สจล.แนะยกเครื่องสภาวิชาชีพ แนะอายุ 60 ปีห้ามนั่งกรรมการ-ชี้คิดไม่ทันเด็ก

26 มีนาคม 2556

อธิการบดี สจล.แนะยกเครื่องสภาวิชาชีพชี้เอาคนอายุ 60 ปี มานั่งกรรมการ คิดไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ ส่งผลมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตร ให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนเป็นไปได้ยาก เหตุติดกฎของสภาพวิชาชีพ เผยต้องใช้มาตรการบังคับ เชื่อมโยงโบนัสกระตุ้นอาจารย์ทำงานวิจัย

ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ตลอด 6 เดือนที่ดำรงตำแหน่อธิการบดี พยายามส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำไปสู่การพัฒนาแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศไทย และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งไว้ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของ งานวิจัย ผลักดันให้มีงานวิจัยประมาณ 1,000 ชิ้นต่อปี

“ผมได้มีการวางแนวทางในการดำเนินงานจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของงบรายได้ของสถาบัน แบ่งเป็น 100 ล้านบาทต่อปี มีการจัดตั้งกองทุนวิจัย จัดตั้งคลินิก วิจัย และมีมาตรการในการสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์หันมาทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลงานวิจัยของอาจารย์ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารก็จะได้ผลตอบแทน 5,000 บาท ต่อชิ้น แต่อาจารย์ที่สนใจทำงานวิจัยก็ยังมีจำนวนน้อยมากเพราะต้องยอมรับว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่บังคับยาก จูงใจยาก บางคนไม่อยากทำก็คือไม่อยากทำ ทางสถาบันจึงได้เพิ่มมาตรการบังคับให้อาจารย์ทุกคนต้องทำงานวิจัย 20 % ของการทำงาน หากอาจารย์ไม่ทำก็จะไม่ได้โบนัส ทำให้ขณะนี้มีงานวิจัยเพิ่มขึ้นมาอีก 10% คาดว่าจะสรุปในเดือนตุลาคม 2556 นี้ ว่ามีงานวิจัยเพิ่มขึ้นจำนวนกี่ชิ้น” ศ.ดร.ถวิล กล่าว

ศ.ดร.ถวิล กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากทำมากที่สุดในขณะนี้ คืออยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบุคคลในสังคมเข้ามาช่วยยกเครื่องสภาวิชาชีพใหม่ โดยเฉพาะการคัดเลือก สรรหาคณะกรรมการการสภาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ ที่ควรจะเปิดโอกาสให้คนหนุ่มรุ่นใหม่ ไฟแรง มีประสบการณ์ใหม่ ๆ และมาจากหน่วยงานที่หลากหลายเข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการสภาวิชาชีพบ้าง

“ไม่ใช่เอาคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เกษียณอายุ ตกงานมาทำงาน เพราะต่อให้พวกเขาเก่งมีประสบการณ์ ความรู้ดี แต่พวกเขามักไม่รับฟังคนรุ่นใหม่ ยึดติดความคิดเก่า ๆ ดูแต่เรื่อง วิสัยทัศน์ คิดไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ และกระแสโลกอีกทั้งการไม่เปลี่ยนแปลงเหล่าสภาวิชาชีพ จะส่งผลทำให้การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหลักสูตรถูกควบคุมโดยสภาวิชาชีพ ทั้งที่จริง ๆ หลักสูตรในแต่ละสถาบันอุมดมศึกษาควรมีความแตกต่างกัน ไม่ควรเหมือนกันทั้งประเทศไทย หรือใกล้เคียงกันทั้งประเทศไทยอย่างตอนนี้ ” อธิการบดี สจล.กลาวในที่สุด

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 26 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32238&Key=hotnews

Leave a Comment