ถึงเวลาที่รัฐต้อง…ลงทุนผลิตครู…อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

25 ตุลาคม 2556

คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มีพัฒนาการที่ด้อยคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวชี้วัดหลายอย่าง

คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย มีพัฒนาการที่ด้อยคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวชี้วัดหลายอย่าง นับตั้งแต่ตัวชี้วัดระดับนานาชาติ ผลสอบ PISA (Programmer for International Student Assessment) ซึ่งจัดสอบโดยองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผลการสอบมีพัฒนาการที่ตกต่ำลงตลอด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่กลุ่มท้าย เช่น บราซิล แม้คะแนนจะต่ำแต่หากพิจารณาจากพัฒนาการเขาดีขึ้น

นอกจากนี้จากการประเมินคุณภาพการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียนในงานเวิลด์อีคอนอมิกฟอรั่ม หรือ WEF ที่เจนีวา ปี 2555 พบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย อยู่ลำดับที่ 6 ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา อยู่ลำดับที่ 8 ตามหลังฟิลิปปินส์และกัมพูชา (เดลินิวส์ : 25 ธ.ค. 2555) และผลการวิจัยแนวโน้มการจัดการศึกษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (The Trends in International Mathematics and Science Study : TIMSS) พ.ศ. 2554 ที่จัดโดย IEA (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement) พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 28 วิทยาศาสตร์อยู่ลำดับที่ 25 จาก 45 ประเทศ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มระดับแย่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วิชาคณิตศาสตร์อยู่ลำดับที่ 34 วิทยาศาสตร์อยู่ลำดับที่ 29 จาก 52 ประเทศ โดยคณิตศาสตร์จัดอยู่ระดับแย่ วิทยาศาสตร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพอใช้ ส่วนการสอบ O-Net ก็มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยของผลการสอบรายวิชาหลักทั้งวิทยา ศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ตกต่ำมาก

การที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อาจมาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย แต่ปัจจัยเหล่านั้น อาจมีอิทธิพลมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ความใส่ใจของผู้ปกครอง นโยบายรัฐที่ไม่เป็นเอกภาพขาดความต่อเนื่อง ระบบการสอนที่ไม่มีการตกซ้ำชั้น การปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งปฏิรูปแต่โครงสร้าง แต่ไม่เคยหันมาปฏิรูปการเรียนการสอนของครูอย่างจริงจัง ผู้บริหารโรงเรียนที่สนใจแต่กายภาพมากกว่าการพัฒนางานวิชาการ และเตรียมโยกย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่กว่าเดิม ศักดิ์ศรีดีกว่าเดิม เป็นต้น แต่ที่แน่นอนที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับยืนยันตรงกันว่าคุณภาพการศึกษาจะต้องเริ่มต้นที่ครูเป็นปัจจัยที่ตรงประเด็นที่สุด

ข้อเขียนชิ้นนี้ ต้องการสะท้อนในมุมของผู้ผลิตครูว่าสถาบันผลิตครู มีส่วนอย่างมากในกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะหากสถาบันผลิตครูด้อยคุณภาพ จะไปหวังอะไรกับคุณภาพครู และหากคุณภาพครูด้อยคุณภาพ ก็อย่าไปหวังว่าคุณภาพการศึกษาจะดีไปกว่าคุณภาพของครูไปได้ (คำกล่าวของ Sir Michael Barber, Minneapolis: 6 August 2009) หากพิจารณาจากพัฒนาการของการอุดมศึกษาไทย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา มีข้อสังเกต ดังนี้

1. ภาครัฐ มีทัศนคติโดยภาพรวมต่อระบบอุดมศึกษาว่า เป็นการศึกษาฟุ่มเฟือย เป็นการศึกษาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศแต่อยู่ในลำดับต่ำ ผู้ที่ต้องการเรียนควรจะลงทุนเอง เพราะเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้เรียนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่อตนเองสูงกว่าผลตอบแทนคืนต่อสังคมโดยรวม รัฐจึงพยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษาไปที่ผู้เรียน จากเดิมรัฐเคยสนับสนุนคนเรียนระดับอุดมศึกษาในสัดส่วนที่อาจสูงถึงร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายจริงต่อการผลิตบัณฑิตหนึ่งคน แต่สภาพปัจจุบันผู้เรียนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก จึงส่งผลให้ค่าเรียนระดับอุดมศึกษาสูงขึ้น แต่จะมีประชาชนสักกี่คนที่เข้าใจว่ารัฐต้องการผลักภาระนี้ให้ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยมิใช่ประเทศสังคมนิยม หรือมีการจัดรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศในยุโรป ที่หากต้องการเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยประชาชนต้องเสียภาษีประมาณร้อยละ 30 เช่น ฝรั่งเศส โปแลนด์ ออสเตรีย เป็นต้น

