กคศ.ปัดรับครูผช.กลับ ปธ.โคราชหวั่นฟ้องวุ่น

2 กันยายน 2556

เลขาฯ ก.ค.ศ.ยันไม่ได้สั่งให้อดีตครูผู้ช่วยกลับเข้ารับราชการ มึน!ครูปัดโอกาสชี้แจง เลี่ยงตอบปฏิบัติทางปกครองครบหรือไม่

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีคำสั่งให้การพิจารณาลงโทษครูผู้ช่วย จำนวน 344 ราย ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า ส่อเข้าข่ายทุจริตการสอบบรรจุครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 เมื่อครั้งที่ผ่านมา ว่าให้การปฏิบัติการลงโทษเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเปิดโอกาสให้อดีตครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ได้รับโอกาสชี้แจงนั้น

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า กรณีครูผู้ช่วยได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการโดยยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ยังไม่มีโอกาสได้ชี้แจงนั้น ตนจำตัวเลขไม่ได้ว่าครูผู้ช่วยที่เข้าข่ายกรณีนี้มีกี่ราย เพราะที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขเข้ามาที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ทุกวัน ทั้งกรณีที่ให้ออกโดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว และให้ออกโดยที่ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่ได้สั่งให้กลับเข้ารับราชการ เพียงแต่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเปิดโอกาสให้อดีตครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการโดยที่ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้มีโอกาสชี้แจง ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ก็ให้ว่าไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วนถ้าอดีตครูผู้ช่วยกลุ่มดังกล่าว จะไม่มาชี้แจง ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ในการประชุม ก.ค.ศ.ที่ผ่านมา ไม่ได้หารือถึงประเด็นนี้ เพราะคิดกันว่าเมื่อได้รับสิทธิแล้ว ก็ควรจะมาใช้สิทธิกันทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การสั่งให้ออกจากราชการไปแล้ว สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้มาชี้แจงได้อีกหรือ นางรัตนากล่าวว่า สามารถทำได้ เมื่อถามต่อว่า ทางอดีตครูผู้ช่วยยืนยันว่าจะไม่มาชี้แจง ฉะนั้น จะถือว่าการดำเนินการของ ศธ. ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่จะนำมาสู่การไม่แพ้คดีถ้าหากมีการฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ นางรัตนากล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะไม่มีการหารือประเด็นนี้ในที่ประชุม ก.ค.ศ. อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าในการประชุมชี้แจงแก่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. อยู่ระหว่างประสานนัดวันประชุมชี้แจงกับนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มาเป็นผู้ชี้แจงแก่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯและผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น เข้าใจว่าน่าจะมีการซักถามประเด็นนี้ในที่ประชุม ทั้งนี้ หลังประชุมทางผู้บังคับบัญชาจึงจะทำหนังสือถึงอดีตครูผู้ช่วยให้มาชี้แจงต่อไป

นายอดิศร เนาวนนท์ ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 7 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครองครบถ้วนแล้วก่อนที่จะสั่งให้ครูผู้ช่วยออกจากราชการ โดยทางผู้อำนวยการโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้ครูผู้ช่วยมาชี้แจง ก่อนที่ทางเราจะยืนยันคำสั่งที่จะให้ออกจากราชการ

นายอดิศรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวล คือ กรณีของครูผู้ช่วยที่ถูกให้ออกจากราชการโดยที่ไม่ได้รับโอกาสชี้แจง ตนได้พูดคุยกับอดีตครูผู้ช่วยกลุ่มนี้หลายคน ต่างยืนยันว่าจะไม่ไปชี้แจงแน่นอนแม้จะได้รับโอกาส ซึ่งทาง ศธ.ไปบังคับให้พวกเขามาชี้แจงไม่ได้ด้วย เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว ฉะนั้น จะใช้คำสั่งหรือกฎหมายมาตราไหนไปบังคับ ทนายความของอดีตครูผู้ช่วยกลุ่มดังกล่าวแนะนำว่า ไม่ต้องไปชี้แจงกฎหมายมาตราไหนไปบังคับ ทนายความของอดีตครูผู้ช่วยกลุ่มดังกล่าวแนะนำว่า ไม่ต้องไปชี้แจงเพราะ ศธ.ตั้งธงไว้อยู่แล้วว่าเป็นผู้ทุจริต การให้ไปชี้แจงเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อว่าจะได้ไม่ถูกฟ้องร้อง ดังนั้น ทางทนายความจึงแนะนำว่าไม่ต้องไปชี้แจง และจะอาศัยช่องทางนี้ในการฟ้องศาลปกครอง มีการวิเคราะห์กันว่าจะมีโอกาสชนะคดีความสูงด้วย

ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯนครราชสีมา เขต 7 กล่าวต่อว่า การให้สัมภาษณ์ของนาย จาตุรนต์ ที่ระบุให้อดีตครูผู้ช่วยที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยที่ยังไม่มีการสอบสวนและมีโอกาสได้ชี้แจง ให้ได้กลับเข้ามารับราชการก่อน เพื่อจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเปิดโอกาสให้ชี้แจงนั้น กำลังก่อให้เกิดความสับสนและจะเกิดความวุ่นวายในทางปฏิบัติตามมาแน่นอน เพราะหากสั่งให้ระงับการให้ออกและให้กลับมาเข้ารับราชการจริง จะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องตามมาไม่จบ ทั้งการเรียกร้องเรื่องเงินเดือน เรื่องสิทธิต่างๆ ที่หายไปในช่วง 2-3 เดือนที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ดังนั้น จึงอยากขอความชัดเจนในเรื่องนี้ จากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กลับมาดูแลเรื่องนี้ต่อ เพื่อจะได้เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วขึ้น

–มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33933&Key=hotnews