วิจัยพบเนื้อหาแท็บเล็ตไม่หนุนการสอน

27 มีนาคม 2556

ตัวชี้วัดหลักสูตรเคร่งบูรณาการยาก จี้ ศธ.ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูป การศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการวิจัยโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาแกนกลางของนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า เนื้อหาหลักสูตรแกนกลางปีการศึกษา 2551 ที่จัดทำขึ้นล่าสุดนั้น มีการสอดแทรกแนวคิดการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้าไปมากขึ้น แต่ตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินผลตามตัวชี้วัดในมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มมีความละเอียดและซ้ำซ้อน ส่งผลให้เนื้อหาหลักสูตรที่เรียนในแต่ละโรงเรียนไม่แตกต่างกัน เพราะจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ป.1-6 ยังอยู่ที่เรื่องการแนะนำ แสดงให้เห็นว่าความซ้ำซ้อนของเนื้อหาว่ามีค่อนข้างมาก ทั้งตัวชี้วัดก็มีความละเอียดมาก ทำให้การสอนเชิงบูรณาการทำได้ยาก

“โครงสร้างชั่วโมงเรียนของเด็กไทย พบว่า เด็กประถมเรียนไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง ม.ต้นไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง ม.ปลาย ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง เทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีชั่วโมงเรียนเฉลี่ยของนักเรียนอยู่ที่ประมาณ 700-800 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ดังนั้น นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะให้ลดชั่วโมงเรียนของเด็ก จำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาและวิธีการสอนของครูด้วยว่าควรปฏิบัติอย่างไร โดยอาจเน้นเฉพาะการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นจากการเรียนในแต่ละวิชา ควบคู่กับการสอนผ่านโครงงานเพื่อให้เด็กฝึกปฏิบัติจริง และสามารถใช้เวลาในการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้มากขึ้น” นายวรพจน์กล่าวและว่า สำหรับเนื้อหาการเรียนผ่านแท็บเล็ตพบว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนยังทำได้ไม่ดี เนื้อหาเน้นการแปลงจากหนังสือเรียนมาเป็นไฟล์พีดีเอฟ ดังนั้น ศธ.ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น เทคนิคเสมือนจริง เพื่อเรียนรู้แผ่นดินไหว ซึ่งเด็กจะเห็นภาพ 3 มิติ หรือภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32266&Key=hotnews

Leave a Comment