ห่วงอนาคตเด็กออกกลางคัน สพฐ.เร่งแนะแนวทุนการศึกษาเด็กชายแดนใต้-รู้ลึกโลกมุสลิม

9 กรกฎาคม 2556

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม.เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 56 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธาน เปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ 1 ทศวรรษ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ฐานการศึกษาของปวงชนว่า สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนวัยเรียน ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า สิ่งที่ สพฐ. ต้องคำนึงถึงและถือเป็นแนวทางสำคัญเพื่อเตรียมคนให้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลกอย่างเต็มภาคภูมินั้น จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การปฏิรูปหลักสูตรให้สนองกับความต้องการของผู้เรียน และพัฒนาครูด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เท่าทันกับเทคโนโลยี

“โจทย์สำคัญของการศึกษาในเวลานี้ คือ จะผลิตคนอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ จะทำอย่างไรให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันคิด โดยการปรับปรุงและพลิกโฉมการจัดการศึกษาอย่างไรก็ดี เรายังมีปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ นั่นคือปัญหาเด็กออกกลางคันซึ่งเด็กกลุ่มนี้เมื่อออกไปก็ไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันคิดว่าจะแก้ปัญหานี้และสร้างอาชีพให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร”

นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า อยากฝากไปถึง สพฐ. ว่า ไม่อยากให้ไปยึดติดกับเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนจนไม่ปล่อยเด็กไปเรียนสายอาชีวะ เพราะขณะนี้สัดส่วนการเรียนสายอาชีพและสายสามัญยังไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ที่ 50:50

วันเดียวกัน นายกมล รอดคล้ายรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้เตรียมสนองแนวนโยบายใน 3 เรื่องหลักคือ

1.การพัฒนาหลักสูตร ที่จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนควบคู่ไปด้วย เช่นการปรับชั่วโมงเรียนให้น้อยลง เน้นบูรณาการการเรียนการสอน กิจกรรม การคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น

2.แนวทางแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเคารพและไม่เปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ต้องพัฒนาให้ได้ประโยชน์จากระบบปกติที่รัฐมีอยู่ ไม่ใช่ไปรื้อโครงสร้างตามความต้องการของใครก็ตามที่เรียกร้อง

3.สนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้โลกกว้างและรู้จักโลกมุสลิมอย่างลึกซึ้ง เช่น หากเยาวชนรู้และเข้าใจว่าประเทศมาเลเซียหรือตุรกีเจริญเพราะอะไร และชาวมุสลิมในประเทศเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้างปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้จะได้ไม่เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้

“สพฐ.มีทุนการศึกษาที่ดูแลนักเรียนในพื้นที่ได้จำนวนมาก เช่น นักเรียนทุนภูมิทายาทอยู่กว่า 5,000 คน ทุนอาชีวะกว่า 500 คน และทุนอุดมศึกษาอีก 800 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ เรียนจบก็ไม่ได้แนะแนวว่ามีช่องทางเรียนต่อ หรือควรทำงานอะไรได้บ้าง เราก็จะดูแลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนทุกคน”นายกมล กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33297&Key=hotnews