คอลัมน์: มติชน มติครู : จัดระเบียบ..แก้ ‘ครู’ ขาดแคลน

29 เมษายน 2556

สุนทร เชี่ยวพานิช  ในขณะที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังตื่นตัว พร้อมระคนไปกับความละล้าละลังกับข้อกังขาในความชัดเจนชนิดที่อาจเรียกได้ว่า “ไร้” เอกภาพ โดยเฉพาะบนเส้นทางของการเตรียมการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนถ่ายมิติในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าสู่สังคมยุคใหม่ แต่ทุกอย่างก็ต้องก้าวผ่านไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในปี พ.ศ.2558

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักที่สำคัญในการสร้างเยาวชนของชาติ แม้ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมไว้คอยรับมือกับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะได้พยายามที่จะเร่งพัฒนาระดับคุณภาพการศึกษา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในด้านวิทยาการสมัยใหม่ให้แก่เด็กๆ ไทย ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับสภาพของสังคมยุคไร้พรมแดน “อย่างไร้รอยต่อ” เช่น ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียน นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการเรียนการสอนรายวิชาอาเซียนศึกษา ทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และองค์รวมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ให้รู้ถึงที่มาที่ไป และความจำเป็นของการที่จะต้องรวมกลุ่มกันเป็นประเทศอาเซียน บทบาทของการเป็นประเทศสมาชิก ตลอดจนในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมในเชิงของการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าควรที่จะพัฒนาตนเองอย่างไร จึงจะทำให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งต่อคนไทยด้วยกันและต่อประชากรอาเซียนได้อย่างสร้างสรรค์ และมีความสุข

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงกันมากในขณะนี้ก็คือ ปัญหาในเรื่องการ “ขาดแคลนครู” ที่นับวันจะมีจำนวนมากเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ครูนั้นถือเป็นตัวจักรที่สำคัญในระดับต้นๆ ของการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ตัวเด็ก จากข้อมูลพบว่าในปี พ.ศ.2560 จะมีครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกษียณอายุราชการจำนวนประมาณ 100,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่ไม่น้อย และหากจะนับรวมกับครูทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกษียณอายุราชการไปในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เกษียณอายุราชการปกติ และเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน ที่จะต้องพ้นไปจากแวดวงการศึกษา

ที่สำคัญบรรดาครูที่ต้องเซย์กู๊ดบายไปทั้งก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะโบกมืออำลาไปจากระบบการศึกษาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากผลผลิตของภาครัฐในอดีต รวมทั้งยังได้รับการ “การันตี”จากสังคมมาเป็นอย่างดี ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ และอื่นๆ
ที่น่าสนใจก็คือบรรดาครูกลุ่มนี้ต่างก็ได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียนอย่างเข้มข้นมาจากสถาบันที่ผลิตครูโดยเฉพาะ ในห้วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 โดยในช่วงนั้นปรากฏว่าประเทศไทย ได้มีกลุ่มเด็กที่จะต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องครูขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐจึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในสายวิชาชีพครูกันอย่างอึกทึก พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรต่างๆ ขึ้นมากมายสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นครู

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของภาคประชาชนให้ทั่วถึง เช่น มีการรับผู้เรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (ป.ป.) การเข้ารับการศึกษาภาคค่ำ (twilight) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ปกศ.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการชั้นสูง (ปกศ.สูง) ควบคู่ไปกับการเปิดให้เรียนภาคปกติในวิทยาลัยครู (เดิม) รวมทั้งยังได้จัดตั้งวิทยาลัยครูเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังได้มีการผลิตครูโดยคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าสนใจก็คือในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา บรรดาครูที่จบการศึกษาในรุ่นที่รัฐผลักดันนี้ก็ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเป็นระบบทั้งในระดับ “ปัจเจก” และระดับ “มหภาค”ที่เหนืออื่นใด จุดเด่นของครูในรุ่นนี้ก็คือการแสดงออกถึงความเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนด้านทักษะและประสบการณ์ของความเป็นครูอย่างแท้จริง เช่น การสมัครเข้าสอบวิชาชุดครูทั้งในระดับประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาครูมัธยมศึกษา (พ.ม.) สมัครสอบวิชาชุดครูทั้งสองระดับนี้ทางไปรษณีย์ การใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนไปเข้ารับการอบรมโครงการจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน (อศร.) เข้าอบรมภาคค่ำในระดับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และปิดภาคเรียนไปเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตามโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศบป.) รวมทั้งเข้ารับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนทำให้มีครูจำนวนมากสามารถเรียนจบหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่สำคัญสามารถนำพาการศึกษาของชาติให้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างพึงพอใจ

