สกสค.คัดเลือกครูรับรางวัล “พระพฤหัสบดีทองคำ”

6 กันยายน 2556

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) คัดเลือกผลงานครูเข้ารอบสุดท้าย 20 คน ก่อนเฟ้นให้เหลือ 10 คนสุดท้าย เพื่อรับรางวัล “พระพฤหัสบดีทองคำ” ประจำปี 2556 ประกาศผล 9 ก.ย.นี้

นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า สกสค. ได้เล็งเห็นความสำคัญของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงได้จัดมอบรางวัล “พระพฤหัสบดีทองคำ” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณธรรมและน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จำนวน 10 คน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2552 สกสค. ได้คัดเลือกครูจากทั่วประเทศให้ได้รับรางวัล “ครูผู้ทำคุณประโยชน์ทางด้านการศึกษา” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ซึ่งในแต่ละปีจะมีครูได้รับรางวัลประมาณ 800 คน และจนถึงปี 2555 มีครูได้รับรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 3,062 คน ดังนั้นในปี 2556 สกสค.จึงได้มีการคัดเลือกครู จาก 3,062 คนดังกล่าว ให้เหลือ 99 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการ “พาครูสู่ดินแดนพุทธภูมิ 99 คน” โดยได้พาครูไปทัศนศึกษาและจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลในประเทศอินเดียและเนปาล หลังจากนั้นได้ให้ครูทั้ง 99 คน ส่งผลงานทางด้านคุณธรรม จริยธรรมมาให้คณะกรรมการพิจารณา โดยในรอบแรกได้คัดให้เหลือ 49 คน จนมาถึงการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 20 คน ซึ่งจะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน เพื่อการพิจารณาเชิงประจักษ์ในการคัดเลือกให้เหลือ 10 คน เพื่อรับรางวัล “พระพฤหัสบดีทองคำ” ส่วนครูที่เหลืออีก 10 คน จะได้รับรางวัล “พระพฤหัสบดีเงิน” และครูผู้ผ่านเกณฑ์คัดเลือกในรอบแรกที่เหลืออีก 29 คน จะได้รับรางวัล “พระพฤหัสบดีทองแดง” โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล “พระพฤหัสบดีทองคำ” ประจำปี 2556 ในวันที่ 9 กันยายน 2556 และจะมีการมอบรางวัล ในวันที่ 16 มกราคม 2557

” ครูที่ได้รับรางวัลพระพฤหัสบดีทองคำ จะเป็นผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ในด้านการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมีการประเมินด้านความอุตสาหะ ขยัน อดทน มุ่งมั่น และรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของงาน การยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม หลักนิติธรรม ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้มีส่วนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม โดยมีการประเมินด้านการดำรงชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผู้ละเว้นอบายมุขและสิ่งเสพติด เป็นผู้ใช้หรือให้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลและทางราชการอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้อง เป็นผู้ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีเหมาะสมกับสถานภาพและตำแหน่งหน้าที่ อีกทั้งเป็นผู้ประหยัด มัธยัสถ์ และอดออม” เลขาธิการสกสค.กล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34013&Key=hotnews