เงินแป๊ะเจี๊ยะสะพัดปีละ 5 พันล้าน ยอมควักดันลูกเข้าโรงเรียนดัง

20 พฤษภาคม 2556

มช.ศธ.เผยปี 56 ไม่มีเหตุร้องเรียนแป๊ะเจี๊ยะ ย้ำกำชับเป็นพิเศษเน้นความเท่าเทียมและยุติธรรม ขณะที่นายกสมาคมผู้ปกครองเครือข่าย แห่งชาติเผยตัวเลขสะพัดปีละ 5,000 ล้านบาท ยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบาย ปราบปรามอย่างชัดเจน และเรื่องคดีแป๊ะเจี๊ยะ DSI กับสำนักงานป.ป.ช. เมิน ไม่รับฟ้อง

ปัญหา “แป๊ะเจี๊ยะ” เป็นปัญหาที่จะมีการนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมของทุกปี จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาเรื้อรัง และต่อเนื่อง มองไม่เห็นทางออก เพราะก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียนใหม่ของทุกปี จะต้องมีการร้องเรียนเรื่องแป๊ะเจี๊ยะทุกครั้ง และรัฐมนตรีศึกษาทุกคนก็จะประกาศว่าจะแก้ปัญหานี้ แต่เมื่อปีการศึกษาใหม่เวียนมาปัญหาก็เวียนกลับมาทุกที
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช. กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เรื่องของเงิน แป๊ะเจี๊ยะในปีนี้ยังไม่มีข่าวร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้กระทรวงฯ ไม่มีการออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จะกำชับ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีการสื่อกันตลอดโดยให้ทางโรงเรียนรับนักเรียนอย่างถูกต้อง แต่อาจจะมีกลุ่มกรณีที่เป็นผู้อุปถัมภ์เคยช่วยโรงเรียนทำให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนกลุ่มนี้บ้าง แต่หลักๆ จะให้รับนักเรียนโดยให้เกิดความเท่าเทียมกันและยุติธรรมที่สุด ซึ่งนอก จากนี้ ในเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดรับสมัครนักเรียนอีกรอบหนึ่งด้วยเพื่อจะเกลี่ยให้เด็กได้เข้าเรียนกันทั่วถึง

“กระทรวงศึกษาธิการอยากให้เด็กที่มีความรู้ความสามารถเข้าเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนเกรดพรีเมี่ยม รวมถึงโรงเรียนมีการ คัดสรรพัฒนาเด็กเก่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นโรงเรียนทั้งหลายคงไม่หวังที่จะมีรายได้ส่วนหนึ่งที่จะเข้าให้กับสมาคมฯ ทั้งนี้ เรายังยึด ถือให้มีการสอบตามกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงอยากได้คนดีมากกว่าด้วย”

นายคมเทพ ประภายนต์ นายกสมาคม ผู้ปกครองเครือข่ายแห่งชาติ และคณะกรรมการภาคีเครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความเป็นธรรมทางการศึกษา เปิดเผยว่า ณ ขณะ นี้ยังไม่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเงินกินเปล่าหรือแป๊ะเจี๊ยะเข้ามากับทางสมาคมฯ ซึ่งไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยเพราะทางโรงเรียน ไม่ได้ให้บุคคลภายนอกเข้าไปยุ่ง ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2554 ได้เก็บสถิติไว้พบว่าโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานประมาณ 34,000 แห่ง ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่รับแป๊ะเจี๊ยะประมาณ 300 แห่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ โรงเรียนดังประมาณ 5-6 แห่ง โดยจำนวนเงินหมุนเวียนแป๊ะเจี๊ยะ ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะเพิ่มสูง ขึ้นทุกปี เช่น โรงเรียนดังบางแห่งเคยเรียกเก็บ แป๊ะเจี๊ยะในหลักหมื่นแต่ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนบาท โดยสาเหตุที่ผู้ปกครอง ต้อง ยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพราะต้องการให้ลูกหลาน เข้าเรียนโรงเรียนดังๆ แต่เนื่องจากทำคะแนน ได้น้อยหากจะเข้าเรียนในโรงเรียนได้ต้องจ่าย เงินเพื่อแลกกับที่นั่งเข้าเรียนในรูปแบบบริจาค ให้กับทางสมาคมผู้ปกครองใครให้เงินมากกว่าก็จะได้เข้าเรียน อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะก็จะมีใบเสร็จให้ด้วย ทั้งนี้ การทำเช่นนี้เป็นทางโรงเรียนอ้างว่าโรงเรียนได้รับการกระจายอำนาจตามกฎหมาย

“เรื่องของแป๊ะเจี๊ยะนั้น เราได้ส่งเรื่อง ไปที่ DSI แต่ไม่ได้รับเรื่องไว้เพราะอ้างว่าไม่ ใช่คดีพิเศษ รวมถึงส่งข้อมูลไปให้ทางสำนัก งานป.ป.ช. แต่เรื่องก็ถูกหมกไว้ โดยคดีที่ส่งไปเป็นโรงเรียนดัง 5 แห่ง อาทิ ร.ร.ย่านราชดำเนิน เกียกกาย หรือรามคำแหง แต่เรื่องก็ไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้ เราคิดว่ามีขบวนการเดียว ที่น่าจะพึ่งได้คือขบวนการศาลยุติธรรม”

นายคมเทพ กล่าวว่า ผลของแป๊ะเจี๊ยะ มีผลเสียมหาศาลเพราะเงินไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอาจจะเข้าไปในกระเป๋าส่วนตัว ทั้งนี้ แป๊ะเจี๊ยะถือเป็นที่มาของการคอร์รัปชั่นโกงกินชาติที่สำคัญ และที่จริงเด็กทุกคนได้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ป.1-ม.6 เป็นไปตามกลไกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายลูก, พ.ร.บ.การศึกษาและมีมาตรา กฎหมายสิทธิมนุษยชน มาตรา 22 รองรับอีกด้วย ซึ่งทำให้แป๊ะเจี๊ยะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้

ที่มา: http://www.siamturakij.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32765&Key=hotnews