แนะรัฐยกปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ

29 สิงหาคม 2556

นักวิชาการเสนอยกระดับปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ หลังพบสถิติเยาวชนเล่นการพนันมากกว่า 2 ล้านคน เผยผลวิจัยพบทุก 1 คนของผู้มีปัญหาการพนันจะมีคนที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วยถึง 8 คน

วานนี้(28ส.ค.) ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ในเวทีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาแนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ตนได้นำเสนองานวิจัยบทสรุปการศึกษาการป้องกันและแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาชนในต่างประเทศ ซึ่งได้ทำการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กและเยาวชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงสูงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน โดยพบว่าผู้ที่มีปัญหาการพนันอย่างรุนแรงส่วนใหญ่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย และพบว่ามีผู้ปกครองเพียงร้อยละ 5 ที่พยายามจะห้ามบุตรหลานจากการเล่นการพนัน

ดร.ธีรารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุปัจจัยที่คล้ายคลึงในหลายประเทศจึงทำให้เกิดมาตรการในการป้องกันและการแก้ปัญหาในเด็กและเยาวชนในต่างประเทศหลายประการ ได้แก่

1.การกำหนดให้การแก้ปัญหาการพนันโดยใช้แนวทางบริการสาธารณสุข เพราะหลายประเทศมองว่าไม่ใช่เป็นแค่เพียงปัญหาสุขภาพของตัวบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่มองว่าปัญหาการพนันเป็นปัญหาของชุมชนโดยรวม เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ

2.การกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน

3.ความเข้มงวดในการกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน

4.การจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการพนัน อาทิ เก็บภาษีผู้ประกอบกิจการการพนันเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่มูลนิธิเพื่อแก้ปัญหาการพนัน เป็นต้น และ

5.การบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนรู้เท่าทันปัญหาการพนัน
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวอีกว่า มีผลการวิจัยของสหราชอาณาจักรที่พบว่าในทุก 1 คนของผู้มีปัญหาการพนันจะมีคนที่ได้รับผลกระทบถึง 8 คน เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติดหรือ ปัญหาสุรา ดังนั้นแนวทางการจัดการปัญหาในประเทศไทย ควรแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะต้นทำการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง พร้อมรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ ขณะเดียวกันต้องสร้างพื้นที่สีขาวเพื่อเป็นทางออกให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย ส่วนในระดับกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ และกระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน โดยเน้นให้เห็นถึงอันตรายที่มากับการพนัน

ทั้งนี้จากการสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจสถิติสถานการณ์ของการเล่นพนัน พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 75 ในประเทศไทย เคยเล่นการพนัน โดยสถิติที่น่าตกใจคือมีเยาวชนอายุน้อยกว่า 24 ปี เล่นพนันกว่าร้อยละ 4 หรือเกือบ 2 ล้านคน

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33902&Key=hotnews