สพฐ.จับสลาก ม.1 ทั่วประเทศ 31 มี.ค. ตั้งโต๊ะหาที่เรียนซับน้ำตาเด็กพลาดหวัง สพม.2 เกลี่ย 5.6 พันลง ร.ร.’เอกชน-กทม.’

29 มีนาคม 2556

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า ใน วันที่ 31 มีนาคม จะมีการจับสลากเข้าเรียนชั้น ม.1 ในเขตพื้นที่บริการ ซึ่งได้สั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจัดโต๊ะเพื่อลงทะเบียนแสดงความจำนงให้เขตพื้นที่การศึกษาหาที่เรียนให้แก่นักเรียนที่พลาดหวังจากจับสลากเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 โดยไม่ต้องรอให้นักเรียนที่พลาดหวังไปแจ้งชื่อในวันที่ 7-8 เมษายน ตามปฏิทินที่กำหนดไว้เดิม

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หลังจากประกาศผลสอบเข้าเรียน ม.1 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 2 กรุงเทพมหานคร แล้วมีนักเรียนยังไม่มีที่เรียนอีกประมาณ 5,600 คนนั้น คงต้องดูในภาพรวมของโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษานี้ทุกสังกัดไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เท่านั้น ฉะนั้น คิดว่าจำนวนนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน นั้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะในเขตพื้นที่การศึกษานี้ ยังมีโรงเรียนเอกชน โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่จะรับนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 ได้

นายสัจจา ศรีเจริญ ผอ.สพม.เขต 2 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาพรวมการประกาศผลสอบของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 28 มีนาคม เรียบร้อยดี ยังไม่พบปัญหา ซึ่งในส่วนของการรับนักเรียนชั้น ม.4 นั้น ไม่น่ากังวล เพราะโรงเรียนจะรับนักเรียนชั้น ม.3 เดิมเข้าศึกษาต่อไปหมดแล้ว ที่เหลือก็เป็นเด็กจาก ที่อื่นเท่านั้น ส่วนกรณีของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่เกรงว่าอาจจะมีปัญหาการรับ ม.4 เหมือนปีที่แล้วนั้น ในปีนี้ยังไม่มีข้อมูลการร้องเรียนเข้ามา สำหรับตัวเลขการรับ ม.4 ใน สพม.เขต 2 กรุงเทพ มหานคร เปิดเพิ่มจากการรับนักเรียนชั้น ม.3 เดิมจำนวน 3,128 คน แต่มียอดผู้มาสมัคร 6,000 กว่าคน ดังนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร และจะสามารถเกลี่ยเด็กให้ลงตัวได้อย่างแน่นอน

นายสายัณห์ รุ่งป่าสัก ผอ.สพม.เขต 1 กรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า ได้กำชับให้โรงเรียนดำเนินการตามนโยบายการรับนักเรียน และเชื่อมั่นว่าโรงเรียนจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสเข้าเรียนอย่างเป็นธรรมทุกคน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามแผนการรับนักเรียนที่แต่ละโรงกำหนดไว้ ส่วนที่เหลือจะต้องเกลี่ยไปยังโรงเรียนที่ยังมีที่ว่าง ซึ่งเขตพื้นที่ฯเตรียมรายชื่อโรงเรียนไว้แล้ว ดังนั้น ในวันรับสมัคร อยากขอให้ผู้ปกครองตัดสินใจเลือกรายชื่อโรงเรียนที่ประสงค์จะให้ลูกเข้าเรียนสำรองไว้ทันที เพื่อที่ว่าเด็กจะได้มีที่เรียนและไม่เป็นปัญหา เพราะตามตัวเลขนักเรียนที่ทางเขตพื้นที่ฯมีอยู่ เด็กจะต้องมีที่เรียนทุกคน เว้นแต่ว่าผู้ปกครองเจาะจงเลือกให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดังเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เท่ากับสร้างความลำบากใจให้โรงเรียน

“ที่ผ่านมาผู้ปกครองมักจะไม่ยอม และอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดัง ซึ่งบอกตามตรงว่าโรงเรียนยอดนิยมต่างๆ ตอนนี้เต็มเกือบหมดแล้ว ขอร้องผู้ปกครองอย่ากดดันโรงเรียน และยอมรับในกติกา รีบเลือกโรงเรียนสำรองไว้ เพราะถ้าไม่เลือก ก็ต้องตัดสินใจไปเรียนโรงเรียนเอกชน” นายสายัณห์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32294&Key=hotnews

Leave a Comment