คอลัมน์: อาชีวะ…สร้างสรรค์: V-ChEPC ต้นแบบนวัตกรรมอาชีวศึกษา เจียระไนคนคุณภาพ

4 เมษายน 2556

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หลังจากที่ได้ผสานความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งได้แก่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัทอูเบะ เคมิคอลส์ (เอเซีย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มูลนิธิศึกษาพัฒน์ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (Vocational Chemical Engineering Practice College หรือ V-ChEPC) จนกระทั่งสามารถผลิตช่างเทคนิคที่มีคุณภาพตามความต้องการเข้าสู่สถานประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า โครงการ V-ChEPC มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตกำลังคนระดับช่างเทคนิค หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศที่มีการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและมีความต้องการช่างเทคนิคที่มีทักษะสูงเฉพาะด้านเป็นจำนวนมาก โดยเลือกวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นสถานศึกษาทดลองนำร่อง ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจากกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 6 ปีแล้ว มูลค่ากว่า 59.8 ล้านบาท

จุดเด่นของโครงการดังกล่าว คือ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Constructionism ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกงาน ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา จัดกิจกรรมที่หล่อหลอมทักษะการคิด การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การแสวงหาความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการใฝ่เรียนรู้ จากครูผู้สอนและครูฝึกในสถานประกอบการ ขณะที่ครูฝึกและครูผู้สอนเองก็ยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการสอน มาพัฒนางานวิชาการและการปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator)

“ความสำเร็จของโครงการที่เด่นชัด คือ ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ 100% ในอัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าได้รับการบ่มเพาะทำให้มีคุณลักษณะตามที่สถานประกอบการต้องการ บทเรียนที่ได้รับจากโครงการนี้ คือการยกระดับคุณภาพการผลิตช่างเทคนิคต้องได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการและคณะทำงานที่มีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันสถานศึกษาต้องปรับระบบบริหารให้ยืดหยุ่น คล่องตัว ใช้หลักการและกระบวนการเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism)เพื่อพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ ปรับหลักสูตร ระบบการฝึกงาน และการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ

“V-ChEPC จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นเป้าหลอมให้การผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษามีคุณภาพตามความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง สอศ. มีแนวคิดจะขยายผลรูปแบบการเรียนดังกล่าวลงไปสู่วิทยาลัยอื่นๆ ด้วย โดยจัดเตรียมงบประมาณพัฒนาวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุดให้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อต่อยอดให้เป็นศูนย์ศึกษาวิเคราะห์ วิจัย เผยแพร่นวัตกรรมการเรียนรู้ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาครูอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator) เป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนตามที่สถานประกอบการต้องการต่อไป” ดร.ชัยพฤกษ์กล่าว

ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ในการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาจนสามารถผลิตช่างฝีมือที่มีคุณภาพ ป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการจริงๆ ซึ่งเชื่อว่า จะเกิดโครงการดีๆ เช่นนี้ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาอื่นๆ ต่อไป
www.vec.go.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32362&Key=hotnews

Leave a Comment