ร้องวิทยฐานะเหลื่อมล้ำกลุ่มพีอาร์-นักวิชาการชงแก้ ก.ม./สพฐ.จ่อย้าย ผอ.ด้อยคุณภาพ

25 ตุลาคม 2556

ที่หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 24 ต.ค.56 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดงานประชุมสมัชชาบุคลากรทางการศึกษาว่าด้วยการสร้างความพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีสมัชชาบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) ประมาณ 1,500 คนเข้าร่วม โดยได้เชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มาเป็นประธาน พร้อมกันนี้นายชาญ คำภิระแปง ประธานสมัชชาบุคลากรทางการศึกษา ได้ชี้แจงต่อนายจาตุรนต์ ถึงการเหลื่อมล้ำของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2547 กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา38 ค (1) ได้แก่ ครูผู้สอน ผู้บริหารการศึกษาผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ได้รับเงินวิทยฐานะตำแหน่งชำนาญการ 3,500 บาท และตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (คศ.3) รับเงินวิทยฐานะ 5,600 x 2=12,000 บาทขณะที่บุคลากรฯ ตามมาตรา 38 ค (2) ได้แก่นักประชาสัมพันธ์ นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล และนักจัดการงานทั่วไปตำแหน่งชำนาญการไม่ได้รับเงินวิทยฐานะตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินวิทยฐานะ 3,500 บาท ดังนั้น จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกให้บุคลากรฯ38ค (2) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 13,700 คนทั่วประเทศได้มีสิทธิ์เท่าเทียมกับบุคลากรฯ 38 ค (1) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

ทั้งนี้ นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2547 และ พ.ร.บ.เงินเดือนครู มาตรา 31 วรรค 2 คงต้องแก้ไขกันทั้งระบบและอาจต้องยุบบางตำแหน่งซึ่งต้องวิเคราะห์ให้ดีเพื่อกำหนดภารกิจของงานให้บุคลากรฯ 38 ค (2) จะเข้าลู่เดียวกับบุคลากรฯ 38 ค (1) ได้

วันเดียวกัน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงกรณีงานวิจัยเรื่องพัฒนาการของการทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ที่ระบุถึงการเน้นบทลงโทษโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินภายนอก จะถูกตัดงบประมาณว่างบฯ ปกติที่โรงเรียนจะได้รับการจัดสรร ก็คือเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนอยู่ได้ด้วยงบฯ นี้ ตัดไม่ได้เด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนงบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงบฯพัฒนาสถานศึกษา ก่อสร้างซ่อมแซมอาคารสถานที่ หรืองบฯ อบรมต่างๆ นั้นอาจถูกตัดหรือปรับลดงบฯ ได้ตามดุลพินิจของสำนักงบประมาณ หรือชั้นพิจารณาของกรรมาธิการส่วนการโยกย้ายผู้บริหารหากไม่มีคุณภาพนั้นสพฐ. ต้องทำอยู่แล้ว แต่จะย้ายไปไว้ส่วนใดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกนั้น สพฐ. จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าจะดำเนินการกับกำลังพลเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34572&Key=hotnews