ชง ครม.ตั้งบอร์ดปฏิรูปหลักสูตร-ตำราแห่งชาติ หวั่นการเมืองล่ม! ไร้คนสานต่อ

9 พฤษภาคม 2556

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปหลักสูตร ว่าจากการหารือของประธานกลุ่มการเรียนรู้ทั้ง 6 กลุ่ม ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดกลุ่มการเรียนรู้ โดยนำกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม มาบูรณาการร่วมกัน จนลงตัวเหลือ 6 กลุ่มการเรียนรู้และจะไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว แต่รายวิชาต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างรวบรวม ซึ่งสามารถลดหรือเพิ่มขึ้นได้ แล้วแต่จะมีผู้เสนอ โดยจะมีกลุ่มคัดกรอง โดยใช้หลักของกรอบเวลาในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงชั้น เช่น ชั้นประถมไม่เกิน 800 ชั่วโมง/ปี, ม.ต้น 900 ชั่วโมง/ปี, ม.ปลาย 1,000 ชั่วโมง/ปี เป็นต้น ทั้งพิจารณาเนื้อหาสาระที่จะเรียนรู้ โดยต้องเป็นเนื้อหาที่เป็นพื้นฐาน เพื่อนำไปต่อยอดในการหาความรู้ในชั้นสูงต่อไป ดังนั้น ความรู้ที่ครูสอนในห้องเรียนจะเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อยอดความรู้เท่านั้น

“กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) หรือสเต็ม จะเน้นเรียนรู้แบบการทดลอง กลุ่มการเรียนรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะเน้นการเรยนรู้ร่วมกับชุมชน ทั้งนี้ที่ประชุมแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแตกต่างกันของโรงเรียน ชุมชน โดยเฉพาะการทดลองวิทยาศาตร์ ซึ่งการจะให้เด็กเรียนรู้ต้องมีเครื่องมือที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจะต้องดึงศูนย์วิทยาศาสตร์ ของ กศน. และเปิดห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้เด็กได้หมุนเวียนกันเข้าไปเรียนรู้ วิธีดังกล่าวจะทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลมีเครื่องมือทัดเทียมกับเด็กในเมือง ทั้งนี้ จะไม่เน้นการสร้างห้องทดลองใหม่ แต่จะใช้ศูนย์วิทย์หรือห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ ยกเว้นบางพื้นที่ที่ไม่มีจริงๆ จะจัดสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม”

นายสมพงษ์ กล่าวและว่า สิ่งที่เป็นห่วงประการต่อมาคือ ครูผู้สอน ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 3 ปี ในการอบรมครู โดยแบ่งครูเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องใช้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงอบรม และกลุ่มที่อบรมโดยอาศัยเทคโนโลยสารสนเทศ โดยคาดหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครูได้ผลระดับหนึ่ง รวมทั้งจะนำตัวอย่างครูสอนดีของ สสส. สสค. สกว.มาเผยแพร่แก่ครูด้วย

“การปฏิรูปหลักสูตรต้องใช้เวลา และความจริงจังในการดำเนินการของฝ่ายการเมือง ซึ่งกรรมการเป็นห่วงว่าประเด็นทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปหลักสูตร หากการเมืองไม่นิ่งและขณะนี้ก็มีแนวโน้มยุบสภา จะทำให้การปฏิรูปหลักสูตรชะงัก ดังนั้นที่ประชุมจึงได้หาทางออกโดยจะเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งโดยมติ ครม. เพื่อให้กรรมการชุดนี้ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือยุบสภา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเสนอเรื่องเข้า ครม.” นายสมพงษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดว่าปี 2557 จะสามารถทำการประชาพิจารณ์และเตรียมครู และจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ได้ในปี 2558

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มั่นใจว่าอีกประมาณ 5 เดือนข้างหน้าร่างปฏิรูปหลักสูตรจะแล้วเสร็จ การเรียนการสอนแบบใหม่จะไม่เน้นเรื่องการท่องจำและสิ่งที่ไม่จำเป็น ดังนั้นครูจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้เพื่อทำความเข้าใจกับหลักสูตรใหม่ ตอนนี้ ศธ.เดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรอย่างเต็มที่ และประชาชนจะต้องเห็นความสำคัญในการปฏิรูปหลักสูตร ดังนั้นไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะสามามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปหลักสูตรเพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้คิดเป็น ทำเป็นได้

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32649&Key=hotnews

Leave a Comment