ศธ.สั่งตั้งวอร์รูมยกระดับบทเรียนรับโครงการนานาชาติ

30 กันยายน 2556

ศธ.ตั้งวอร์รูมยกระดับบทเรียนวัดผลสัมฤทธิ์ทางการประเมินนักเรียน ตามโครงการนานาชาติ
เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุม ปฏิบัติการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการประเมินตามโครงการนานาชาติของนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี (สสวท.) ผู้บริหารองค์กรหลัก นักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 50 คน เข้าร่วม

นายจาตุรนต์กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ได้ไปหารือกับฝ่ายการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ด้วยตนเองแล้ว โดยพบว่าประเทศฟินแลนด์ไม่ได้สนใจคะแนนสอบ PISA ร่วมถึง ประเทศจีนด้วย ที่ไม่เคยเข้าสอบ PISA มาก่อน แต่พอสอบก็ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยหากจะพัฒนาทั้งสามด้านให้ดีต้องตั้ง เป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดในประเด็นสำคัญๆ เพื่อให้ คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งหากคุณภาพการศึกษาดีขึ้นก็จะส่งผลให้อันดับในการสอบ PISA ดีขึ้นด้วย

ดังนั้น จึงต้องมีการถอดบทเรียนและประสบการณ์ เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ทั้งระบบ อาทิ ต้องรู้ว่าข้อสอบวัดอะไร และถ้าจะสอนให้เด็กสอบได้ต้องสอนอย่างไร โดย สสวท.เคยเสนอว่า ให้โรงเรียนนำข้อสอบ PISA ไปให้เด็กทดลองทำ และนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ว่า เด็กทำข้อสอบข้อใดไม่ได้ และทำไม่ได้เพราะอะไร ครูต้องสอนอย่างไร ทั้งนี้หวังว่า ข้อมูลที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้จะนำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท. กล่าวว่า ระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จจะต้อง สามารถจัดให้นักเรียนมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน ไม่ว่านักเรียนจะมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจอย่างไร เช่น ประเทศที่ได้คะแนนสูงๆ อย่างประเทศ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลี เป็นต้น สำหรับประเทศไทยค่าดัชนีเฉลี่ยของสถานะทางสังคม ของโรงเรียนกลุ่มสูงและต่ำ มีความแตกต่างกัน ค่อนข้างมาก ขณะที่ระบบโรงเรียนที่ประสบความ สำเร็จส่วนใหญ่ให้อิสระแก่โรงเรียนในการกำหนด การเรียนการสอน และออกแบบการประเมินเอง

“ขณะที่ผลการศึกษาการเรียนการสอนในระดับนานาชาติพบว่า ยิ่งเด็กใช้คอมพิวเตอร์มาก คะแนนยิ่งต่ำ ส่วนเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ในระดับปานกลางคะแนนจะดีขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถมาแทนครูได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป และหากจะใช้ก็ควรให้อยู่ในการดูแลของครู โดยสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ไม่ใช่การปรับหลักสูตร เพราะหลักสูตร ส่วนใหญ่ดีอยู่แล้ว แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ครูสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์เป็น” นางสุนีย์กล่าว

นายธงชัย ชิวปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ PISA อันดับแรกจะต้องพัฒนาสื่อในการอ่าน การเขียนและการคิดวิเคราะห์ขึ้นเป็นการเฉพาะ สำหรับใช้ในการเรียนการสอนของเด็กระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป และในระยะเร่งด่วน ปีการศึกษา 2556-2557 เสนอให้ ส่วนกลาง/เขตพื้นที่ จัดทำข้อสอบกลางตามแนว PISA สำหรับให้โรงเรียนนำไปใช้ในการสอบปลาย ภาคกับนักเรียน ในบางรายวิชาที่ตกลงกัน และจะ ต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อสอบที่โรงเรียนใช้ว่ามีความเหมาะสม มีความน่าเชื่อถือได้เพียงใดต้องมีการ พัฒนาอย่างไร โดยทั้งหมดนี้จะต้องกำหนดให้เกิด ความชัดเจนลงไปในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง รวมถึงวัฒนธรรม การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย

นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีแผนปฏิบัติการ PISA โดยจะเริ่มจากระยะสั้น เตรียมการกับนักเรียน ม.2 ที่จะสอบในปี2558 แผนระยะกลาง ที่จะเตรียมสำหรับการสอบในปี 2561 และแผนระยะยาวเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน โดยจะต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการ PISA ขึ้นมาเป็น PISA วอร์รูม ที่มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34284&Key=hotnews