การศึกษาในหลักสูตรนานาชาติกับความพร้อมสู่ AEC

27 พฤษภาคม 2556

การศึกษาในหลักสูตรนานาชาติกับความพร้อมสู่ AEC

มรกต ระวีวรรณ
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ (MT)
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร SIIT
ม.ธรรมศาสตร์

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า AEC ย่อมาจาก ASEAN Economic Community นั่นคือการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตอนแรกการเปิด AEC กำหนดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2558 แต่ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา มีการลงมติเลื่อนกำหนดการเปิดไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2558

ดูเหมือนเราจะมีเวลาเตรียมตัวกันมากขึ้นอีกนิด แต่เราจะเตรียมตัวเพื่ออะไรและเตรียมตัวอย่างไร จะมีงานทำหลังเรียนจบไหม เพราะได้ยินมาว่า การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น แล้วการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติจะมีประโยชน์กับเราอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจภูมิภาคอาเซียนและกลไกการเปิดประชาคมนี้ เพื่อจะได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเรา แล้วจะได้เตรียมตัวฝึกวิทยายุทธ์กันให้พร้อม ก่อนท่องโลกกว้าง

อาเซียน (ASEAN) เป็นภูมิภาคที่มีประชากร 600.15 ล้านคน เท่ากับ 9% ของประชากรโลก มากกว่าประชากรในสหภาพยุโรป (EU 525 ล้าน) หากรวมประชากรในประเทศ ASEAN กับอีก 6 ประเทศคู่เจรจา (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ก็จะมีประมาณ 3,284 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเชียวนะ การท่องเที่ยวรวมในอาเซียนมีอยู่ 90 ล้านคน การค้าระหว่างประเทศ 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (6 เท่าของประเทศไทย)

ส่วนทางเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ก็เข้ามาในภูมิภาคนี้ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 60% ของประเทศจีน)

มาดู GDP ของอาเซียนกันบ้าง GDP เท่ากับ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ GDP ของเกาหลีใต้ เป็นอันดับ 9 ของโลก (โดยส่วนตัว ผู้เขียนชื่นชอบการวัดความสำเร็จของประเทศโดยใช้ GNH (Gross National Happiness) มากกว่า แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ GDP ในการวัด ก็เลยต้องพูดถึงเสียหน่อย)

ดูทั้งจำนวนคน ปริมาณเงินลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ภูมิภาคอาเซียนนี้ต้องขอบอกว่า “ไม่ธรรมดา” ยิ่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ขอให้สามคำสำหรับภูมิภาคอาเซียน:คุณ-hot-มาก

อาเซียนเปรียบเสมือนสาวงามที่ใครๆ ก็อยากรู้จักและสนิทสนม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางมาเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง โดยเริ่มการเยือนที่ประเทศไทย การที่ประเทศไทยเป็นที่แรก ก็ถือว่า “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน เพราะรัฐบาลสหรัฐ มองว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการพัฒนา “แกนเอเชีย” (Asia pivot) จากนั้นก็ไปต่อที่พม่า ส่วนหนึ่งของภารกิจคือ แวะเยี่ยมนางออง ซาน ซูจี เจ้าของโนเบลสาขาสันติภาพ และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่เพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานเพื่อลัทธิมนุษยชน และจบลงด้วยการเข้าร่วมการประชุม ASEAN ในประเทศกัมพูชา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจริงจังและให้ความสำคัญกับการปรับกลยุทธ์มายังซีกโลกตะวันออก อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตามอง

ความเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน มิได้มีเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ในปี 2558 อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนโดยมีความร่วมมือ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ASEAN Economic Community (AEC), ASEAN Political-Security Community (APSC) และ ASEAN SocioCultural Community (ASCC) นั่นคือความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรม ฟังดูคล้ายๆ แนวคิดสหภาพยุโรป ใครได้ข่าวปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปก็อย่าเพิ่งตกใจไป อย่างน้อยอาเซียนยังคงไม่ใช้เงินสกุลเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้นพอถึงปี 2558 แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดการลดภาษีในอาเซียนลงอย่างทันทีทันใดหรือเปล่า แรงงานจะเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ใช่ไหม ใครจะเอาเงินหมุนไปที่ไหนก็ได้หรือเปล่า
คำตอบคือไม่ใช่

