กระทุ้งหาครูภาษาอาเซียนเสนอเพิ่มเงินเดือน-แจกทุนปั้นบุคลากรปรับกฎยืดหยุ่นเอื้อเปิดหลักสูตร

28 สิงหาคม 2556

โพสต์ทูเดย์
นักวิชาการกระทุ้งรัฐเร่งปลดล็อกหาครูสอนภาษาอาเซียน หลังพบทั้งมัธยม-อุดมศึกษาขาดแคลนหนัก

น.ส.วิชชุกร ทองหล่อ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ควรร่วมมือกันสนับสนุนการสรรหาบุคลากรสอนวิชาภาษาต่างๆในกลุ่มอาเซียนให้แก่สถาบันการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาต้องการครูสอนภาษาอย่างมากเพื่อพร้อมรองรับประชาคมอาเซียน แต่ไม่สามารถหาบุคลากรเองได้เลย

“ปัญหาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่นเรื่องเงินเดือนครูสอนระดับอุดมศึกษาต้องจบการศึกษาระดับปริญญาเอก แต่ปัจจุบันครูสอนภาษาเวียดนาม ชาวเวียดนามของเราได้เงินเดือนเพียง 2.2 หมื่นบาทเท่านั้นขณะที่คนรู้ภาษาเวียดนามจริงๆ มีน้อยมาก เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน ผู้ที่มีความรู้ระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่จึงเลือกทำงานกับเอกชนเพราะได้เงินเดือนดีกว่า” น.ส.วิชชุกรกล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐจึงควรเพิ่มอัตราเงินเดือนสำหรับอาจารย์สอนวิชาภาษาในกลุ่มอาเซียนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ให้เข้ามาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษามากขึ้นระหว่างรอการสร้างบุคลากรใหม่ๆ

นอกจากนี้ สกอ. และ ก.พ. ควรร่วมออกทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกแบบต้องใช้ทุนคืนสำหรับเรียนวิชาภาษาอาเซียนมากขึ้น โดยออกกฎให้ต้องกลับมาสอนยังสถาบันการศึกษาต่างๆ
น.ส.วิชชุกร กล่าวอีกว่า ภาครัฐยังต้องแก้ปัญหาระเบียบปฏิบัติไม่ตรงกัน เช่น ปัจจุบันภาควิชาต้องการเปิดหลักสูตรวิชาภาษาพม่าระดับปริญญาตรี แต่ติดข้อบังคับของ สกอ.ที่ว่า แต่ละคณะที่จะเปิดหลักสูตรใหม่ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3 คน และอาจารย์อื่นๆอีกไม่น้อยกว่า 2 คน ขณะเดียวกันเมื่อต้องการหาอาจารย์ประจำเพื่อรองรับการเปิดภาควิชาภาษาพม่าก็ไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อบังคับเรื่องการขออัตรากำลังว่าต้องขาดแคลนอาจารย์ปัจจุบันก่อน จึงจะสามารถขออัตรากำลังได้

“ภาครัฐอาจปรับกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นเช่น ลดการบังคับจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรลง แล้วไปเพิ่มอาจารย์ผู้ช่วยอื่นแทน เพื่อให้เปิดหลักสูตรใหม่ได้ง่ายขึ้น”น.ส.วิชชุกร กล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มการเรียนภาษาในกลุ่มอาเซียนกำลังเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนปัจจุบันภาควิชามีเปิดสอนวิชาภาษาเวียดนามและกัมพูชาแล้ว ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสอบตรงเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละปี ขณะที่จำนวนผู้เรียนภาษาตะวันตก เช่น ภาษาฝรั่งเศส กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33890&Key=hotnews