bangkokbiznews

หลากหลาย ไว(วัย)และจริยธรรม เท่ากับคนสื่อยุคใหม่

หลากหลาย ไว(วัย)และจริยธรรม เท่ากับคนสื่อยุคใหม่

โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

http://bit.ly/H14kJD

“น้ำอดน้ำทนน้อยลง หนักไม่เอาเบาไม่สู้” “สมาธิสั้น” “ทำงานไม่เป็น ไม่ค่อยฟัง เถียง” วลีสั้นๆ ที่ได้ยินบ่อยครั้ง

เมื่อกล่าวถึงคนสื่อรุ่นใหม่จากปากคนสื่อรุ่นเก่า เหมือนคำตอบที่โยนกลับสู่นักวิชาการสื่อ คนสอนสื่อ ผู้สร้างคนสื่อรุ่นใหม่ถึงผลผลิตที่ป้อนสู่อุตสาหกรรมสื่อ ใส่เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ “เป็นความผิดคนรุ่นใหม่หรือที่เป็นอย่างนั้น” ก็คงจะไม่ใช่เพราะเป็นเพียงมุมมองคนรุ่นหนึ่งมองคนอีกรุ่นหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงของตัวสื่อ ไม่ใช่กระทบต่อรูปแบบการทำงานสังคมงานสื่อเพียงประการเดียว แต่มีผลพวงวงกว้าง รวมถึงการเรียนการสอนด้านสื่อก็ด้วย ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สอนต้องงัดสารพัดเทคนิคมาใช้มากขึ้น เพื่อแข่งขันกับอาจารย์กู (กูเกิล) ที่สามารถรังสรรค์คำตอบให้แก่ผู้เรียนเพียงปลายนิ้วสัมผัสที่ป้อนสิ่งที่ต้องการจะรู้เข้าไป ผ่านแป้นคีย์บอร์ด ความรู้บนโลกไซเบอร์ที่กว้างขวาง ตอบได้ทุกด้านที่ผู้เรียนต้องการ จริงไม่จริง ถูกไม่ถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีคิดของคน ทำให้อดทนน้อยลงที่จะนั่งค้นหาคำตอบสิ่งต่างๆ บทบาทของผู้สอนจึงเป็นเสมือน “โค้ช” มากกว่าการเป็นครู เป็นผู้ชี้แนะแนวทางแสวงหาความรู้ สร้างบรรยากาศ กระตุ้นการเรียนรู้ แล้วคนสื่อแบบไหนที่สังคมสื่อในยุคปัจจุบันต้องการ

ประการแรก “หลากหลาย” มีทักษะอันหลากหลาย นักสื่อสารมวลชนคนรุ่นใหม่ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ไม่จำเพาะความรู้เฉพาะด้านเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง จะเป็นคนสื่อที่รู้เพียงด้านวิทยุโทรทัศน์ สื่อใหม่ โฆษณา หรือประชาสัมพันธ์เพียงด้านใดด้านหนึ่งคงไม่เพียงพอ ควรมีความรู้รอบด้านอันเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ร่วมด้วย การคอนเวอร์เจนซ์ของสื่อ ต้องการคนสื่อที่เข้าใจธรรมชาติของสื่อที่เปลี่ยน สามารถบูรณาการความรู้ในการทำงานเป็นนักวิชาชีพที่มีองค์ความรู้ทางวิชาการ และที่สำคัญควรเป็นคนสื่อที่รู้เท่าทันสื่อ ส่วนทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่คนสื่อยุคใหม่ต้องมี การใช้งานคอมพิวเตอร์โปรแกรมพื้นฐานในการพิมพ์งาน การนำเสนอ และการใช้โซเชียลมีเดียเป็น ไม่ว่าจะใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทักษะด้านภาษาที่นักสื่อสารมวลชนคนรุ่นใหม่ควรจะสื่อสารได้ 2 ภาษาเป็นอย่างน้อย คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ไม่ต้องมองไปไหนไกล เริ่มจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 58 หรือใกล้ตัวกว่านั้น คือ การใช้ภาษาในการติดตามข่าวสาร แลกเปลี่ยนข่าวสารกับสื่อมวลชนจากทั่วทุกมุมโลก