การเปิดเสรีในอาเซียนได้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาก่อนปี 2558 แล้ว เพราะแต่ละประเทศมีความพร้อมและความอ่อนไหวในแต่ละเรื่องแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น เรื่องภาษีซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้า (Tariff Barriers to Trade)

หลายคนคงได้ยินว่า ในปี 2558 นั้น ภาษีการค้า (trade) ในอาเซียนจะกลายเป็น 0% อันที่จริง 6 ประเทศก่อตั้งอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย) ได้ทำ FTAs (Free Trade Agreements) อันมีผลทำให้ภาษีเป็น 0% มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 แล้ว ดังนั้นในปี 2558 เฉพาะประเทศสมาชิกที่เหลือจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามมา ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เท่านั้น จากการได้พูดคุยกับผู้ประกอบการและทูตพาณิชย์ประจำประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผู้เขียนพบว่าสิ่งที่เราควรเตรียมตัวศึกษาให้พร้อมต่อไปคือ Non-Tariff Barrier การกีดกันที่ไม่เกี่ยวกับภาษี เช่น การ กำหนดโควต้า เป็นต้น นอกจากนี้ตลาดด้านบริการ (services) ก็มีการเปิดเสรีเช่นกัน แต่เปิดเพียง 5 สาขา คือ สุขภาพ ท่องเที่ยว การบิน e-ASEAN (โทรคมนาคม) และ logistics ใครจะเรียนสาขาอะไร คงพอมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพของตนกันบ้างแล้ว
จากประเด็นภาษี ทีนี้มาดูประเด็นการเคลื่อนย้ายของแรงงานกันบ้าง ใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรมาดูต่อกันเลย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่คนกลัวกันมาก เพราะกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันสูงและเสี่ยงต่อการตกงาน การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีจริงแต่เป็นเฉพาะแรงงานมีทักษะ (professional and skilled labor) ซึ่งจำกัดอยู่แค่ไม่กี่สาขาอาชีพ ศัพท์เฉพาะที่เรียกการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มนี้คือ Movement of Natural Persons (MNP) ซึ่งจะหมายถึงการเคลื่อนย้ายผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือพนักงานขององค์กรต่างประเทศ ที่ครอบคลุมกลุ่มคนดังต่อไปนี้

Business Visitors (คนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจแต่ไม่ได้มองหาตำแหน่งงาน) Traders and investors (นักการค้าและนักลงทุน) Intracorporate transferees (พนักงานในบริษัทข้ามชาติที่โยกย้ายข้ามประเทศ) และผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะ (Professionals) ในหมวดอาชีพดังนี้ แพทย์และพยาบาล ทนายความ นักบัญชี วิศวกร นักเทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ

ทีนี้ถ้าเราอยู่ในกลุ่มอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในกลุ่ม AEC ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เราจะทำงานในประเทศ อื่นๆ ได้ หากเราผ่านการคัดเลือกตามมาตรฐานในร่างข้อตกลงย่อมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ที่กลุ่มประเทศอาเซียนช่วยกันกำหนดขึ้นมาเสียก่อน เช่น วุฒิการศึกษา และกฎระเบียบท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันนี้ อาเซียนมีการลงนามจัดทำ MRA ไปแล้ว 8 ฉบับ ได้แก่ วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพพยาบาล วิชาชีพสถาปัตยกรรม วิชาชีพสำรวจ บริการท่องเที่ยว วิชาชีพแพทย์ วิชาชีพทันตแพทย์และวิชาชีพการบัญชี

