผลสอบโอเน็ต

และผลสอบโครงการวิจัยนานาชาติ (พิซา) ทั้งที่ไทยมีการปฏิรูปการศึกษาและและโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากมาย 2 ทศวรรษ จนเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร

ดร.สุธรรมกล่าวอีกว่า การวิจัยได้ลงลึกทั้งระบบการศึกษาไทยเพื่อดูแต่ละปัญหาว่ามีอะไรบ้าง แล้วเกิดได้อย่างไร และส่งผลกระทบต่ออย่างไร ซึ่งทำให้พบว่า ไม่ว่าจะจับที่จุดไหนของระบบก็พบปัญหาการศึกษาทั้งนั้น เพียงว่าจะมีปัญหามากหรือน้อย อาทิ อย่างเรื่องการผลิตครูล้น ได้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสอบเป็นครูผู้ช่วย เกิดการทุจริตสอบบรรจุ ได้ครูไม่เก่งเข้าไปในระบบ ส่งผลต่อคุณภาพการสอน ผลสัมฤทธิ์นักเรียนตกต่ำ เป็นต้น ขณะที่โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งแต่ระดับบนสุดลงมาล่างสุด ก็มีการดำเนินงานที่สลับซับซ้อน อาทิ การบริหารโรงเรียน ต้องขึ้นกับเขตพื้นที่การศึกษา และขึ้นกับ ศธ. ส่วนการบริหารงานบุคคล โรงเรียนต้องขึ้นกับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ และต้องไปขึ้นกับ ก.ค.ศ. และคุรุสภา โดยจะสังเกตได้ว่ากว่าเด็กคนหนึ่งจะจบการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องผ่านระบบมากมาย เพราะมีการกระจายอำนาจที่ยังดึงๆ กันอยู่

“ผลวิจัยชี้ชัดว่าระบบการศึกษาไทยอ่อนแอทุกส่วน แต่ที่ผ่านเราเลือกจะแก้ปัญหาแค่บางส่วน แต่หวังจะให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ฉะนั้นผลวิจัยเสนอว่าหากจะแก้ปัญหาทั้งระบบจริงๆ จะต้องเข้าใจปัญหาทั้งหมดก่อน และแก้ปัญหาทั้งระบบไปด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้”
นายขวัญสรวง อติโพธิ วิทยากรด้านการพัฒนาเมืองและพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาการศึกษาทั้งระบบ เพราะการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ขณะที่การแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย หากมองภาพรวมแล้ว คิดหาทางแก้คงทำได้ยาก เพราะมีมากและหลากหลาย ฉะนั้นอยากให้ตีกรอบแคบ โดยอาจแบ่งเป็นรายพื้นที่จังหวัด แล้วแก้ปัญหาให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจะดีกว่า อาทิ รร.ในจังหวัดเพชรบุรี มีทั้ง รร.ชั้นนำในเมืองและ รร.ขนาดเล็กในชนบท เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำการพัฒนา อันนำไปสู่ปัญหา รร.ขนาดเล็ก และการแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น.

ที่มา: http://www.thaipost.net

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32524&Key=hotnews

Leave a Comment