ทั้งนี้ เป็นเพราะเกิดจากการมีวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กรมการฝึกหัดครู สภาการฝึกหัดครู คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ คุรุสภา วิทยาลัยครู ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดของครู ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความตื่นตัวและความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองของครูในรุ่นนั้น ที่สมควรจะได้จดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยยุคหนึ่ง
ครั้นต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2542 พร้อมทั้งได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขึ้นมาหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ พ.ศ.2547 ฯลฯ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาให้แก่เด็กไทยทั้งประเทศ จะได้มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านนโยบายจากซีกการเมือง ที่นอกจากแกว่งไปแกว่งมาแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านข้อกฎหมายต่างๆ ฯลฯ จนทำให้เส้นทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คาดหวัง
ประกอบกับในช่วงนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างในการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ทั้งระบบ สุดท้ายจึงทำให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี ส่วนใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะของการแสวงหาคำตอบ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาก็คือ นอกจากจะส่งผลทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบผลอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้การจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคมที่ต่างก็คาดหวังกันไว้ค่อนข้างสูงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปการศึกษาเป็นเบ้าหล่อหลอมเด็กๆ ไทยให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ควบคู่ไปกับด้านคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะก่อนที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เวทีของการแข่งขันยุคประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการใช้ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ในด้านสมรรถนะที่สำคัญๆ เช่น การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การรู้เท่าทันกระแสของสังคมยุคใหม่ การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอาเซียน การดำรงชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอื่นๆ

ทั้งนี้ โดยต่างก็ได้ฝากความหวังทั้งหมดนี้ไว้กับ “ครู” เหตุผลก็เพราะยังมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ครูเท่านั้นจะเป็นผู้ที่สามารถประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ไปสู่ตัวเด็กๆ ได้ดีที่สุด ทั้งนี้ โดยไม่เข้าใจถึงสภาพข้อเท็จจริงของกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ว่านอกจากจะต้องมีครูที่มีศักยภาพเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เด็กแล้ว ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เอื้อ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งความร่วมมือจากภาคสังคม และอื่นๆ ที่เหนืออื่นใดก็คือ นโยบายในด้านการจัดการศึกษาจะต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านๆ มา ดูเหมือนกระทรวงศึกษาธิการกลับมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกันเป็นว่าเล่น ดังนั้น จึงทำให้การดำเนินงานด้านการศึกษาของชาติต้องเกิดอาการสะดุดและไม่ต่อเนื่อง ที่สำคัญยังได้ส่งผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ นอกจากจะเกิดอาการสับสนในด้านนโยบายแล้ว ต่างยังเกิดอาการอ่อนล้าไปตามๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องครูสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการภายในปี พ.ศ.2560 จำนวนประมาณ 100,000 คน รวมกับครูทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้เกษียณอายุราชการย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คนนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ล้อเล่น เพราะนี่ถือเป็น “หลุมดำหลุมใหญ่” ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

หากกระทรวงศึกษาธิการเองยังไม่มียุทธ ศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มครูที่เกษียณอายุราชการกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่จะมีจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังมีประวัติและที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น การแก้ปัญหาครูขาดแคลนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งถือเป็นยุคของการแข่งขันนี้ จึงควรที่จะต้องกระทำกันอย่างพิถีพิถัน ที่สำคัญจะต้องเตรียมการกันเสียแต่เนิ่นๆ และมีมาตรฐาน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ มาทำงานด้านการศึกษาอย่างสมน้ำสมเนื้อ

ดังนั้น จึงต้องฝากให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย และยังเป็นนักการเมืองน้ำดีที่สังคมต่างให้การเชื่อถือ จึงควรที่จะใช้โอกาสนี้สร้างมิติใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์ ทั้งต่อการศึกษาและประเทศชาติ คือนอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาในเรื่องการขาดแคลนครูนี้อย่างจริงจังแล้ว ยังควรที่จะต้องเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู ไม่ว่าจะเป็นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ และหน่วยงาน อื่นๆ มาร่วมกัน “จัดระเบียบ” ในการผลิตครูใหม่ทั้งระบบ เพื่อจะได้วางแผนในการสร้างครูยุค “โลกไซเบอร์” ที่มีคุณภาพจริงๆ เพื่อนำไปทดแทนครูรุ่น “เราสู้” ที่กำลังจะอำลาไปจากแวดวงการศึกษาในอีกไม่ช้า

อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านการศึกษาให้ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะถ้าหากสามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่เป็นครู และที่เหนืออื่นใดในการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นครูนั้น จะต้องมีการกำหนด “สเปก” ไว้ให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาเป็นครูได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นคนที่มีความรักและความศรัทธาต่อวิชาชีพครูเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ที่มีทั้งบุคลิกภาพ มีความมุ่งมั่น มีความทุ่มเท และความเสียสละที่จะมาทำงานด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาเป็นครู

สุดท้ายจะได้ไม่ต้องมาโทษกันไปโทษกันมาถึงเรื่อง “คุณภาพ” การศึกษาที่ “ตกต่ำ” เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32540&Key=hotnews

Leave a Comment