ชี้การศึกษาไทยเน้นวิชาการจนลืมชีวิตจริง

14 พฤษภาคม 2556

จากการประชุมเครือข่ายสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “บูรณาการภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา” โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทนสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า เวทีการศึกษาท้องถิ่น และภาคเอกชน เห็นตรงกันว่า การศึกษาปัจจุบันมุ่งเน้นในเชิงวิชาการ และมีการวัดผลกันที่คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และเปรียบเทียบคะแนนต่างประเทศด้วยคะแนนสถาบันปิซ่า (Pisa) ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตจริงของเด็กไทย กับสังคมไทย ทั้งเรื่องการมีงานทำ การสร้างคนคุณภาพ คนที่มีจิตอาสาและมีสำนึกรักษ์ท้องถิ่น

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย จะต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ 2 เรื่อง คือ 1. การจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลายมากพอที่จะตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ได้ และ 2. ภาคเอกชนและท้องถิ่นชุมชน ต้องเข้าร่วมจัดการศึกษาทางเลือก ร่วมทำงานกับภาครัฐให้มากขึ้น ไม่หันหลังให้กันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยากจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับลูกหลานซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ โดยเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าแค่คะแนนเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิต มีงานทำ และสร้างคนที่มีคุณภาพได้จริงด้วย

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ วธ. กล่าวว่า การจัดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะต้องมองในมิติของวัฒนธรรมด้วย เพราะที่ผ่านมาเราสอนเด็กแต่วิชาการจนลืมไปว่ารอบ ๆ ตัวเขาคือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและทรงคุณค่า วัฒนธรรมของเราถือเป็นทุนต้นน้ำ ในการนำมาปรับใช้ต่อยอดจัดกระบวนการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เช่น แหล่งภูมิ ปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถบูรณาการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เศรษฐกิจและสร้างชุมชนเข้มแข็ง และยังก่อให้เกิดมิติในการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงกันจากอดีตปัจจุบันสู่อนาคตได้ด้วย

นายวรวัส สบายใจ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก ผู้ประสานงานเวทีพลังเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันหลาย ๆ กลุ่มมีจุดร่วมกันที่สำคัญว่า เราเรียนรู้เพื่อค้นพบตัวเอง และมีอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้เช่น กลุ่มเด็กม.ปลาย ที่มีเป้าหมายศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เด็กการศึกษาทางเลือกเน้นการค้นพบตัวเอง จึงมักจะมีปัญหากับระบบภายนอก เช่น สมัครฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก ก็ถูกจำกัดด้วยวุฒิทางการศึกษาในระบบ เป็นต้น ส่วนเด็กนอกระบบที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการดึงเด็กให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ดังนั้น การศึกษาไทยควรต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็ก สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่การจัดการศึกษาแค่เพียง 8 ชั่วโมงในห้องเรียน เพราะเวลาที่เหลือส่วนใหญ่เด็กต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริง.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32687&Key=hotnews