ประการที่สอง “ไว (วัย)” ไวอันแรกคือ ปรับตัวไว วัยทำงานของคนสังคมสื่อมีความหลากหลายคนสื่อรุ่นใหม่ต้องสามารถทำงานเป็นทีม เมื่อคนหลายเจนเนอเรชั่นมาทำงานรวมกัน ความแตกต่างเรื่องวัยสัมพันธ์กับเข็มไมล์ประสบการณ์ ปัญหาและทัศนคติการทำงานที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้เสมอ ก็เหมือนองค์กรธุรกิจอื่น ที่ประกอบไปด้วยคนตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน (Work for Life) คนเจนเนอเรชั่น X โตมากับพัฒนาการของสื่อ ทำงานในลักษณะสมดุลงานกับครอบครัว (Work-Life Balance) มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเองสูง และคนเจนเนอเรชั่น Y โตมากับสื่อใหม่ มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบ การเปิดใจยอมรับ ปรับทัศนคติเข้าหากันและกัน สำคัญที่สุดคือใช้ “การสื่อสาร” เพื่อการป้องกันปัญหา ลดช่องว่างระหว่างวัยที่จะเกิดขึ้น

ไว อันที่สอง ไวต่อการเรียนรู้ ด้วยสื่อสมัยปัจจุบันที่มีการคอนเวอร์เจนซ์ เทคโนโลยีสื่อที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับสื่อ สามารถหยิบเอาประโยชน์ เทคโนโลยีจากสื่อ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง คนที่พร้อม คนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถอยู่รอดในวิชาชีพนี้

ประการสุดท้าย “จริยธรรม” การเป็นคนสื่อที่มีจริยธรรม การประพฤติและปฏิบัติที่ดี มองเรื่องจริยธรรมสื่อแล้วก็น่าใจหายที่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก มองเห็นความสำคัญกันน้อย ทั้งที่ในความเป็นจริงควรให้ความสำคัญระดับต้นๆ เริ่มที่ครอบครัวและสถาบันการศึกษา การไปแก้ไขเมื่อเข้าสู่สังคมสื่อกระทำได้ยาก ปัญหาจริยธรรมนับวันเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมทุกสังคม ตัวอย่างง่ายๆ ที่ประสบพบเจอในฐานะนักวิชาการ ผู้สอนทางด้านสื่อคือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในรูปแบบใดก็ตาม การลอกเลียนแบบผลงานคนอื่น การหยิบ หรือนำผลงานคนอื่นมาใช้ในผลงานตนเองโดยไม่ได้ให้การอ้างอิง ถึงแหล่งที่มาของข้อมูล จนผู้เรียน บุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคนสื่อรุ่นใหม่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้ผิดอะไร เป็นความคุ้นชินที่ทำมาตลอด หรือการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไข ลอกเลียน บิดเบือนข้อเท็จจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรที่จะได้รับการแก้ไข ให้ความตระหนักจากทุกภาคส่วน ลำพังจะรอองค์กรวิชาชีพสื่อ ขับเคลื่อนกลไกเรื่องนี้คงจะไม่ได้

ไม่ว่าสังคมสื่อ ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปมากเท่าใด หากเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ และคงไว้ซึ่งกรอบความคิดและจุดยืนในวิชาชีพที่เปี่ยมด้วยจริยธรรมคุณธรรม ก็สามารถเป็นคนสื่อคุณภาพได้ไม่ยาก
http://bit.ly/H14kJD
Tags : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

ครูพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล

ครูพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล

! http://bit.ly/19jRb58

โดย อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา   
สมัยอดีต “การไหว้ครู” เป็นพิธีกรรมที่ศิษย์แสดงถึงความเคารพและยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้

และศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตัวเพื่อรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และสัญลักษณ์ที่มักจะพบในพานไหว้ครูแบบดั้งเดิมมักจะประกอบด้วย “ข้าวตอก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย “ดอกมะเขือ” เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนและการมีสัมมาคารวะ “ดอกเข็ม” เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาที่ฉลาดหลักแหลม และ “หญ้าแพรก” เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความมีวิริยะอุตสาหะ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว ได้ถูกผลิตซ้ำและสืบทอดคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะศิษย์ที่พึงประสงค์มาเป็นระยะเวลานาน