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การทำ MRA มิได้เป็นการเปิดเสรี แต่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเท่านั้น แรงงานยังต้องปฏิบัติตามระเบียบภายในประเทศนั้นๆ อยู่ ตัวอย่างอาชีพที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายคือ แพทย์ หากแพทย์จากประเทศอื่นต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของแพทยสภา เช่น ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งต้องสอบเป็นภาษาไทย หากไม่เข้าใจภาษาไทยจะสอบผ่านได้อย่างไร

จะเห็นว่านอกจากความชำนาญทางทักษะอาชีพแล้ว ภาษาก็เป็นเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานในอาเซียน บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ แต่ละประเทศใช้ภาษาราชการไม่เหมือนกัน ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางระหว่าง 10 ประเทศนี้ การปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมที่ดี ทักษะทางภาษาเป็นสิ่งที่ฝึกฝนเพิ่มเติมได้ ไม่ยาก เน้นว่า…ไม่ยาก หากทำบ่อยๆ พูดบ่อยๆ อ่านบ่อยๆ เขียนบ่อยๆ ขออย่างเดียวอย่าอาย ใครที่ยังไม่มั่นใจกับทักษะตรงนี้ ขอเชิญให้ใช้โอกาสที่มีอยู่ฝึกฝนเพิ่มเติมด้วย ใครที่เก่งคล่องแล้ว ขอให้ชวนเพื่อนๆ พูดภาษาอังกฤษ กันอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอาจทำโดยให้นักศึกษานำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ จากการหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ ทำให้มีความพร้อมสำหรับการทำงานในระดับนานาชาติ นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว การเรียนรู้ภาษาที่สามด้วยก็จะดีไม่น้อย เพื่อเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ

นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ soft skills บุคลิกภาพทางอารมณ์ หรือ EQ นั่นแหละ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ผู้ประกอบการมักบ่นมาอยู่เสมอว่า เด็กจบใหม่สมัยนี้ไม่มี work attitude เป็นคนเก่ง ภาษาดี แต่ work attitude ไม่ผ่าน เช่น ไม่อดทน เลือกงาน เกี่ยงงาน ต่อรองเอาเงินเดือนสูงๆ แต่ทำงานให้ไม่เต็มที่ ไม่มีการแก้ปัญหาที่ดี ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น…หลายๆ เหตุการณ์พิสูจน์ให้เห็นว่า soft skills มีส่วนช่วยให้ได้งานทำ และช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่น แล้วเราจะฝึกให้มี soft skills และ work attitude ที่ดีได้อย่างไร

ลองทำงานกิจกรรมพิเศษที่นอกเหนือจากการเรียนดูบ้าง แบ่งเวลาให้เป็น ลองทำงานจิตอาสาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยดูบ้าง จะได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น จะได้เรียนรู้ปรับบุคลิกภาพทางอารมณ์ และหากต้องทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม พวกเราควรเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และอื่นๆ ที่จำเป็น สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น พูดสวัสดี ขอบคุณ ในภาษาอื่น การแต่งกายตามท้องถิ่นนั้นๆ ก็ช่วยทำให้เกิดความประทับใจได้ จงทำตัวเป็นผู้ใฝ่รู้ เปิดใจกว้าง ยอมรับความแตกต่าง เพื่อจะได้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น หมั่นฝึกฝนเรื่องทักษะอาชีพ ทักษะทางภาษา และทักษะบุคลิกภาพทางอารมณ์เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็พร้อมที่จะปรับตัวเสมอ และสามารถเบิกบานกับการทำงานและการใช้ชีวิต พวกเราเป็นกลไกสำคัญในความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนนี้

ดังนั้น ความร่วมมือในอนาคตของภูมิภาคนี้จะเป็นไปอย่างไร เกิดความมั่นคงความมั่นคงและความเอื้ออาทร ตามเป้าหมาย 3 เสาหลักของความร่วมมือหรือไม่ ความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ เป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้พวกเรามีส่วนช่วยกำหนดคำตอบได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32810&Key=hotnews