สอศ.ผนึก ทัพเรือ ผลิตกำลังคนพาณิชยนาวี

28 มิถุนายน 2556

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าสถานศึกษาบ้านเราผลิตกำลังคนไม่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ หรือตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสาขาเฉพาะทาง
เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย พลเรือโท ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กับกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ร่วมกันจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาทวิภาคี สาขางานตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า สาขางานไฟฟ้าในเรือ สาขางานเทคนิคเครื่องกลเรือ และหลักสูตรระยะสั้นการดำน้ำ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการเดินเรือและพาณิชยนาวีให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นับว่าเป็นครั้งแรก ที่สองฝ่ายร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ พัฒนางานวิจัย การฝึกอบรมทางวิชาการ แลกเปลี่ยนสารนิเทศผลงานทางวิชาการ และเพิ่มคุณวุฒิทางการศึกษาและทักษะเฉพาะทาง ตลอดจนสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรทางการศึกษาและวิชาการ

พลเรือตรี วิทวัส ณ นคร เจ้ากรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบ กล่าวว่า กองทัพเรือ โดยกรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ตระหนักถึงความสำคัญด้านการฝึกอบรม การวิจัย และส่งเสริมให้มีกิจกรรมพิเศษร่วมกันตามความเหมาะสม ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและวิทยาการสมัยใหม่ในด้านกิจการทางทะเลและอุตสาหกรรมการต่อเรือ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และความมั่งคงในภูมิภาค

ด้าน นาวาเอกชำนาญ สอนแพง ในฐานะอาจารย์สอนนักศึกษาสาขาตัดและเชื่อมโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า บอกว่า คนที่จะเรียนสาขานี้ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากๆ เพราะจะต้องดำน้ำเพื่อลงไปซ่อมแซมจุดที่ชำรุดชั่วคราว จากเหตุผลนี้ จึงร่วมกันเลือกนักศึกษา โดยวิทยาลัยดูจากผลการเรียน ขณะที่กรมโรงงานฐานทัพเรือ เลือกตามสไตล์ทหารเรือ อันดับแรกสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ว่ายน้ำเป็น เป็นต้น

โดยทั้ง 2 หน่วยงานตกลงกันว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จะทำหน้าที่ติดจรวดความรู้ด้านวิชาการแก่นักศึกษา ส่วนกรมโรงงานฐานทัพเรือ จะฝึกอบรมการดำน้ำ ตลอดเทคนิคการซ่อมเรือใต้น้ำ และฝึกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการซ่อมเรือเฉกเช่นเดียวกันกับทหารเรือดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะให้ลงไปปฏิบัติจริงใต้น้ำนั้น เราจะฝึกบนบกจนชำนาญ จากนั้นค่อยให้ลงน้ำตื้นๆ และลึกลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเชี่ยวชาญ รวมถึงความปลอดภัย
รุ่นแรกที่คัดเลือกไว้จำนวน 20 คน ไม่รู้ว่าพอถึงปีสุดท้ายจะเหลือสักกี่คน ต้องยอมรับว่าสาขาวิชานี้ไม่ได้เรียนจบกันได้ง่ายๆ ต้องอดทน มีความมานะพยายาม เวลาทำงานต้องทำเป็นทีมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ภาษากายด้วย เนื่องจากเวลาซ่อมจุดที่ชำรุดอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถพูดได้ ทำได้เพียงภาษามือและกายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้านักศึกษาฝ่าด่านความมานะอดทนได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะตกงาน มั่นใจว่าบริษัทพาณิชย์ บริษัทเดินเรือ บริษัทขุดเจาะน้ำมัน รีบอ้าแขนรับเข้าทำงานอย่างแน่นอน เพราะว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการพนักงานสาขานี้ไว้ประจำบริษัท พร้อมกันนี้เชื่อว่าค่าตอบแทนจะได้สูงกว่าวุฒิอย่างน้อย 2-3 เท่า เพราะจะต้องบวกค่าความเสี่ยงอันตรายระหว่างปฏิบัติงานอยู่ใต้น้ำด้วย หากเรียนจบไม่อยากเป็นพนักงานประจำบริษัท อาจรวมกลุ่มกันรับงานเองก็ได้
…หากลูกศิษย์ที่สองหน่วยงานนี้ปั้นประสบความสำเร็จ มีโครงการขยายหลักสูตรถึงระดับปริญญาตรีแน่

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33191&Key=hotnews