บ้านหนังสืออัจฉริยะ ‘กศน.อุบลราชธานี’ กระจายความรู้สู่ชุมชน

28 ตุลาคม 2556

วัชรพล มีสวัสดิ์

น่าตระหนกตกใจไม่น้อยกับข้อมูลอัตราการอ่านหนังสือของคนไทย จากสถิติล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ พบว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละประมาณ 2-5 เล่ม ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ อ่านหนังสือปีละ 50-60 เล่ม และเวียดนาม 60 เล่ม

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาล โดยการนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมอนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำโครงการ “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ผลักดันให้มีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ

ทศพร อินทรพันธ์ ผอ.กศน.จังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า กศน.ได้นำร่องจัดตั้ง “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” 41,800 หมู่บ้านภายในปี 2556 จาก 80,000 กว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชน ในส่วนของ กศน.จังหวัดอุบลราชธานี จะไม่กำหนดว่าจะต้องซื้อหนังสือเล่มใดบ้าง จะให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าหากในบ้านหนังสืออัจฉริยะมีหนังสือที่ประชาชนในพื้นที่นั้นชื่นชอบ ก็จะจูงใจให้คนเข้ามาอ่านหนังสือมากกว่าการจัดหาหนังสือลงไปให้

“ผมมองว่าการส่งเสริมการอ่านไม่ได้หมายความว่าจะต้องอ่านหนังสือวิชาการเท่านั้น แต่ควรเป็นหนังสือที่ทุกคนเห็นแล้วอยากหยิบขึ้นมาอ่านมากกว่า มีหลายคนที่ได้ดีจากการอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว เป็นการอ่านหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต อีกทั้งปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ แต่หนังสือยังมีความสำคัญอยู่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถหาความรู้และรับข้อมูลข่าวสารจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทั้งหมด นอกจากบ้านหนังสืออัจฉริยะจะเป็นแหล่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมนั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิ กิจกรรมสร้างรายได้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดอบรมฝึกอาชีพด้วย”

“ทศพร” ระบุด้วยว่า บ้านหนังสืออัจฉริยะเป็นเสมือนธนาคารความรู้ใกล้บ้าน ที่มีข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย ส่วนทำเลของการจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะจะตั้งอยู่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน อาทิ ร้านกาแฟ ร้านค้า บ้านผู้มีจิตศรัทธา โดยมีอาสาสมัครบ้านหนังสืออัจฉริยะซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่คอยให้บริการประชาชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ทั้งด้านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วารสาร นวนิยาย และหนังสือส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ
ด้าน กัญญาภัทร คำแก้ว เจ้าหน้าที่ กศน.อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระบุว่า การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของคนทุกระดับ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆ ให้แก่ตนเอง ดังนั้น ในบ้านหนังสืออัจฉริยะจะต้องจัดหนังสือไว้อย่างหลากหลาย ทั้งหนังสือพิมพ์ที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน หนังสือเกี่ยวกับการแนะนำอาชีพ เพื่อเป็นการชี้ช่องทางการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ หรือคิดจะทำงานเสริม ทั้งนี้อยากให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเป็นความรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ณิชชาภัทร วงษ์ปัน อาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่าน บ้านหนังสืออัจฉริยะ กศน.ตำบลธาตุ หมู่ 8 บ้านดอนกลางใต้ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนในการสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน ทั้งนี้ หนังสือทุกเล่มจะมีมูลค่าได้ ต่อเมื่อมีการหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน

ด.ช.ปัทมาภรณ์ ศิลาเกษ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านดอนกลางสงเคราะห์ อ.วารินชำราบ บอกว่า ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมได้ชวนเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือที่ศาลากลางบ้านอยู่เป็นประจำ หนังสือที่หาอ่านส่วนใหญ่เป็นพวกการ์ตูน คุณครูบอกว่าหนังสือทุกเล่มมีประโยชน์อย่างน้อยที่สุดเป็นการฝึกการอ่านได้ ไม่เหมือนดูการ์ตูนในทีวี เพียงดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

ขณะที่ จิราภรณ์ เจริญพงษ์ทวีสิน ชาวบ้านซึ่งมักจะแวะเวียนไปอ่านหนังสือ ที่บ้านหนังสืออัจฉริยะ บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 10 ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ความรู้มาอยู่แค่เอื้อม เพราะที่ผ่านมาถ้าจะอ่านหนังสือต้องไปที่ห้องสมุดในตัวเมือง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านมาก แต่ปัจจุบันเมื่อมีบ้านหนังสืออัจฉริยะทำให้ไม่ต้องเดินทางไกล เดินทางสะดวกมากเพราะอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน และมีหนังสือหลากหลายให้เลือกอ่าน

“ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอมีบ้านหนังสืออัจฉริยะอยู่ใกล้ๆ จะมาอ่านหนังสือเกือบทุกวัน อย่างน้อยมารับรู้ข่าวสารผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลังจากนี้จะช่วยไปบอกต่อให้เพื่อนบ้านมาอ่านหนังสือด้วย อย่างไรก็ตาม หนังสือที่อยากได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีคือ หนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งได้แจ้งกับอาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่านไปแล้ว คิดว่าในเร็วๆ นี้คงจะมีหนังสือที่อยากอ่านมาให้อ่านด้วย”

วิชัย แก้วกิ่ง ชาวบ้านบ้านโนนสมบูรณ์ เสริมว่า การมี “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” อยู่ในชุมชน จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ดีสุดให้แก่บุตรหลาน โดยผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กได้ซึมซับ และกลายเป็นคนรักการอ่านตามมาในที่สุด
แม้การสร้างนิสัยรักการอ่านจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อแน่ว่าอย่างน้อย “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” จะเป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้คนไทยเข้าถึงและอ่านหนังสือกันมากขึ้น

หลังจากนี้คงต้องร่วมกันลุ้นว่า “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้สถิติค่าเฉลี่ยการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และถึงเวลาแล้วที่ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่า…
“วันนี้คุณอ่านหนังสือแล้วหรือยัง!?!”

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34592&Key=hotnews