อสค.ยืนยัน ‘นมโรงเรียน’ เพิ่มโภชนาการเด็กไทย

29 กรกฎาคม 2556

รอง ผอ.อสค. เผยโครงการนมโรงเรียนส่งผลให้เด็กนักเรียนมีพัฒนาการดีขึ้น เตรียมชงครม.ขอยืดเวลาเป็นผู้ส่งนมโรงเรียนต่อ

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.)เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึง ป.6 ดื่มนมนั้น มาจากปัญหาโภชนาการในอดีตที่เด็กนักเรียนมีภาวะขาดแคลนโปรตีน ประกอบกับปัญหาการกระจายน้ำนมดิบให้กับเกษตกรที่ยังไม่ทั่วถึง จนถึงปัจจุบันได้มีคณะกรรมการนมโรงเรียนเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตลอดจนการควบคุมมาตรฐาน โดยคุณภาพนมต้องผ่านโรงงานที่ได้ จีเอ็มพี ที่มีการตรวจสอบทุก 3 ปี

ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการดังกล่าวโรงงานหรือศูนย์กระจายนมจะต้องส่งหลักฐานการตรวจสอบคุณภาพโภชนาการมาให้คณะกรรมการนมโรงเรียนตรวจสอบ และเกษตกรที่จะส่งน้ำนมดิบให้กับแหล่งรับซื้อนม ก็จะต้องเป็นฟาร์มที่ผ่าน GAP เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักมีปัญหาในเรื่องการขนส่ง ทำให้นมบูดและเสียเมื่อถึงมือเด็ก ทั้งนี้ ตั้งแต่เปลี่ยนให้ อสค.ดำเนินการเองก็สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งในปลายเดือนกันยายน 2556 จะสิ้นสุดระบบที่ให้ อสค.จัดส่งนมโรงเรียน ทำให้ อสค.กำลังพิจารณาว่าจะส่งแผนงานทั้งหมดไปให้คณะรัฐมนตรีเพื่อขอยืดเวลาให้ อสค.เป็นผู้ส่งนมให้เช่นเดิม

ส่วนงบประมาณขณะนี้ตกอยู่ที่ 7 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนที่ต้องดื่มนมในโรงเรียนทั่วประเทศประมาณ 7.6 ล้านคน เดิมมีประมาณ 8 ล้านคนแต่เนื่องจากเด็กเกิดน้อยลงทำให้ปริมาณนักเรียนลดลง ซึ่งงบประมาณที่ได้รับทั้งหมดประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ถือว่าเพียงพอสำหรับการจัดส่งนม 260 วันต่อปี เพราะหักวันเสาร์ อาทิตย์ออกไป ส่วนช่วงปิดเทอมจะแจกนมกล่องให้เด็กเอากลับไปดื่มที่บ้านจึงไม่มีปัญหา

สำหรับการประเมินในเรื่องของการแก้ปัญหาโภชนาการนั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีงบประมาณดำเนินการ แต่จากการวิจัยด้านอื่นๆ ที่นักวิชาการที่จัดหาชุดนักเรียนให้ นักเรียนแต่ละชั้นปีพบว่า อัตราการขยายเพิ่มคือชุดนักเรียนที่จัดหาให้จะต้องเพิ่มขนาดมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งอาจจะพอบอกได้ว่า การดื่มนมของโรงเรียนสามารถแก้ปัญหาและทำให้เด็กพัฒนาการดีขึ้น ส่วนจะพัฒนาคุณภาพนมให้ดีขึ้น โดยมีนโยบายจะใช้นมโรงเรียนในการแก้ปัญหาด้านโภชนาการของนักเรียนในด้านอื่นๆ เช่น การขาดเหล็ก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือว่าจะทำไปพร้อมกันได้อย่างไรบ้าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33498&Key=hotnews