สพฐ.เล็งคัด ผอ.สพม.-สพป. 30 ตน.ว่าง

24 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งหน้า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.) เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือเกษียณอายุราชการ จากนั้นประมาณ 1-2 เดือนจะเปิดสอบคัดเลือกแต่งตั้ง ผอ.สพป.และ ผอ.สพม.เฉพาะตำแหน่งที่ว่างอยู่ประมาณ 30 อัตราจากอัตราที่ว่างทั้งหมด 47 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งที่จะเปิดสอบจะไม่รวม 19 ตำแหน่ง ที่อยู่ ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องในศาลปกครอง หากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาให้ผู้ฟ้องชนะ สพฐ.ก็ยังมีอัตรา เพื่อบรรจุกลุ่มที่ฟ้องได้แต่หากคำพิพากษาออกมาว่าดำเนินการชอบก็สามารถดำเนินการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งหรือเรียกผู้ที่สอบขึ้นบัญชีมาบรรจุแต่งตั้งได้

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ดำเนินการให้เปิดสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยหลังจากการโยกย้ายข้าราชการครูประจำปี 2556 ซึ่งการเปิดสอบแข่งขันจะจัดสรรจากอัตราเกษียณอายุราชการประจำปี 2556 ที่ สพฐ.ได้รับคืนมาประมาณ 13,000 อัตรา จะแบ่งการสอบแข่งขันเป็น 2 ส่วนคือ การสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปประมาณ 75% จากอัตราเกษียณที่ได้รับจัดสรรคืนมา และกรณีการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษหรือ ว12 ประมาณ 25% จากอัตราเกษียณ ซึ่งน่าจะเปิดสอบใหม่ได้ประมาณ 1 พันอัตรา ทั้งนี้ ในการเปิดสอบคัดเลือกรอบใหม่นี้จะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดเหมือนเดิม อาทิ สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบเองแต่จะให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ และการสอบจะเพิ่มการสอบสัมภาษณ์หรือการสอบภาค ค จากเดิมที่มีแค่การสอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข เท่านั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังรวบรวมรายละเอียดกรณีที่กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยยื่นฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองจากกรณีที่ถูกให้ออกจากราชการโดยมิชอบประมาณ 3 ราย โดย ก.ค.ศ.จะต้องทำคำชี้แจงไปยังศาลปกครองตามกระบวนการและขั้นตอนที่ศาลปกครองกำหนด ส่วนกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือแจ้งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้ ก.ค.ศ.แจ้งให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 2,161 ราย ที่อาจมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น สัญญาจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอนมีระยะเวลารวมกันไม่ครบ 3 ปีนั้น ขณะนี้ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากดีเอสไอและจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก.ค.ศ. 30 ตุลาคมนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34551&Key=hotnews