แต่ในยุคปัจจุบันสัญลักษณ์พานไหว้ครูได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวพิธีไหว้ครูของวัยรุ่นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาบางแห่ง ที่ได้สร้างสรรค์พานไหว้ครูเป็นโลโก้กูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการสื่อว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงและทันสมัยมากขึ้น ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ถือเป็นสื่อใหม่ (New media) ที่วัยรุ่นได้นำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ไป ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับจากสังคมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการนำสัญลักษณ์สื่อใหม่ (New media) และสื่อสังคม (Social media) มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมไหว้ครู โดยวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่มองว่า พานไหว้ครูยุคใหม่เป็นการสืบทอดสัญลักษณ์และประเพณีในเชิงสร้างสรรค์ แต่ในทางกลับกันผู้ใหญ่บางคนกลับไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าสัญลักษณ์ของพานไหว้ครูดังกล่าว อาจเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมไหว้ครูแบบดั้งเดิมให้เสื่อมถอยลงไป ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด แต่สิ่งที่สนใจก็คือการสื่อสารเชิงสัญญะที่แฝงเร้นอยู่ในพานไหว้ครู สัญลักษณ์สื่อใหม่และสื่อสังคมที่ปรากฏบนพานไว้ครูได้สถาปนาความหมายและสถานภาพของ “ครูพันธุ์ใหม่ในยุคดิจิทัล” ขึ้นในสังคมไทย

อาจกล่าวได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้สะดวก รวดเร็ว เป็นจำนวนมาก โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สื่อใหม่ (New media) ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ไอแพด โน้ตบุ๊ค ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ครูพันธุ์ใหม่” ที่ สามารถแสวงหาคำตอบให้กับคนทุกเพศทุกวัยในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลาโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และบางครั้งเราก็มักจะได้ยินครูบางท่านสบถในห้องเรียนด้วยความท้อแท้ใจในการสอนเด็กยุคใหม่ที่ก้มหน้าก้มตาดูสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค หรือไอแพดโดยไม่สนใจครูผู้สอนว่า “เด็กสมัยนี้เชื่อคอมฯ มากกว่าเชื่อครู”

ข้อมูลจากการสำรวจของเว็บไซต์ alexa.com ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน แสดงข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊ค (Facebook.com) ได้กลายเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก รองลงมาคือกูเกิล (google.com) และ ยูทูป (http://www.alexa.com) เป็นที่น่าสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากการติดต่อสื่อสารกับโลกออนไลน์ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เช่น ตื่นนอน เดินทาง กินอาหาร เดินทาง พักผ่อน หรือแม้แต่ในยามที่ครูกำลังสอนในชั้นเรียน ผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลยังคงสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารทั้งทางตรงและทางอ้อม

จุดเด่นของสื่อใหม่คือการให้อำนาจกับผู้รับสารในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นแบบสองทาง (Two-way-communication) โดยไม่ต้องกลัวการทำโทษ หรือกลัวว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิด จึงกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้สนใจให้เข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้อ่านหนังสือหรือตำราที่นับวันจะมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการสื่อสารแบบทางเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นในยุคดิจิทัล หรือแม้แต่ครูพันธ์ดังเดิม (บุคคล) หากมุ่งที่เน้นการสอนแบบทางเดียวโดยไม่สร้างการมีปฏิสัมพันธ์แห่งการเรียนรู้ก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากศิษย์ในยุคสมัยนี้

อย่างไรก็ดี แม้ครูพันธุ์ใหม่จะได้รับการยอมรับว่าสามารถให้ความรู้ที่รอบด้านอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถสร้างความรู้สึกแห่งความไว้วางใจระหว่างครูกับศิษย์ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลแม้จะทำหน้าที่ให้ความรู้แต่ก็ไม่มีตัวตนที่สามารถสัมผัสได้ รวมทั้งไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือเยียวยาความทุกข์ของศิษย์ได้อย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เพราะสื่อออนไลน์เป็นเพียงช่องทาง หรือเครื่องมือในการสื่อสารแต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมนุษย์ หากเป็นเช่นนี้แล้วครูพันธ์ใหม่อาจมีสถานะเป็นเพียง “เปลือก” ในการสร้างความรู้ แต่ไม่ใช่ “แก่น” ที่สร้างคุณค่าแห่งการเรียนรู้ของศิษย์แบบครูสมัยก่อนก็เป็นได้

เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์สื่อใหม่ในพานไหว้ครูที่เปลี่ยนไปจึงสะท้อนให้เห็นเพียงรูปแบบการสื่อสารในพิธีกรรม แต่ยังขาดการสถานะครูพันธุ์ใหม่อย่างสมบูรณ์หากยังไม่ทำหน้าที่ในการสร้างจิตสำนึกของศิษย์ให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ (ผู้รู้จักใช้เหตุผล, ผู้มีจิตใจสูง) ได้อย่างสมบูรณ์

! http://bit.ly/19jRb58

Tags : อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

ทีวีดิจิตอลกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

เสียงคุณตาคนหนึ่งดังแว่วมาจากร้านรถเข็นริมฟุตบาธ
ว่า “ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงหรือ…
เป็นคำถามที่ดูเหมือนง่ายแต่ตอบยาก

