บูมภาษาอังกฤษ นศ.แพทย์แนะมหา’ลัยแพทย์ศึกษาวิจัย ‘โรค ‘อาเซียน

3 มกราคม 2557

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ประธานเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าขณะนี้โรงเรียนสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนด้านวิชาทางการแพทย์ ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในเรื่องของคุณภาพด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการ ความสามารถในการวินิจฉัยโรค เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ถือว่าบุคลากรด้านวิชาชีพสายแพทย์ของไทยไม่ด้อยกว่าชาติใดในอาเซียน แต่สิ่งที่ไทยต้องปรับปรุงคือการเตรียมความพร้อมด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เด็กไทยภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ถ้าต้องใช้ภาษาทางการแพทย์ลงลึก นิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยอาจยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซียได้ เพราะเด็กจากประเทศเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร

นอกจากนั้น เมื่อเปิดประเทศแล้วมีการเคลื่อนย้ายคน สิ่งที่จะตามมาคือการเคลื่อนย้ายของโรคต่างๆ ด้วย ดังนั้น โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรทางการแพทย์ต้องให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาโรคที่ห่างหายจากประเทศไทยแต่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น โรคเท้าช้าง เป็นต้นรวม ถึงต้องสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างเครือข่ายให้นิสิตนักศึกษา ศึกษา วิจัย เรียนรู้โรคต่างๆอีกทั้งต้องมีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาแพทย์ให้เขามีศักยภาพความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ที่ไม่ใช่รักษาเฉพาะคนไทย แต่ต้องสามารถรักษาประชาชนจากประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย

ผศ.พญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าขณะนี้การเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นในส่วนของเนื้อหาวิชาการ องค์ความรู้มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ระยะเวลาในการเรียนนั้นแตกต่างกัน โดยคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยจะเรียน 5 ปี หรือ 6 ปี ส่วนประเทศอาเซียนจะเรียน 4 ปี ซึ่งเรื่องความแตกต่างตรงนี้นิสิตนักศึกษาไทยอาจไม่มีปัญหาในการเคลื่อนย้ายไปศึกษาต่อหรือไปทำงานในประเทศอาเซียน เพราะเรามีองค์ความรู้ เรียนมากกว่า แต่สิ่งที่เราจะเสียเปรียบได้แก่ทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเด็กไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร อาจทำให้ไม่คุ้นชิน ส่งผลให้การสื่อสารด้านภาษาอังกฤษไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายบุคลากรสายวิชาชีพแพทย์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละประเทศมีการรับรองที่แตกต่างกัน แพทย์ เภสัชกร จะไปทำงานได้ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพจากประเทศตนเองและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะไปทำงานร่วมด้วย ดังนั้น ขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ พยายามเพิ่มเติมศักยภาพด้านภาษาให้แก่นิสิต นักศึกษา อย่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พยายามให้นิสิตได้เรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติโดยตรงและได้มีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือสถานประกอบการ บริษัทเอกชนที่ทำงานวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ และเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษให้แก่นิสิต เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=35274&Key=hotnews