ยุบหรือไม่ยุบ ‘ร.ร.เล็ก’ เรื่องจริงไม่อิง ‘ดราม่า’

20 พฤษภาคม 2556

นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาล ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมีปัจจัยสำคัญที่เด็กน้อยลง การคมนาคมที่สะดวก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีทางเลือกมากขึ้น

ในแง่หนึ่งกลายเป็นปม ‘ดราม่า’ ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ที่ไม่เข้าใจสภาพความจริง
แล้วความจริงคืออย่างไร ก็ต้องตามไปฟังเรื่องราวจากโรงเรียนเล็กตัวเป็นๆ ที่มีลักษณะแตกต่าง มีปัญหาแตกต่างหลากหลาย

“มติชน” ได้ไปสำรวจและสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนและบรรดาผู้นำชุมชน ที่มีแนวโน้มว่าโรงเรียนในชุมชนจะถูกปิดและการปรับตัวของโรงเรียนตามนโยบายนี้ ถือเป็นเสียงที่สะท้อนความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ สุปินะเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนไชย ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า ทันทีที่มีข่าวว่าโรงเรียนแห่งนี้จะต้องถูกยุบ ก็สร้างผลกระทบต่อจิตใจของผู้ปกครองและนักเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางชุมชนผูกพันกับโรงเรียนมานานกว่า 30 ปีแล้ว ผู้ปกครองคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้นำต่างแสดงจุดยืนเดียวกันอย่างหนักแน่นว่าไม่ต้องการให้ยุบรวม เพราะว่าอุปกรณ์และอาคารเรียนของโรงเรียนแห่งนี้มีความพร้อมทุกอย่าง

เหตุผลที่ไม่ต้องการให้ยุบรวม เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนที่ต้องเดินทางไปเรียนไกลขึ้น ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียนของนักเรียนลำบากขึ้น แม้ว่าจะมีการจัดรถให้บริการรับ-ส่งก็ตาม เพราะทางโรงเรียนได้มีการสอบถามโรงเรียนพื้นที่ต่างอำเภอที่มีการยุบรวมมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่สะดวกและมีปัญหาปลีกย่อยตามมามากมาย ที่สำคัญผู้ปกครองเป็นห่วงลูกเพราะต้องไปโรงเรียนแห่งใหม่ ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อม

ขณะที่ อนนท์ กันทะเนตร ผู้ใหญ่บ้านดอนไชย หมู่ 10 ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา มองว่า โรงเรียนแห่งนี้รองรับนักเรียนที่เป็นลูกหลานของประชาชนจาก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 7, 9 และ 10 มานานกว่า 30 ปี ที่ตั้งโรงเรียนชาวบ้านในสมัยก่อนได้ร่วมบริจาคให้ ทุกปีจะมีการจัดผ้าป่าสามัคคีของโรงเรียนเพื่อระดมทุนมาสร้างอาคารและต่อเติมสถานที่จำเป็น ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับโรงเรียนแห่งนี้จนไม่อาจจะให้มีการยุบรวมได้ ชาวดอนไชยต้องสู้เพื่อไม่ให้โรงเรียนแห่งนี้ถูกยุบรวมอย่างเด็ดขาด

ด้าน พจน์ เจริญสันเทียะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 5 (ผอ.สพป.นม. 5) บอกว่า การปล่อยให้แต่ละโรงเรียนบริหารจัดการกันเอง นำนักเรียนต่างชั้นเรียน มาเรียนร่วมแบบควบชั้นเรียน เช่น ประถมศึกษา 1-2-3 หรือ ประถมศึกษา 4-5-6 บรรยากาศการเรียนการสอนไม่เอื้ออำนวย ทั้งสติปัญญา วุฒิภาวะ การรับรู้ของเด็กแตกต่างกันชัดเจน ครูผู้สอนรับผิดชอบไม่ตรงตามวิชาที่ถนัด ไม่มีแรงจูงใจ เสมือนลมเพลมพัด ปฏิบัติหน้าที่สอนไปวันๆ ทำให้ผลคะแนนสอบโอเน็ตต่ำกว่าเกณฑ์ สะท้อนความจริงออกมาให้ผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นจึงส่งบุตรหลานไปเรียนที่อื่นแทน

หากใช้แนวทางยุบรวมจะสร้างปมขัดแย้งกับท้องถิ่น เพราะโรงเรียนเปิดการสอนมาคู่กับการตั้งหมู่บ้านหรือตำบล ซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี บรรดาผู้นำชุมชนหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่เป็นศิษย์เก่าอ้างถึงความผูกพันและสำนึกบุญคุณ ในแต่ละปีได้ร่วมจัดกิจกรรมหารายได้ให้กับโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งมีตัวอย่าง โรงเรียนบ้านหนองกราด หมู่ 9 ต.สำโรง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ล่าสุดเหลือนักเรียนเพียง 3 คน ข้อมูลตามที่ทราบน่าจะเป็นสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยที่สุดในประเทศไทยที่ยังเปิดการเรียนการสอนอยู่ ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ รวมเงินเดือนผู้อำนวยการ พร้อมครูผู้สอน 2 คน และนักการภารโรง รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนบาท ชาวบ้านไม่ยอมให้ยุบ

“บทสรุปในการพูดคุยกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียง กรรมการสถานศึกษา และตัวแทนท้องถิ่น สพป.นม.5 จะดำเนินโครงการ “4 เกลอ โมเดล” เป็นกระบวนการเรียน และจัดกิจกรรมทางสังคมร่วมของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก 4 แห่ง ที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 60 คน คือ ร.ร.บ้านหนองกราด, ร.ร.บ้านท่าทราย, ร.ร.ศรีชลสิทธิ์ และ ร.ร.บ้านหนองประดู่ ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกท้องถิ่นเดียวกัน และมีรัศมีห่างกันไม่เกิน 5 กิโลเมตร จัดตารางสอนเกลี่ยครูผู้สอนตามความถนัด รับผิดชอบสอนนักเรียนตรงชั้นปี ซึ่งจะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี การแข่งขันกีฬาสีภายใน และการทัศนศึกษานอกสถานที่ จัดพร้อมกันทั้ง 4 โรงเรียน สามารถประหยัดงบประมาณ และได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามเป้าหมาย”

เช่นเดียวกับ สุพจน์ เจียมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 บอกว่า ขณะนี้มีเพียงโรงเรียนบ้านเขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่มีนักเรียนอยู่ 31 คน ครู 2 คน เพียงแห่งเดียวที่ได้มีการเคลื่อนย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นที่มีความพร้อมด้านการเรียนการสอนมากกว่า พร้อมทั้งได้มีการจัดรถให้บริการรับส่งนักเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองกลุ่มดังกล่าวด้วย

“การยุบโรงเรียนแต่ละแห่งมีกระแสต่อต้านจากชาวบ้านและผู้ปกครอง เพราะส่วนใหญ่ต่างอยากให้มีโรงเรียนให้บุตรหลานเรียนใกล้บ้าน ถือเป็นการแบ่งเบาภาระในการรับส่งบุตรหลานและยังอยู่ใกล้สามารถดูแลบุตรหลานได้อย่างใกล้ชิด และประชาชนส่วนใหญ่ต่างผูกพันกับโรงเรียนใกล้บ้านจึงไม่ต้องการให้มีการยุบโรงเรียน”

อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนอดุลศาสนกิจศึกษา ต.บางเดชะ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของ จ.ปราจีนบุรี ที่มีเพียง 1 โรงเรียน มีนักเรียนน้อยที่สุด นักเรียนรวม 24 คน ครู 11 คน ภารโรง 2 คน และเปิดเทอมมีนักเรียน ม.1 เข้าเรียนแค่เพียง 1 คน

คนึง โฉมงาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนอดุลศาสนกิจศึกษา มองว่า นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กสภาพครอบครัวมีปัญหา ครอบครัวแตกแยก ถูกทิ้งเป็นภาระปู่ย่าตายาย ไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้และยากจน เคยถามเหตุผลที่เด็กไม่ยอมไปเรียนรวมกับนักเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดเนื่องจากความแตกต่างด้านสติปัญญาในการรับรู้ที่เด็กเพราะคัดเกรดเด็กเรียนดีทั้งหมดเข้าเรียน

“การสอนใช้ระบบให้นักเรียนเดินเรียน โดย ม.1 ถึง ม.6 จำนวนครูครบเพียงพอ โดยครู 1 คน จะสอนรวม 2 วิชาในวิชาหลักและเพิ่มเติม ส่วนนักเรียนทั้ง 24 คน นั้นไม่เป็นอุปสรรคเมื่อถึงชั่วโมงเรียนนักเรียนจะไปหาครูตามห้องต่างๆ ที่สะดวกไม่จำเป็นต้องเป็นห้องเรียน ครูสามารถสอนได้ทั่วถึงชนิดตัวต่อตัว พร้อมๆ กันนี้ได้จัดบทเรียนโปรแกรมให้นักเรียนพึ่งตนเอง รวมถึงค้นคว้าจากสื่ออินเตอร์เน็ต-คอมพิวเตอร์โดยสะดวกชนิด 1 คนต่อ 1 เครื่อง เนื่องจากคนน้อยทำการบูรณาการการเรียนการสอนได้ดีทั่วถึง เด็กสามารถเรียนผ่านตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ทั้งนี้ทุกการเรียนการสอนในแต่ละวิชาเน้นตามหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติให้เด็กเก่ง เด็กดีเรียนอย่างมีความสุข”
ถือเป็นเสียงสะท้อนของความจริงจากพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายที่สอดคล้องในแต่ละพื้นที่

–มติชน ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32759&Key=hotnews