สกศ. และ วช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์การศึกษา

9 พฤษภาคม 2556

รองฯ พงศ์เทพ และ รมต.นร. ศันสนีย์ฯ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ก้าวไกลและมีประสิทธิภาพ

วานนี้ (8 พ.ค. 56) เวลา 13.30 น. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์การศึกษาในการกำหนดเป็นนโยบายการบริหารหรือแก้ไขปัญหาของประเทศ ณ ห้องเวิลด์บอลรูม B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงนามฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักสกศ.และ วช. ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการบูรณาการร่วมมือกันอย่างมีทิศทาง เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมงบประมาณเพื่อการวิจัยทางด้านการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นการกระจายทางด้านการศึกษาในสังคมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ และรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ก้าวไกลอย่างมีหลักวิชาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นความเห็นร่วมกันระหว่าง สกศ. และ วช. ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการศึกษา มีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการการศึกษาของประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านงานวิจัย และมีหน่วยงานภาคีหลักสำหรับความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์การศึกษา เพื่อให้การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศตลอดจนการดำเนินงานและการจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ ยั่งยืน และเป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความร่วมมือและบูรณาการในทุกภาคส่วน เพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างระบบการศึกษาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ในระยะยาว

บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลก และกำหนดกรอบทิศทางการวิจัย รวมทั้งประเด็นวิจัยสำคัญด้านการศึกษาของประเทศ พร้อมเสนอนโยบายยุทธศาสตร์และข้อมูลต่อฝ่ายบริหาร/รัฐบาล ตลอดจน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการศึกษา รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือแบบบูรณาการในการศึกษาวิจัยด้านการศึกษาของประเทศ พัฒนาการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและการลงทุนในเรื่องสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญคือ เพื่อให้ประเทศไทยมีคลังข้อมูลการวิจัยด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
…………………………
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
พัณณ์วรินทร์ รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32648&Key=hotnews

Leave a Comment