เผยผลวิจัยสถานการณ์อาชีวศึกษาในปัจจุบัน

1 ตุลาคม 2556

เปิดงานวิจัยสถานการณ์อาชีวศึกษาไทย ขาดแคลนบุคลากรปัญหาสำคัญ สถานประกอบการระบุเด็กอาชีวะขาดทักษะหลายด้าน

วานนี้ (30ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) ได้จัดการสัมมนา อภิปรายและวิพากษ์ผลการวิจัยสถานการอาชีวศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาของประเทศ ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการมอบหมาย โดยนายธารี วารีสงัด หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มจพ. ได้นำเสนอผลการวิจัยสถานการอาชีวศึกษา ว่า มีสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นและมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นจำนวนมาก มีหลักสูตรและสาขาการศึกษาที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการแรงงานในแต่ละภูมิภาค ระบบการจัดการศึกษาฝึกงาน/ทวิภาคีเป็นระบบที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพ ช่วยให้นักศึกษาที่เรียนจบมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แรงงานเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ ครูอาชีวศึกษามีบทบาทในสังคมโดยเฉพาะบทบาทการให้บริการวิชาการด้านต่าง ๆ มีอาจารย์อาวุโสที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ มีความร่วมมือกับสถานประกอบการ แต่ในภาพรวมผลงานวิจัยของครูและผลงานสิ่งประดิษฐ์ของทั้งครูและนักศึกษามีค่อนข้างน้อย

นายธารีกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)มีน้อยลง แต่คนที่จบแล้วเรียนต่อมากขึ้น ประกอบอาชีพน้อยลงโดยเฉพาะในระดับปวช. สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาที่เป็นการคิดจากจำนวนผู้เรียนทำให้สถานศึกษาขนาดเล็กที่มีผู้เรียนน้อยประสบปัญหาขาดแคลนงบฯเพื่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และขาดแคลนงบฯเพื่อการพัฒนาการศึกษา ขณะเดียวกันหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเน้นเนื้อหาทักษะวิชาชีพน้อยเกินไป โดยเฉพาะในห้องเรียนยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาวิชาการโดยอิงทฤษฎีค่อนข้างมาก ทำให้มีผลต่อการเตรียมความพร้อมก่อนฝึกงาน/ปฏิบัติงานทวิภาคี อีกทั้งหลักสูตรระดับปวช.บางสาขาก็ขาดความชัดเจนว่าจะมุ่งเน้นเพื่อประกอบอาชีพหรือเพื่อการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

” นอกจากนี้สถานประกอบการในแต่ละภูมิภาคไม่ค่อยให้ความร่วมมืออย่างจริงจังกับการฝึกงาน/ปฏิบัติงานทวิภาคี ทำให้นักศึกษาต้องหาที่ฝึกงานและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะสถานประกอบการให้ความเห็นว่านักศึกษายังขาดทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความมีวินัย ความขยันและความอดทน รวมถึงขาดทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารด้วย และที่สำคัญสถานการณ์ด้านบุคลากรขณะนี้คือ ครูประจำการที่มีประสบการณ์สูงมีแนวโน้มเกษียณอายุมากขึ้น แต่ได้รับอัตราทดแทนน้อยลง ขณะเดียวกันครูอัตราจ้างก็ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ทำให้ครูที่มีทักษะสูงเปลี่ยนงานบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา” นายธารี กล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34300&Key=hotnews