ศธ.ห่วงคนไทยอ่อนภาษาไทยขั้นหนัก จุฬาฯชี้การสอนระดับมัธยมอ่อนแอ

21 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตนได้ขอให้จุฬาฯ ออกแบบการทดสอบวัดผลภาษาไทย สำหรับใช้กับคนไทย เพื่อเตรียมไว้ใช้จัดทดสอบกลางวัดความสามารถในวิชาภาษาไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษา ซึ่งทั้งเจ้าของภาษาและชาวต่างประเทศที่มาเรียนภาษา ต้องเข้ารับการทดสอบ เพื่อประเมินความสามารถทางภาษานั้น ๆ แต่ยังไม่มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

“ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษา หลายคนยืนยันตรงกันว่า ทักษะภาษาไทยของนักเรียนมัธยมฯ โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ยังมีทักษะทางภาษาไทยอ่อนมาก โดยเฉพาะความสามารถในการเขียน และอ่านสรุปความ แต่เด็กเหล่านี้กลับทำคะแนนสอบในวิชาต่าง ๆ ได้ดี เพราะข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ไม่มีอัตนัยให้เด็กได้ฝึกเขียน ฝึกสรุปความ อีกทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน้นการทดสอบความสามารถทางภาษา ผมจึงเห็นว่าควรมีการทดสอบกลางวัดผลทางภาษาไทย เพื่อนำมาสแกนวัดความสามารถทางภาษาไทยของเด็กไทย พร้อมนำผลทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ จุฬาฯ ได้เริ่มทำแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศไว้แล้ว ซึ่งก็ได้รับการยอมรับพอสมควร สำหรับแบบทดสอบภาษาไทยที่ให้ทางจุฬาฯพัฒนาขึ้นมานั้น จะนำมาหารือผู้เชี่ยวชาญว่า ควรจะนำมาทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง ซึ่งอาจจะสอบก่อนจบระดับ ม.ปลาย สอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบก่อนจบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังให้ทางจุฬาฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะการจัดการเรียนการสอนในหลายภาษายังให้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ เรียนแล้วนำมาใช้ไม่ได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศอย่างจริงจังด้วย

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ได้มอบให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทยของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างอ่อนจริง โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าเด็กที่เรียนสายศิลป์ภาษา.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34873&Key=hotnews