ปัญหาเด็กอาชีวะ นักเรียนไทย-อเมริกันคล้ายกัน

30 สิงหาคม 2556

ปัญหาเด็กอาชีวะ นักเรียนไทย-อเมริกันคล้ายกัน
นักวิชาการมะกัน ชี้แนวทางออกของการแก้ปัญหา
นายทอม คอร์คอแรน ผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายการศึกษา Teachers College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวถึงระบบเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบโรงเรียนสายสามัญกรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ในการเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 4 ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดขึ้นว่า การศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย คือ เด็กออกกลางคัน สูงถึงร้อยละ 25 ร้อยละ 32 ไม่เรียนต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมปลาย ขาดทักษะความพร้อมในการประกอบอาชีพ และไม่นิยมเรียนต่อด้านอาชีวศึกษา ดังนั้น จึงได้มีการจัดการศึกษาทางเลือกหรือ Career Academies ขึ้นเป็นการจัดการศึกษาที่ผนวกด้านอาชีพไว้ในมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน และให้เด็กได้ค้นพบตนเองในการประกอบอาชีพหรืองานที่ชอบ จากการดำเนินงานมากว่า 30 ปี ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 8,000 แห่ง โดยหลักสูตรที่นักเรียนมีทักษะสามารถออกไปทำงานก็ได้หรือเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็ได้ มีทั้งหมด 16 กลุ่มอาชีพ ซึ่งต่างจากหลักสูตรของอาชีวะที่เน้นเทคนิคเฉพาะทางแต่หลักสูตร Career Academies สามารถเข้าสู่อาชีพได้มากถึง 79 อาชีพ มีรูปแบบการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือ

1.เป็นสายการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญในระดับ ม.3-6, ม.4-6 หรือ ม.5-6 รูปแบบที่

2.หลักสูตรเตรียมอาชีพเพื่อเข้าสู่วิทยาลัยชุมชน/มหาวิทยาลัย บูรณาการระหว่างวิชาชีพกับวิชาสามัญในระดับ ม.ปลาย เน้นการสอนในลักษณะโครงงานที่ให้ทั้งทักษะความรู้วิชาการและอาชีพ เชื่อมโยงหลักสูตรระดับอุดมศึกษานักเรียนสามารถเก็บสะสมรายวิชาพื้นฐานเพื่อในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ และ

3.การจัดการสอนแบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนและมหาวิทยาลัย โดยให้ภาคเอกชนได้มาร่วมออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เมื่อจบหลักสูตรนักเรียนสามารถมีทางเลือกได้ 3 ทาง คือ 1)เรียนต่อมหาวิทยาลัย 2)เรียนต่อสายเทคนิค และอาชีวศึกษาหรือ 3)เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีพื้นฐานการทำงานเพียงพอ โดยจะได้รับใบประกอบวิชาชีพ (Career Certificate) ด้วย ซึ่งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือทัศนคติของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนสูงๆ ดังนั้น การพยายามเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด จึงควรแนะนำให้ผู้ปกครองรู้จักกับเส้นทางสู่ความสำเร็จหลายๆ เส้นทาง ซึ่งอาจไม่ใช่การเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสายวิชาการเสมอไป

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33925&Key=hotnews