 

อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา
อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคำว่า “ปริมาณ” กับ “คุณภาพ” อาจไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน และบ่อยครั้งคำว่าคุณภาพก็มักไม่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของคนด้อยโอกาสในสังคม

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปี ที่แล้ว การเข้ามาของโทรทัศน์ระบบอนาล็อกภาคพื้นดินในประเทศไทยนับว่าเป็นสิ่งแปลก ใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนในสังคมไทยไม่น้อย และถ้ากลับไปถามคนรุ่นปู่ย่าตายายในครอบครัวของเราว่าเริ่มดูโทรทัศน์ครั้ง แรกเมื่อใด หลายท่านอาจจะตอบว่า “ไม่รู้” เพราะไม่ได้จดจำหรืออาจหลงลืมไปแล้ว แต่บางท่านที่ความจำยังดีก็อาจจะตอบด้วยแววตาเป็นประกายและบอกเล่าเรื่องราว ได้อย่างละเอียดว่า ประเทศไทยเริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ในระบบขาวดำเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม” แต่ถ้าหากถามท่านต่อไปอีกนิดว่า แล้วโทรทัศน์ในยุคแรกนั้นมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผู้สูงอายุหลายท่านก็อาจตอบคำถามนี้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและตอบอย่างมั่นใจ มากกว่าเดิมว่า “ก็เพื่อความบันเทิงนะซิ
คำถามดังกล่าว หลายคนอาจตอบได้ไม่ยากนักเนื่องจากบทบาทหน้าที่ ดังกล่าวของโทรทัศน์ได้ถูกตอกย้ำและรับรู้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคแรก เริ่มของการเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ก็ยังคงทำหน้าที่ในการสร้างความ บันเทิงมาโดยตลอดแต่อาจมีรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการนำเสนอแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น รายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในยุคแรกส่วนใหญ่เป็นการออกอากาศหรือแสดงสดในห้อง ส่ง (สตูดิโอ) ที่มีขนาดเล็กและมีฉากจำกัด แต่เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารในระยะต่อมา รายการโทรทัศน์จึงมีทั้งการออกอากาศสด การบันทึกเทป และผลิตรายการได้ทั้งในและนอกสตูดิโอ
อย่างไรก็ดี บทบาทหน้าที่ของโทรทัศน์ในยุคแรกไม่เพียงแต่ให้ ความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทหน้าที่แอบแฝงหรือซ่อนเร้นทางการเมือง เช่น ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รายการโทรทัศน์นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังทำหน้าที่ในการปลูกฝังแนวคิด ชาตินิยมและในยุคสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้สถานีโทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรม จากการยึดอำนาจจากจอมพลป. พิบูลสงครามภายหลังจากการปฏิวัติสำเร็จ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำงบประมาณจากหน่วยงานทหารมาดำเนินการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นแห่งที่ 2 ขึ้นในประเทศไทยและใช้ชื่อว่า “สถานีกองทัพบกช่อง 7” ระบบขาวดำในปี พ.ศ. 2500
ท่ามกลางกระแสการพัฒนา ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ จอมพล พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา สถานีโทรทัศน์ก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจากโทรทัศน์ระบบขาวดำมาสู่โทรทัศน์ระบบสีในปี พ.ศ. 2510 การพัฒนาช่องฟรีทีวีในประเทศไทยทั้ง 6 ช่อง ซึ่งประกอบด้วย ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง NBT และช่อง Thai PBS รวมทั้งการพัฒนาระบบเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาสถานีโทรทัศน์ในสังคมไทยที่ผ่านมา (ก่อนการปฏิรูปสื่อปี พ.ศ. 2540) รัฐมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทร คมนาคม รวมทั้งการให้สัมปทานช่องสถานีโทรทัศน์กับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนส่งผลให้สถานีโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยกลุ่มองค์กรธุรกิจการ เมืองซึ่งมุ่งเน้นผลประกอบการทางธุรกิจและอำนาจทางการเมืองมากกว่าผล ประโยชน์ของประชาชน
จากการครอบงำสื่อ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 และการครอบงำสื่อของกลุ่มธุรกิจทางสถานีโทรทัศน์ช่องไอทีวี ปี พ.ศ. 2538 (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในยุคปัจจุบัน) ได้ปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อที่ถูกต้องและเที่ยงตรง ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปสื่อในระยะต่อมา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ. 2540 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 รวมทั้งการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ปี พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่จัดสรรโครงข่ายและแผนแม่บทกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการดำเนิน ธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย
อาจกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล 48 ช่องปัจจุบันกำลังเป็นที่จับตามองเพราะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ กสทช.ว่า จะนำพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากการครอบงำสื่อของรัฐและกลุ่มธุรกิจที่ ยาวนานกว่า 50 ปี หรือไม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นให้กับบริการชุมชนบริการสาธารณะ และบริการธุรกิจยังอยู่ในช่วงโค้งสำคัญ รวมทั้งประเด็นการเข้าถึงพื้นที่สื่อสาธารณะของคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อย โอกาสก็ยังเป็นด่านสำคัญที่ กสทช.จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้
บทความจากกรุงเทพธุรกิจ

