สอศ.เปิดหลักสูตรอีพี 121 วิทยาลัย เร่งออกประกาศ ศธ. ระบุค่าเทอมไม่แพงมาก

28 มีนาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากเด็กอาชีวะส่วนใหญ่เป็นเด็กที่โดดเด่นในภาคปฏิบัติ ส่วนภาคทฤษฎีโดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจด้านภาษาอังกฤษนั้นยังต้องได้รับการพัฒนา เมื่อปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงเปิดสอนหลักสูตร English Program (อีพี) ใน 5 วิทยาลัย และ Mini English Program (เอ็มอีพี) ใน 27 วิทยาลัย รวม 32 วิทยาลัย ครอบคลุม 28 จังหวัด เพื่อจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้รับจากการเปิดหลักสูตรดังกล่าว พบว่า ผู้เรียนให้ความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะช่วยพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาด และการันตีการมีงานทำได้ โดยในปีแรกนี้มีเด็กเข้าเรียนทั้งสิ้น 2,061 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช. 1,224 คน และ ปวส. อีก 837 คน ดังนั้น ในปีการศึกษา 2556 นี้ สอศ.จึงขยายหลักสูตรให้ครอบคลุม 121 วิทยาลัย ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น อีพี 5 แห่ง และเอ็มอีพี 116 แห่ง รวม 153 วิทยาลัย ตั้งเป้ารับเด็ก 6,000 คน

“การเรียนการสอนยังเหมือนเดิมคือ อีพี เรียนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษหมด ยกเว้นวิชาภาษาไทย สังคม และพระพุทธศาสนา ส่วนเอ็มอีพีจะเน้นภาษาอังกฤษเทอมละ 4 วิชา โดยทั้งสองหลักสูตรมีครูต่างชาติเป็นผู้สอนเช่นเดิม สิ่งที่ สอศ.ยังเคลียร์ไม่ได้คือค่าเทอมหลักสูตรอีพี และเอ็มอีพี ระดับ ปวช. และอีพี และเอ็มอีพี ระดับปวส. ควรมีค่าเทอมอยู่ในอัตราไหนบ้าง เนื่องจากทั้ง 2 หลักสูตรมีค่าใช้จ่ายในการจ้างครูต่างชาติมาสอน ดังนั้นวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครทั้ง 2 หลักสูตรนี้ จึงต้องเปิดรับสมัครหลักสูตรอีพี และเอ็มอีพี โดยมีค่าเทอมที่แตกต่างจากหลักสูตรภาคปกติไม่มากนักเหมือน 32 วิทยาลัยที่เปิดไปก่อนหน้านี้ แต่ปัญหานี้จะมีความชัดเจน เมื่ออัตราค่าเทอมออกเป็นประกาศกระทรวง ซึ่งคาดว่าคงไม่เกิน 2 เดือนนี้ สอศ.เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการมีกำลังคนสายปฏิบัติ ที่ไม่ถูกจำกัดในเรื่องภาษาอังกฤษอีกต่อไป” นายชัยพฤกษ์กล่าว

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32284&Key=hotnews

Leave a Comment