ครูภาคเหนือชี้ยุบโรงเรียนเด็กเล็กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

10 พฤษภาคม 2556

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาภาคเหนือ ชี้ยุบโรงเรียนเด็กเล็กมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผู้บริหารโรงเรียนในอ.ฝาง มองว่า การยุบโรงเรียนต้องคำนึงให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ครูในอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอย ไม่เห็นด้วยยุบโรงเรียนในท้องถิ่นธุรกิจกันดาร เพราะเด็กอาจต้องเดินทางไกล และทำให้การขยายโอกาสทางการศึกษาลดลง

ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า นโยบายยุบรวมโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการนั้นมาจากการที่โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีคุณภาพการศึกษาต่ำ โดยผลการประเมินของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมีจำนวนครูไม่เพียงพอและไม่ครบถ้วนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่กระทรวงกำหนดไว้ เมื่อประกอบกับการจัดสรรงบประมาณที่ต้องใช้ในโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ซึ่งรัฐอาจจะมองว่าไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ภาครัฐเห็นว่าควรมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกันจะทำให้รัฐไม่ต้องกระจายงบประมาณออกไปในหลายๆ จุด และทำให้แต่ละโรงเรียนได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอนได้มากกว่าและคุ้มค่ากว่า

ขณะเดียวภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของบุคลากรระดับสูงก็จะลดลงด้วย กล่าวคือหากเป็นไปตามลักษณะเดิมรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย งบประมาณที่โรงเรียนได้รับในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวนั้นก็จะมีจำนวนไม่มากและไม่เพียงพอในการใช้งาน การใช้วัสดุอุปกรณ์ก็อาจจะไม่คุ้มค่า และยังมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรระดับสูงอย่างผู้บริหาร แต่เมื่อยุบรวมโรงเรียนแล้ว งบประมาณที่ได้รับก็จะสูงขึ้นซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่นเดียวกับการใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะคุ้มค่ากว่า รวมไปถึงยังลดค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนผู้บริหารไปได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของสังคมแล้ว การยกเลิกหรือยุบรวมโรงเรียนอาจสร้างความไม่สบายใจและความไม่พอใจให้กับสังคมในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนจะวิตกว่าการจัดการศึกษาในพื้นที่จะหายไป หรือนักเรียนจะประสบปัญหาในการเดินทางไปศึกษายังสถานศึกษาแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดของกระทรวงได้ชี้แจงแล้วว่าอาจจะมีการจัดหารถตู้หรือรถรับส่งเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งหากสามารถจัดการในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าประชาชนสามารถยอมรับได้
ผู้บริหารคนดังกล่าวระบุว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรจะพิจารณาควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายยุบรวมโรงเรียน ได้แก่ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วย เนื่องจากจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของพื้นที่ ซึ่งจะดีกว่าการรวมการบริหารและตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางที่ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ ดังจะเห็นได้จากกรณีการยุบรวมโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ลงมือดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับชุมชนและมีผลต่อฐานคะแนนเสียง รวมทั้งมีการต่อต้านจากบุคลากรระดับสูงที่เห็นว่าการยุบรวมโรงเรียนจะส่งผลให้การก้าวสู่ตำแหน่งในระดับบริหารเป็นไปได้ยากขึ้น

ผู้บริหารคนดังกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หากภาครัฐตัดสินใจที่จะเดินหน้าแนวทางการยุบรวมโรงเรียนจริง ควรจะดำเนินการใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า โรงเรียนมีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ในพื้นที่ใกล้เคียงมีโรงเรียนที่สามารถรองรับนักเรียนได้โดยไม่ลำบากในแง่การเดินทางมากจนเกินไป และทั้งบุคลากรทางการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ยอมรับ ก็สามารถดำเนินการยุบรวมได้เลย แต่หากมีข้อจำกัดในแง่ของโรงเรียนใกล้เคียงที่จะรองรับ หรือประชาชนยังต้องการที่จะมีสถานศึกษาในพื้นที่ของตนอยู่ ก็ควรดึงเอาประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปว่าควรจะดำเนินการอย่างไร โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนหากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และในขณะเดียวกันบุคลาการทางการศึกษาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ด้านครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ ยกตัวอย่างในพื้นที่ที่สอนอยู่ปัจจุบัน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กสัญชาติไทย เชื้อสายกะเหรี่ยง ทั้งตำบลมีโรงเรียนอยู่ 3 แห่ง แต่ว่าการเดินทางระหว่างโรงเรียนแต่ละโรงเรียน และจากบ้านของนักเรียนไปโรงเรียนมีความยากลำบากทุรกันดารมาก เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา การคมนาคมไม่สะดวก นักเรียนบางคนต้องใช้เวลาถึง 1 วัน 1 คืนในการเดินทางจากบ้านมาเรียนที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านและทำให้จำเป็นต้องพักนอนที่โรงเรียน

ทั้งนี้แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีจำนวนนักเรียนไม่มาก แต่เห็นว่าการที่มีโรงเรียนกระจายกันตั้งอยู่ใกล้บ้านของนักเรียนมากที่สุด น่าจะจูงใจให้ผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนของบุตรหลานมากกว่า และเป็นการขยายการศึกษาให้เข้าถึงเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่สูงที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทภูเขาเช่นที่อำเภอแม่สะเรียงนี้ ซึ่งหากมีการยุบรวมโรงเรียนยอมรับว่า มีความเป็นห่วงว่าผู้ปกครองและนักเรียนในพื้นที่บางส่วนอาจจะเลือกที่จะทำงานเลี้ยงชีพมากกว่าเรียนหนังสือ

ส่วนที่มีการระบุว่าหากมีการยุบโรงเรียน แล้วจะมีการจัดรถรับส่งนักเรียนให้เดินทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนได้อย่างสะดวกนั้น ครูคนเดียวกันนี้ แสดงความเห็นว่า หากเป็นพื้นที่ในเขตตัวเมืองที่ถนนหนทางสะดวกการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวน่าจะสามารถทำได้ แต่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แน่ เพราะสภาพพื้นที่ยังทุรกันดารมาก
ทั้งนี้ มองว่าแทนที่จะนำเงินในการจัดหารถไปใช้รับส่งนักเรียนในกรณีที่จะยุบโรงเรียน น่าจะนำเงินส่วนนั้นไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานและสิ่งจำเป็นต่างๆ ในกับโรงเรียนที่อยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกลมากกว่า เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องยุบโรงเรียน

“ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนและปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงในพื้นที่ มองว่าสำหรับในพื้นที่ห่างไกลแล้ว การยุบโรงเรียน ที่แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กนักเรียนไม่กี่คน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับจะยิ่งกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กมากกว่า ทั้งนี้มองว่าการยกระดับ และพัฒนาพัฒนาการศึกษาสามารถทำได้ด้วยการสนับสนุนสิ่งจำเป็นที่โรงเรียนขาดแคลนมากกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอเท่านั้น” ครูคนเดียวกันนี้ กล่าว
ขณะที่นักวิชาการการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะสำหรับตัวเด็กนักเรียน เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาไม่ทั่วถึงได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วโรงเรียนส่วนใหญ่ที่จะเข้าข่ายถูกยุบส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากปัญหาในเรื่องการศึกษาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของนักเรียนด้วย จากการที่ต้องเดินทางไกลขึ้น ซึ่งเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะต้องมีการทบทวนและพิจารณาแนวความคิดนี้อย่างรอบคอบและรอบด้าน

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32669&Key=hotnews

Leave a Comment