2. ค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตบัณฑิต รวมทั้งบัณฑิตครูสูงขึ้นมาก แต่การเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษายังไม่สามารถเก็บจนถึงขั้นจุดคุ้มทุนได้อย่างแท้จริง เพราะในมหาวิทยาลัยก็มีการเมืองที่ไร้เหตุผล ทั้งที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงกว่ามหาวิทยาลัยไทยหลายสิบเท่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกร้องเอาอะไรกับคุณภาพทั้งอาคารสถานที่ การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ไม่ต้องอื่นไกล คณะศึกษาศาสตร์ Malaya University ประเทศมาเลเซีย มีงบประมาณมากพอที่จะจ้างอาจารย์เก่ง ๆ ระดับโลกมาเป็นอาจารย์ โดยมีถึงร้อยละ 39 ของอาจารย์ทั้งคณะ ถามว่าคณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยมีงบประมาณมากพอที่จะทำเช่นนี้ได้หรือไม่

3. สภาพการบริหารงานของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยภาพรวม อธิการบดี คณบดี จะต้องรับผิดชอบหางบประมาณมาให้เพียงพอต่อการบริหารงาน นับตั้งแต่เงินเดือนอาจารย์ที่ต้องจ้างเพิ่มเอง งบฯเพื่อขึ้นเงินเดือน งบฯ เพื่อการพัฒนาคณาจารย์และนิสิต งบฯเพื่อการดูแลอาคารสถานที่ ยานพาหนะ และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ทั้งที่ทุกวันนี้รัฐสนับสนุนงบฯ ก้อนโตที่สุดก็เฉพาะงบฯ เงินเดือน การลงทุนสร้างอาคาร (นาน ๆ จะได้รับ) ส่วนงบฯ ดำเนินการผู้บริหารต้องหามาเอง เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ต้องเห็นใจมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ชื่อเสียงยังสู้มหาวิทยาลัยเก่า ๆ ไม่ได้ เมื่อมีนักเรียนมาสมัครมาก ๆ ก็ต้องรับไว้ก่อน ก็เพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของ “ธุรกิจการศึกษา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากใครจะบอกว่า ถ้านักเรียนไม่มีคุณภาพก็ไม่ต้องรับ หรือรับน้อย ๆ ถามว่า “ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเงินเดือนคณาจารย์ ใครจะรับผิดชอบจ่ายแทน ไม่เหมือนสมัยก่อนรับนิสิตนักศึกษามาสอน 5 คนก็อยู่ได้ เพราะรัฐรับผิดชอบทุกอย่าง การคัดเลือกก็เข้มข้น เอาคุณภาพได้ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนจนหย่อนคุณภาพผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมประชุมบอร์ดบริหารของ SEAMEO RIHED ครั้งที่ 21 ที่ National Institute of Education (NIE) ของสิงคโปร์ ในฐานะต้องไปนำเสนอ Country Report เรื่อง ครุศึกษาของประเทศไทย วันที่ 26-29 ก.ย. 2556 และได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์ Oon-Seng TAN คณบดีของ NIE และ Mr.Ng CherPong ผู้ช่วยปลัดกระทรวงด้านนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ สิงคโปร์ เกี่ยวกับปัญหาระบบการผลิตครู ทำให้ทราบว่า สิงคโปร์ถือว่าการผลิตครูเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องลงทุน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบงบประมาณ 100% และลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้กับ NIE เป็นการเฉพาะด้วย รวมถึงมีการลงทุนสร้างห้องเรียนต้นแบบในอนาคตที่ทันสมัยอย่างเต็มที่

4. ระบบการผลิตครูในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หากต้องการคุณภาพที่แท้จริง ต้องมิใช่การจัดการเรียนการสอนแบบแยกส่วน คือ ต้องการผลิตครูวิทยาศาสตร์ก็จะแยกส่วนวิทยาศาสตร์ไปเรียนกับอาจารย์ที่สอนคนให้ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเรียนหลักวิชาชีพครูกับคณะศึกษาศาสตร์ แต่ของ NIE จะจัดสอนโดยคณาจารย์ที่เคยเป็นครูในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อน แล้วนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อเป็นครูวิทยาศาสตร์ใน NIE เพราะครูวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการสอนลงลึกในเนื้อหาแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่การสอนคนให้ไปเป็นครูวิทยาศาสตร์ต้องสอนให้แม่นหลักการพื้นฐาน โดย NIE จะมีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญทั้งหลักวิชาชีพครูและวิทยาศาสตร์ในคนคนเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาหนักที่สุดของประเทศไทย เพราะมีผู้มีอำนาจเชิงนโยบายไม่เชื่ออย่างที่ NIE ปฏิบัติ ทุกวันนี้ได้พัฒนาการไปจนถึงขั้นผลิตครูโดยคณะที่มิใช่ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ใช่มืออาชีพ แล้วจะได้ครูมืออาชีพได้อย่างไร

5. การไม่สนับสนุนไม่ส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์ใน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ส่งผลลบและผลกระทบชัดเจนถึงปัจจุบัน เพราะในอดีตรัฐมีทุนพัฒนาคณาจารย์ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่มาเกือบ 20 ปีนี้รัฐไม่มีทุนสนับสนุนอย่างชัดเจน ทำให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ส่วนใหญ่จบการศึกษาในประเทศ หรือไม่ก็จากประเทศแถบเอเชียที่ไม่ต้องลงทุนสูง ทำให้ศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หวังจะผลิตครูเพื่อไปสอนนักเรียนโดยใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงการจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของอาเซียนยิ่งยากไปใหญ่

6. การยกฐานะวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ การยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัย และการยุบกรมการฝึกหัดครู ส่งผลให้ระบบการผลิตครูของไทยอ่อนแอลงอย่างชัดเจน จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่มีลักษณะคล้าย NIE ของสิงคโปร์ กลับกลายเป็นคณะศึกษาศาสตร์ที่อ่อนแอ มีอาจารย์บางท่านเคยเสนอให้ยุบคณะศึกษาศาสตร์เป็นแค่ภาควิชาก็พอ นับเป็นการเดินนโยบายที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดพิจารณา
1) ยอมรับและปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การผลิตครูต้องเป็นการลงทุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ เป็นสาขาวิชาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสาขาวิชาด้านวิทยา ศาสตร์สุขภาพ อาจต้องรับผิดชอบทั้งระบบ แต่ควรจัดสรรในรูปนักเรียนทุนการผลิตครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

2) ส่งเสริมให้มีสถาบันผลิตครูคุณภาพที่มีลักษณะของการบูรณาการวิชาชีพครูกับความรู้เฉพาะ เพื่อสร้างคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูงในการสร้างคนให้เป็นครูคุณภาพ และหากเป็นระบบปิดได้จะยิ่งทำให้การกำกับคุณภาพทำได้ง่ายขึ้น

3) คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่มีมากถึง 74 สถาบัน ควรปรับเปลี่ยนบทบาทและส่งเสริมให้รับผิดชอบการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) พัฒนาระบบการดูแลครูใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วิชาชีพ (Induction period) ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่วิชาชีพได้อย่างราบรื่น และมีการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มิใช่ปล่อยให้ไปหาทางแก้ปัญหาเองจนบางครั้งสร้างเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาชีพครูไปตลอดชีวิต

5) อนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มการจำกัดจำนวนนิสิต นักศึกษาครูไม่ให้เกินห้องละ 30 คน จะยิ่งกดดันให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตบัณฑิตครูมากขึ้น

6) การดำเนินงานตามแนวทางข้างต้นจะต้องมีคณะทำงานที่ไม่ผูกติดกับรัฐบาลหรือรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย

จากข้อเสนอดังกล่าวหากได้รับการพิจารณาและนำสู่การปฏิบัติบ้าง เชื่อว่า สถานการณ์ปัญหาของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะเปลี่ยนไปสู่กระบวนการเชิงคุณภาพมากขึ้นได้

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34570&Key=hotnews