ทำไมไทยต้องเปิดเทอมรับอาเซียน

สถาบันศึกษาของไทย ทั้งส่วนพื้นฐานและอุดมศึกษา ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหว ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดเทอมเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้วอย่างชัดเจนในขณะนี้

กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศให้โรงเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานทั่วประเทศปรับเปลี่ยนการเปิดเทอมแรกจากเดิมช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นต้นเดือนมิถุนายน เริ่มปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป

ในระดับอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยในกลุ่มเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการปรับการเปิดภาคการศึกษาแรกจากเดือนมิถุนายนไปเป็นช่วงสองสัปดาห์แรก ของเดือนสิงหาคม

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้มีผลให้ช่วงเวลาการรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยกระจายไปตลอดทั้งปีการศึกษา

! bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/nation_u/news-list-1.php

ในความเห็นของผม การปรับเปลี่ยนเปิดเทอมของสถาบันการศึกษาของไทยให้สอดคล้องกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ นั้นจะมีผลดี ทำ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ในภูมิภาคนี้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งยังจะมีผลทำให้การพัฒนามาตรฐานสูงขึ้น และการเทียบโอนรายวิชาก็สามารถจะทำได้อย่างสะดวกขึ้นอีกเช่นกัน

บางท่านอาจจะมองว่าการปรับเวลาเปิดเทอมเช่นนี้เป็นการเพิ่มความวุ่นวาย ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ความหลากหลายในช่วงเวลาการเปิดเทอมเป็นเรื่องปกติในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนามาตรฐานการศึกษาเข้าระดับสากล

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ความคิดที่จะควบคุมหรือกำกับระบบการศึกษาให้ต้องเป็นแบบเดียวกันหมดนั้นเป็น เรื่องฝืนธรรมชาติ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัย

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ จึงเป็นการตอกย้ำว่าการศึกษาของไทยเรา จะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่มาตรฐานใหม่แห่งภูมิภาคในโลกยุคใหม่ที่การศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

นั่นย่อมหมายถึง ความจำเป็นที่เราจะต้องปรับคุณภาพมาตรฐานของการ จัดสอบในระบบกลางของประเทศให้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ในการคัดเลือกนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการวัด, การประเมินผล, การเทียบแทนหรือเทียบเท่า เกณฑ์การวัดทั้งในส่วนความรู้ความสามารถหรือทักษะในการคิดวิเคราะห์ให้ได้ มาตรฐานที่ประเทศอาเซียนทั้งหลายยอมรับโดยทั่วกัน เพื่อจะได้ พิจารณารับนักศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบัน อุดมศึกษาในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

เท่าที่พอจะประเมินได้ ณ ขณะนี้ความพร้อมของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของไทยที่พร้อม จะเข้าสู่ระบบอาเซียนเช่นว่านี้มีอยู่ประมาณ 10 แห่งจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน 200 กว่าแห่งที่อยู่ในกลุ่ม ทปอ.หรือประมาณ 5% ซึ่งคงจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ปีแรกที่มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดเทอม และเชื่อว่าน่าจะมีการทยอยปรับตัวได้มากขึ้นในปีต่อๆ ไป

เมื่อทุกภาคส่วนในประเทศมีความตื่นตัวในการปรับตัวให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวเป็น “ประชาคมอาเซียน” ในอีกสองปีข้างหน้าโดยเฉพาะภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนในทุก ๆ ด้านแล้ว สถาบันการศึกษาซึ่งควรจะเป็นแถวหน้าแห่งการผลักดันให้เกิดการปรับตัวให้ทัน กับการเพิ่มพลวัตของภูมิภาคก็ย่อมจะต้องเร่งรัดการยกระดับของตนเองอย่าง คึกคักเช่นกัน

Tags : พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม
! http://bit.ly/XmrvGc

! http://blog.nation.ac.th/?p=2484