ชี้เรียนอาชีวะโอกาสก้าวหน้าดีกว่าปริญญาตรี

26 พฤศจิกายน 2556

ภาคอุตสาหกรรมตั้งคำถามผู้ปกครองบังคับลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ ชี้เรียนอาชีวะมีโอกาสดีกว่ามาก เผย 3-5 ปีข้างหน้า 40 อุตสาหกรรมไทยขาดแรงงานกว่า 3.8 แสนคน ย้ำถ้าไม่พัฒนาทักษะฝีมือให้เด็กไทยก็ทำได้แค่แย่งงานแรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมือ

วานนี้ (25พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาให้มีกำลังคนที่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ” ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียนมัธยม ครูแนะแนว โรงเรียนเอกชน เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานกศน.เข้าร่วมกว่า 1,500 คน โดยดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะทำให้มีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มอีกเป็นแสนคน รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญเป็น 51 ต่อ 49 ภายในปี 2558 ซึ่งในปีนี้มีความพยายามรณรงค์เชิญชวนเด็กม.3 แต่ในปีหน้าจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รณรงค์ทำความเข้าใจกับเด็กตั้งแต่ชั้น ม.1 โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่การสอนเด็กได้รู้จักสำรวจตนเองว่ามีความถนัดด้านใด เป็นการทำความรู้จักตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตควรจะเดินไปทิศทางใด และสามารถเลือกศึกษาต่อได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องมีทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

น.ส.บุณฑริก กุศลวิทย์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีพลเมืองรวมกันกว่า 600 ล้านคน หากรวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีหรืออินเดียก็จะมีกำลังการบริโภคมหาศาล ในขณะที่การท่องเที่ยวได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว ทำให้งานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ งานโรงแรมและการบริการจึงต้องการบุคลากรอีกจำนวนมาก แม้แต่ทุกชาติในอาเซียนก็พูดตรงกันว่าขาดแคลนแรงงานด้านนี้เหมือนกันทุกประเทศ เฉพาะประเทศไทยก็คาดว่าในปี 2015 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 2.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน ดังนั้นการเรียนสายอาชีพจึงมีอนาคตที่ดี ซึ่งในส่วนของโรงแรมจะรับนักศึกษา ปวช.มาฝึก 2 ปี โดยให้ฟรีทุกอย่าง และยังจ่ายค่าแรงให้อีกด้วย เมื่อเรียนจบแล้ว หากจะเรียนต่อปริญญาตรีก็ยังให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งบริหารได้มากกว่าคนที่เข้ามาทำงานด้วยวุฒิปริญญาตรี

“เส้นทางความสำเร็จในชีวิตมีอยู่หลากหลาย แล้วทำไมครูแนะแนวจึงไม่เติมเต็มข้อมูลเหล่านั้นให้นักเรียน เพื่อช่วยให้เขาค้นพบเส้นทางเดินชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง และได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีความสุข” น.ส.บุณฑริก กล่าว

ในขณะที่นายพงศ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ ประธานอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในอีก 3-5 ปี 40 อุตสาหกรรมของไทยจะขาดแคลนแรงงานระดับฝีมือถึง 3.8 แสนคน ในขณะที่เรามีแรงงานต่างด้าวอยู่กว่า 3.7 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ตนจึงอยากถามว่าเราจะให้เด็กไทยไปแย่งงานแรงงานไร้ฝีมือเหล่านั้นหรือจะพัฒนาคนของเราให้เป็นแรงงานฝีมือซึ่งยังมีความต้องการอีกมหาศาล เมื่อจบแล้วไม่ตกงานแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรณรงค์ให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพนั้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครอง ไม่ใช่เด็ก ครูแนะแนวจึงต้องเป็นผู้ชี้แจงกับผู้ปกครองให้เข้าใจ ซึ่งตนอยากให้ถามผู้ปกครองว่าการที่อยากให้ลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ เป็นการบังคับให้ลูกเรียนเพื่อสนองตนเอง หรือสนองลูกกันแน่ ดังนั้นเด็กต้องลุกขึ้นมาค้นหาตัวตนให้ได้ว่าต้องการอะไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจเส้นทางชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34937&Key=hotnews