จี้รัฐบูรณาการคุณภาพการศึกษา ฝึกเด็กเลิกท่องนกแก้วนกขุนทอง

23 พฤษภาคม 2556

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา กล่าวในการประชุม “บูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา” ว่า ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ เริ่มทำ อยากให้สังคมผลิตครูอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ออกมาให้มีการพัฒนาการที่ดี มีเทคนิคการเรียนการสอนแบบใหม่ให้ดีมากขึ้น ไม่ใช่สอนเด็กเพียงแค่ท่องจำเท่านั้น ส่วนการแก้ปัญหาเราจะต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เราควรจะเปลี่ยนโจทย์การศึกษา ต้องสร้างงาน ต้องสร้างคนที่มีคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ออกมา

“ฝ่ายรัฐจะต้องมีการบูรณาการการจัดการศึกษาให้มากกว่านี้ คนที่มีอำนาจแต่ไม่ยอมทำอะไรเลย ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการศึกษา ภาครัฐต้องมีการทำงานให้มากขึ้นกว่านี้ และต้องตอบสนองความต้องการของเยาวชน ต้องมีการกระจายอำนาจให้ภาครัฐลดบทบาทลงมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เราต้องเดินไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกัน นำเอาบทสรุปมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน นี่คือยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา”

ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย บทบาทของภาครัฐในการบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยทันโลกมากขึ้น แนวโน้มของนานาประเทศได้นำไปสู่แนวคิดเชิงพื้นที่ด้วยการไม่ผลักภาระในการปฏิรูปการศึกษาไปที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ใช้การเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น

“รัฐยังต้องสามารถวางกลไกการกำกับติดตามและสร้างความสามารถตรวจสอบและรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนของสถานศึกษาทุกระดับต่อพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนไปพร้อมกันด้วย เครื่องมือเชิงระบบที่น่าสนใจก็คือระบบโรงเรียนในกำกับที่มีอิสระในการบริหารเป็นกลไกแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาสที่มีความต้องการพิเศษ เป็นระบบที่เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตัดทอนระเบียบราชการที่พะรุงพะรังจนผู้บริหาร และครูสามารถวางแผนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสแต่ละกลุ่มได้อย่างเต็มที่”

ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนแนวคิดให้ประชาชนในพื้นที่ให้โรงเรียนรัฐบาลต้องมีการปรับปรุงตัวเองโดยเน้นให้หลักการคู่ขนาน คือการมีอำนาจอิสระของโรงเรียนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ของโรงเรียนและการตรวจสอบได้ ส่วนข้อคิดเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของไทย คือเราต้องเน้นยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่เป็นฐานและกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งรัฐเองอาจลงทุนนำร่องในบางพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพก่อนเพื่อไม่ต้องลงทุนครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้การใช้กลไกการเงินเป็นเครื่องผลักดันที่รัฐอาจลงทุนร่วมกับท้องถิ่นในรูปเงินสมทบ หรือตั้งกองทุนสนับสนุนโดยอาจใช้กองทุนเดิมบางกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน รัฐอาจลงทุนผ่านกองทุนนี้โดยปรับระบบการจัดการกองทุนให้เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ การเน้นยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่ต้องเน้นคานงัดสำคัญที่พิสูจน์มาในหลายประเทศว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษา กรณีของไทยอาจต้องเพิ่มเรื่องที่ยังเป็นจุดอ่อน ได้แก่ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจัดการและการสร้างภาวะรับผิดชอบทางการศึกษาขึ้นใหม่ในระบบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32804&Key=hotnews