“กบข.”ยันใช้สิทธิกองทุนคุ้มฟุ้งได้ทั้งเงินก้อน-บำนาญ/ชี้สมาชิกลาออกไม่กระทบฐานะ

28 มีนาคม 2556

เลขาฯ กบข. แจงการใช้สิทธิกองทุนคุ้มกว่าการคำนวณบำนาญแบบเดิมระบุได้รับทั้งเงินก้อนและบำนาญ เผยผู้มีสิทธิเลือกออกจากกองทุนต้องเป็นผู้รับราชการก่อนปี 2540 ยันหากมีผู้ออกไม่กระทบฐานะกองทุน

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัยเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)เปิดเผยว่า แนวทางการเปิดให้ข้าราชการสมาชิก กบข. ตัดสินใจเลือกแนวทางการออกจากเป็นสมาชิกกองทุน กบข. หรือว่าจะเป็นสมาชิกต่อไป นั้น กลุ่มที่มีสิทธิตัดสินใจเลือก จะเป็นกลุ่มที่เป็นสมาชิกกองทุน กบข.ก่อนปี 2540 ปัจจุบันเหลือประมาณ 700,000 คน ขณะที่ผู้เป็นข้าราชการหลังปี 2540 จะถูกบังคับเข้าเป็นสมาชิกตามกฎหมาย กบข.ที่มีประมาณ 500,000 คน

สำหรับกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการใกล้เกษียณอายุราชการและเงินเดือนเต็มเพดาน เมื่อออกไปปฏิบัติงานในเขตทุรกันดารจะได้เวลาทวีคูณ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู สาธารณสุข เพราะเมื่อเวลาราชการผ่านไป ออกไปยังหน่วยงานต่างๆ จะได้รับผลตอบแทนเพิ่ม เมื่อกลับมาคำนวณเวลาทวีคูณแล้วอาจได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการรับเงินจากกองทุน กบข.ทำให้กลุ่มที่รู้สึกว่าเสียประโยชน์ไปต้องการกลับไปรับบำนาญตามกฎหมายเดิม แต่การตัดสินใจเลือกแนวทางใด ขึ้นอยู่กับข้าราชการแต่ละบุคคลที่มีภาระหนี้สิน หรือความจำเป็นส่วนตัว

ส่วนข้อสรุปทั้งหมดต้องรอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเสนอสภาในขั้นต่อไป และเมื่อเปิดให้ข้าราชการเลือกแนวทางการเป็นสมาชิกของ กบข.หรือไม่นั้น จะให้เลือกภายหลังกฎหมายบังคับใช้ 1 ปี หลังจากนั้นทยอยจัดสรรเงินและคาดว่าข้าราชการ 700,000 คนมีความเข้าใจต่อความจำเป็นในการเป็นสมาชิกกบข. จึงไม่ทำให้ต้องกระทบต่อฐานะการเงินที่อยู่ในการบริหารดูแล 580,000 ล้านบาท ขณะที่ข้าราชการหลังปี 2540 จำนวน500,000 คนไม่มีสิทธิเลือกออกจากการเป็นสมาชิก โดยจะใช้เงินประเดิม ซึ่งกันสำรองไว้ประมาณ 70,000 ล้านบาทจ่ายชดเชยให้กับข้าราชการที่เลือกทางลาออก

น.ส.โสภาวดี กล่าวอีกว่า สำหรับการชดเชยให้สมาชิกกองทุน กบข.ในปัจจุบัน เมื่อเกษียณอายุราชการจะได้รับผลประโยชน์ ประกอบด้วย เงินสะสมจากเงินเดือนร้อยละ 3 เงินสมทบจากรัฐบาลร้อยละ 3 เงินชดเชยคำนวณตามสูตรบำนาญของ กบข. ร้อยละ 2 และเงินประเดิมตามอายุราชการของแต่ละคนจึงเป็นผลประโยชน์จากเงิน 4 ก้อน และยังได้รับบำนาญอีกตามสูตรคำนวณของกบข.โดยใช้อัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการหารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ทั้งนี้แผนการบริหารกองทุน กบข.ยังคงยึดหลักไม่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับกองทุน ปัจจุบัน กบข. กำหนดสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้ประมาณร้อยละ 60-70 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นและลงทุนในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเห็นว่าการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้มีดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงต้องการเพิ่มสัดส่วนไปลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32279&Key=hotnews

 

Leave a Comment