“จาตุรนต์” เล็งหารือ ทปอ. รื้อใหญ่ระบบสอบเข้ามหา’ลัย

29 กรกฎาคม 2556

“จาตุรนต์” เล็งหารือ ทปอ. ปรับใหญ่ระบบสอบคัดเลือกเข้ามหา’ลัย ชี้รูปแบบที่ใช้อยู่ไม่สะท้อนการคัดผู้ที่เหมาะสมเข้าเรียน แต่กลับเป็นระบบที่สร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม และยังเป็นบ่อเกิดของปัญหากวดวิชาด้วย

นายจาตุรนต์ ฉายแสงรมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนเตรียมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเสนอให้ ทปอ.ปรับปรุงระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ส่วนตัวเห็นว่าระบบที่ใช้อยู่มีส่วนทำ ให้การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญระบบเช่นนี้ได้สร้างความไม่เท่าเทียม กันในสังคม ปัจจุบันการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีหลากหลายรูปแบบทั้งแอดมิชชัน สอบรับตรง การรับผ่านระบบโควตาของมหาวิทยาลัย ตลอดปีจึงมีการเปิดสอบมากมาย ทำให้เกิดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบจำนวนมาก เด็กที่มีฐานะจึงได้เปรียบ บางคนยอมทุ่มเป็นเงินแสนบาทไล่สมัครสอบหลายแห่ง แต่ถ้าเป็นเด็กยากจนแล้ว งบประมาณแค่ 3,000 บาท เพียงพอแก่การสมัครสอบที่ได้แห่งเดียว

แม้จะมีกา รสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่สามารถสะท้อนการคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าเรียนในแต่ละคณะวิชาได้ เห็นได้จากผลการประเมินสถาบันอุดมศึกษาระดับนานาชาติของประเทศไทยซึ่งไม่ได้กระเตื้องขึ้น ตนเห็นว่า สมควรปรับระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ และการปรับครั้งนี้น่าจะต้องเป็นการปรับครั้งใหญ่ อีกทั้งควรจัดประชุมเสวนาระดมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ความคิดเห็นด้วย

“ผมจะหารือกับ ทปอ.ว่า น่าจะต้องมีการตั้งวงหารือในเรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่า ระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนอกจากเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้าเรียนแล้ว จะต้องคำนึงถึงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานไม่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง หมดความสนใจการเรียนในชั้นเรียน แต่พบว่า ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยลัย ในปัจจุบันออกไม่ตรงกับหลักสูตร เด็กจึงหันไปกวดวิชา ติวข้อสอบแทน หมดความสนใจเรียนในชั้นเรียนและทำให้เกิดปัญหากวดวิชาตามมา 2.ต้องคำนึงโอกาสและความเท่าเทียมกันของเด็กด้วย เมื่อมีการเปิดสอบกันตั้งแต่ต้นปีจนปลายปี จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเด็กที่ฐานะต่างกัน”นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่า จะต้องมีการปรับปรุงระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในจุดใดบ้าง เพราะตนอยากรอฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่อยู่ในความสนใจของตน คือ การสอบรับตรงที่มีเปิดสอบตลอดปีและเสียค่าใช้จ่ายการในสอบสูง และเนื้อหาของข้อสอบที่อาจออกไม่ตรงหลักสูตร ทำให้เกิดปัญหากวดวิชาตามมา แต่ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนใด ๆ จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวทัน จะไม่มีการประกาศใช้ทันทีเพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็กที่ได้เตรียมตัวตามแนวทางสอบคัดเลือกแบบเดิมไปแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33492&Key=hotnews