แนะแนวเรียนอาชีวะ 1.2 แสนคน

28 พฤศจิกายน 2556

บอร์ด กอศ.ชี้เอกชนอุดหนุนทุนเรียน ถ้าเด็กไทยไม่สน “พม่า-ลาว” เสียบแทน
ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดยกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือ จัดประชุมสัมนาการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีพ ให้กับครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ

โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการลงทุนมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องน้ำการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหา คือมีบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะตามแผนการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ต้องการกำลังคนถึง 5 แสนคน แต่วันนี้สามารถผลิตช่างเทคนิคได้ไม่ถึง 70% หรือไม่ถึง 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51:49 ขณะที่ปัจจุบันมีนักศึกษาอาชีวะเพียง 2.8 แสนคน ฉะนั้นหากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนคน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองตัวเลขนักเรียน ม.3 ในปัจจุบันที่มี 8.5 แสนคน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงเด็กมาเรียนอาชีวะได้ทันทีภายในปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำได้ภายใน 5 ปีก็ถือว่าไม่สายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความร่วมมือ ในการแนะแนวทางเลือกให้เด็ก อย่าปล่อยให้เป้าหมายอยู่แต่ในกระดาษ ต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะครูแนะแนว ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เด็กมากขึ้น ต้องมีการจัดโรดโชว์ในโรงเรียนมัธยม นักเรียนคนใดชอบเรียนปฏิบัติก็แนะนำให้มาเรียนอาชีวะ เพราะประเทศเราต้องพัฒนาถ้าไม่แนะนำให้เด็กมาเรียนอาชีวะโอกาสพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น และขณะนี้มีบริษัทเอกชน หลายแห่งให้ทุนเรียนอาชีวะมากขึ้น ถ้าเด็กไทยไม่เรียน ต่อไปเด็กจากพม่าและลาวจะมาเรียนและทำงานแทน

“ไม่ว่าใครก็ต้องมีอาชีพ แต่จะเลือกเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกว่าคนเรียนเก่งให้เรียน ม.ปลายสายสามัญ ถ้าไม่เก่งให้เรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพกลายเป็นชนชั้น 2 และสมัยนี้ยังมีปัญหาว่าค่านิยมว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้เด็กก็เรียนไม่ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน เพราะไม่สามารถเรียนในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะมีอัตราแข่งขันสูง อีกทั้งบริษัทชั้นนำ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เกียรตินิยม เพราะมีตัวเลือกมาก ทำให้เด็กจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่เด็กที่เรียนจบ ปวส. จะสามารถทำงานได้ทันที และยังสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของอาชีวะ โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ภาพลักษณ์นั้น”ประธาน กอศ.กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34943&Key=hotnews