ชี้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มภาระให้เด็กผู้ปกครอง-ทำลายชุมชน

10 พฤษภาคม 2556

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-บุคคลากรทางการศึกษาในภาคอีสาน ไม่เห็นด้วยยุบโรงเรียนเด็กเล็ก คาดกระทบพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กแน่ เพราะต้องไปเรียนไกลขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนทำลายวิถีชุมชน ชี้นโยบายนี้เป็นเรื่องทางการเมือง เชื่อการศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือจำนวนนักเรียน แต่อยู่ที่ผู้บริหาร และผู้คุมนโยบาย

small classroom
small classroom

http://www.psychtronics.com/2012/08/smaller-school-classes-increases.html

นายปัญญา แพงเหล่า ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 จ.อุบลราชธานี แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน เพราะทำให้เสียเสาหลักของบ้านเมืองคือ บ.ว.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่สืบทอดกันมานานเป็นร้อยปี และเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ปกครองของนักเรียนอย่างรุนแรง เพราะโรงเรียนตามหมู่บ้าน ถือเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชุมชนนั้น การไม่มีโรงเรียนเหลืออยู่ในหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองรับไม่ได้แน่นอน

การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ยังสร้างผลกระทบในการเดินทางไปเรียนของนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กตามชนบทที่การคมนาคมยังเป็นถนนฝุ่น ถนนลูกรังเป็นส่วนมาก ฤดูฝนทำให้การเดินทางไปโรงเรียนลำบาก และยังเป็นการเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน

นายปัญญา ยังตอบคำถามกรณีครูผู้สอนอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่อย่างไรก็ยังมีโรงเรียนให้สอนอยู่ดี แต่ผลกระทบตกอยู่กับเด็กนักเรียนและชาวบ้าน หากคิดว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมารวมกันเป็นเรื่องดี ทำให้คุณภาพการสอนดีขึ้น อยากให้ทดลองทำจังหวัดละ 1 โรงเรียน เป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา แล้วให้วัดผลก็จะรู้ว่าการยุบรวมกันไม่ได้ทำให้เรียนการสอนดีขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับจุดประสงค์ที่ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก นายปัญญามองว่า เป็นเรื่องของนักการเมืองที่มองมุมเดียว ต้องการให้มีแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อบริหารจัดการเงินงบประมาณได้ง่าย ทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดเล็กชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟมานานแล้ว ไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณที่รัฐจัดให้ด้วยซ้ำไป
ดังนั้น การอ้างค่ารายหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่รัฐจัดให้ จึงไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเกมของนักการเมือง เหมือนการยุบเขตการศึกษาทั่วประเทศมารวมกันกว่า2 ปี แต่คุณภาพการศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเหมือนที่พูดไว้ ตรงข้ามกลับแย่ลงเรื่อยๆ นักการศึกษารายนี้ให้ความเห็นไว้

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน และอยู่ในข่ายที่ต้องถูกยุบประมาณ 150 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมดกว่า 1,300 แห่ง

ดร.อุทัย ปลีกล่ำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลยตาดโนนพัฒนา อ.ภูหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลยเขต 2 จ.เลย กล่าวว่า โรงเรียนนั้นอยู่ร่วมกับชุมชนมานาน มีการช่วยเหลือ ดูแลและมีการประสานงานในด้านต่างๆ ด้วยกัน เดิมนั้นเรามี บ้าน วัด โรงเรียน ที่อยู่ด้วยกันมาตลอด โรงเรียนนั้นเป็นศูนย์รวมการประสานความร่วมมือและการพัฒนาชองหมู่บ้าน ในหมู่บ้านซึ่งจะขาดไม่ได้ตรงนี้ ไปก็คงลำบาก

ส่วนข้อดี หากมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจริง ๆ นั้น โรงเรียนไหนที่มีครูน้อย การจัดการไม่ครอบคลุม การเรียนการสอนก็อาจจะไม่คุ้มค่า หากจะมีการยุบโรงเรียนก็น่าจะมาบอกกันล่วงหน้าหลายๆ ปี ไม่เร่งรีบจนเกินไป หากจะยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ก็จะต้อง ศึกษาดีๆ หากจะยุบก็ให้ยุบโรงเรียนที่มีน้อยไปมาก ไม่ควรตั้งมาจาก 60 คน หากจะยุบจริงก็ให้ยุบโรงเรียนที่มีครู แค่ 1 หรือ 2 คน และให้เวลาโรงเรียนหรือชุมชนเหล่านั้นปรับตัว

ด้าน นายมงคล ชูทิพย์ ผู้อำนวยโรงเรียนมโนบุเรศรบำรุงการ เลขที่ 268 หมู่ที่ 1 ถนนเลย -ด่านซ้าย บ้านไร่ม่วง ต.น้ำหมาน อ.เมืองเลย จ.เลย สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลยเขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนนั้นผูกพันกับชุมชนมาช้านาน ยิ่งโรงเรียนนี้แล้ว ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจในชื่อโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนี้ก็มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ชื่อพระราชทาน จากสมเด็จย่า ชาวบ้านหวงแหนและถือเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดเลย มีความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถร่วมแก้ปัญหาในชุมชนและโรงเรียนได้ เป็นจุดบริการชุมชนในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงเรียนเป็นเหมือนสถาบันในหมู่บ้าน
ขณะที่แหล่งข่าวระดับรองผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง แถบชานเมืองขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่า หากมองในประเด็นยุบแล้วนำเด็กนักเรียนและครูไปรวมกับโรงเรียนขนาดที่ใหญ่กว่าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลชุมชนเดิมของเด็กมากนัก ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ปกครองมากนัก

แต่ทั้งนี้กระทรวงศึกษาฯ ต้องชัดเจนในแนวทางปฏิบัติว่า หลังยุบรวมโรงเรียนแล้วจะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ยุบรวมกันแล้วการเรียนการสอนยังเหมือนเดิม งบพัฒนาครู งบจัดซื้ออุปกรณ์เสริมทักษะเด็กไม่ได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะยิ่งโรงเรียนใดมีเด็กนักเรียนน้อยและมีครูผู้สอนในอัตราส่วนที่พอเหมาะกับจำนวนนักเรียน ครูที่มีอยู่สามารถที่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถทุ่มเทเวลาสอนเด็กได้เต็มที่ เมื่อเด็กมีน้อยการดูแลการสอนก็ทำได้อย่างทั่วถึง ดีกว่าโรงเรียนชื่อดังในตัวเมืองเสียอีก เพราะโรงเรียนยิ่งดังเด็กนักเรียนยิ่งเยอะการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่เท่ากับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กควรได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็นพิเศษ
การจัดการบริหารการศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ขนาดของโรงเรียนหรือจำนวนนักเรียนว่าจะมีน้อยหรือมาก อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารมากกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีและผู้ใหญ่ในกระทรวงผู้กำหนดแนวนโยบายว่าใส่ใจจริงจังที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32668&Key=hotnews