ทปอ.รับถกข้อสอบกลางแนะมหา’ลัยต้องร่วมออกแบบ/จุฬาฯเร่งทำโทเฟลภาษาไทย

21 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ จะจัดทำข้อสอบกลางเพื่อให้มหาวิทยาลัยและคณะต่างๆ นำคะแนนไปใช้ในการรับตรงเพื่อแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ และลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ว่า ที่ผ่านมา สทศ.จัดสอบ 7 วิชาสามัญ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ในการรับตรง ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์อยู่แล้ว แต่นโยบายที่จะให้มีการจัดสอบกลางขึ้นอีก ทางสทศ.ก็คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อสอบกลางจะมีลักษณะอย่างไร ต้องให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันออกแบบ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแล้ว

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ข้อสอบกลาง เพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยวิธีการรับตรงนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะการที่คณะ/มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองเพราะต้องการสอบวิชาเฉพาะทางของแต่ละคณะ/สาขา อาทิคณะแพทยศาสตร์ อาจจะต้อง การคัดเด็กที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ขณะที่คณะนิติศาสตร์ ก็อาจจะต้องการเด็กที่มีความรู้ ความสามารถอีกแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน แต่ในฐานะประธาน ทปอ. ตนรับจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมทปอ. ต่อไป ส่วนวิธีการก็อาจ จะเป็นลักษณะเดียวกับการรับของกลุ่มแพทย์ อาทิ คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศ อาจจะร่วมตัวกันและออกข้อสอบเพื่อรับนักศึกษา เป็นต้น วันเดียวกัน

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร ได้รับเป็นเจ้าภาพในการออกแบบ “แบบทด สอบภาษาไทย”สำหรับคนไทยเจ้าของภาษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้มีแบบทดสอบทักษะภาษาไทย เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ที่ผู้เรียนจะต้องผ่านการประเมินความสามารถทางภาษานั้นๆ โดยแบบทดสอบ ที่ให้จุฬาฯ พัฒนาขึ้นมานั้น ศธ.จะนำไปหารือผู้เชี่ยวชาญว่าควรจะทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง อาจจะสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจบมหาวิทยาลัย หรือก่อนจบม.ปลาย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทย ของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น ค่อนข้างอ่อน โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตชั้นปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนภาษาไทยต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนระดับมัธยมน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าสายศิลป์ภาษา

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34872&Key=hotnews