รมว.ศึกษาสั่งชลอเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยชั่วคราว มอบ ก.ค.ศ.หาแนวทางเอาผิดให้ชัด

30 สิงหาคม 2556

มว.ศึกษา มอบ ก.ค.ศ.ทำแนวปฏิบัติใหม่ใช้เอาผิดผู้ทุจริตสอบครูผู้ช่วยให้ชัด พร้อมจัดประชุมทำความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง สั่งชะลอการเพิกถอนบรรจุชั่วคราว หลังผู้ถูกเพิกถอนร้องทุกข์อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมเหตุไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อนเขี่ยออกจากราชการ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เมื่อเร็ว ๆนี้ ว่า จากการรายงานผลการกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้มีมติตามข้อเสนอของดีเอสไอ ให้เพิกถอนการบรรจุผู้ที่ได้คะแนนสอบสูงผิดปกติ จำนวน 344 คนเป็นข้าราชการครู นั้น ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนการบรรจุได้ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมมายัง ก.ค.ศ. โดยให้เหตุผลการให้ออกจากราชการโดยทันทีนั้นไม่มีความเป็นธรรมเพราะเจ้าตัวยังไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ในการการประชุมก่อนหน้านี้ ก.ค.ศ.มีมติให้ไปหารือกับ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับกฏหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซี่ง อ.ก.ค.ศ.ก็มีความเห็นว่า มติ ก.ค.ศ.ที่ให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แจ้งไปยังผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งก็คือ ผอ.สถานศึกษา ให้ดำเนินการกับผู้เข้าสอบ จำนวน 344 ที่ดีเอสไอแจ้งว่าเข้าข่ายดำเนินการทุจริตการสอบคัดเลือก หากรายใดได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว ก็ให้ออกจากราชการเพราะถือว่าเป็นผู้บกพร่องในศิลธรรมอันดีสำหรับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญก็เห็นว่า เป็นมติที่ถูกต้องแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มี อ.ก.ค.ศ.บางเขตพื้นที่การศึกษา ได้ดำเนินการตามมตินี้แล้ว แต่บางเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่ยอมดำเนินการตาม ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สำนักงาน ก.คงศ.ทำแนวปฏิบัติในการดำเนินการและให้จัดประชุมชี้แจง อ.ก.ค.ศ.และผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนในทางปฏิบัติ โดยให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น เลขาธิการกฤษฎีกา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้มีประสบการณ์ในเรื่องการสอบทางวินัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง มาอธิบายเรื่องทั้งหมดตลอดกระบวนการของแนวปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีการร้องทุกข์จะทำอย่างไร กรณีบกพร่องทางศิลธรรมอันดี หรือขาดความสามารถเป็นเหตุให้ออกได้หมายความว่าอย่างไร ส่วนกรณีที่มี่การร้องทุกข์ว่าไม่ได้มีดำเนินการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง ก็ให้ อกคศ.ที่เกี่ยวข้อง และผู้อำนวยการโรงเรียนไปทบทวนการดำเนินการ โดยไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งทางปกครอง คือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกให้ออกได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

“การเพิกถอนการบรรจุเป็นข้าราชการ หรือการให้ออกจากข้าราชการนั้น เป็นคำสั่งทางปกครอง สมควรที่จะให้เจ้าตัวมีโอกาสชี้แจง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ได้ร้องเรียนมาว่าไม่ได้มีโอกาสชี้แจง เพราะฉะนั้น จึงให้ ก.ค.ศ.ไปทบทวนเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยให้ระงับการเพิกถอนให้ไว้ก่อน เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะถูกเพิกถอนหรือถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ได้มีการชี้แจงตัวเองตามขั้นตอนราชการก่อน หลังจากนั้น หากสอบสวนแล้วพบว่า ผิดก็อาจจะให้ออกอีกรอบหนึ่ง ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย “ นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปสำนักงาน ก.ค.ศ.จะเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้องมารับฟังคำชี้แจงถึงขั้นตอนและแนวปฏิบัติจาก นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษษฎีกา ซึ่งเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรตามมติ ก.ค.ศ. ทั้งในกรณีที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2.กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วแต่พยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอจะต้องทำอย่างไร และ3.กรณีที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ก็ให้ดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้จะมีการชี้แจงแนวปฏิบัติทั้งในส่วนที่สอบข้อเท็จจริงแล้วมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเพียงพอว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนวันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ยังได้พิจารณากรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายการทุจริตอีกจำนวน 204 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนสูงกว่า 80 คะแนนขึ้นไปซึ่งภายหลังการพิจารณา ก.ค.ศ.มีมติเห็นสมควรมอบข้อมูลนี้ให้กับศูนย์ประสานงานการสอบสวนการทุจริตการสอบบรรจุครูผู้ช่วย เพื่อดำเนินสอบสวนต่อไป

–ASTVผู้จัดการออนไลน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33920&Key=hotnews