แฉนโยบาย ศธ. ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ! พบแล้ว! ตัวการใหญ่รับจ้างเขียนผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู (ตอนที่2)

9 พฤษภาคม 2556

แฉนโยบาย ศธ. ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ!  
พบแล้ว!  ตัวการใหญ่รับจ้างเขียนผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู (ตอนที่2)

เปิดขบวนการ “หากิน” ในการเลื่อนวิทยฐานะวงการครู ชี้ “ข้าราชการเขตการศึกษา-อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ” ตัวการใหญ่ รับทรัพย์อื้อ สนนราคาอยู่ที่ 6 หมื่น-1 แสนบาท หากการันตีผลงานผ่าน 100% ต้องจ่าย 2-3 แสนบาท วงในระบุ ครูดีดตัวเลขสุดคุ้ม เพราะจ่ายค่าจ้างจิ๊บๆ แต่ได้เงินตอบแทนจนเกษียณหลายล้านบาท ส่วนครูดี ครูเก่ง 4 สาขา “คณิต-วิทย์-อังกฤษ-สังคม” โรงเรียนดังใน กทม.สุดทน ยื่นผลงานชนิดทำเองไม่ผ่าน ท้อแท้ขอเออร์ลีรีไทร์ หนีครูไม่เก่งแต่ได้เงินเพิ่ม!

‘Special Scoop’ นำเสนอข่าว แฉนโยบาย ศธ.ต้นเหตุการศึกษาไทยตกต่ำ! ครูอยากเติบโตเลื่อนวิทยฐานะ ‘จ่าย 2 เด้ง’ (ตอนที่ 1) ผ่านไปแล้ว และครั้งนี้จะนำเสนอตอนที่ 2 ชี้ให้เห็น ‘คนใน’ ตัวการใหญ่ ช่วยให้ผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะผ่านฉลุย

ปัจจุบันแม้รัฐมนตรีศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา จะออกมาขู่ฮึ่มๆ กับการรับจ้างทำสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ของคนระดับอุดมศึกษาแล้ว ต้องบอกว่าปัญหาที่น่าห่วงของระบบการศึกษาไทยไม่ใช่มีแค่นั้น โดยเฉพาะกรณีของการเลื่อนวิทยฐานะของครู ที่จะเริ่มจากการขอเป็นครูผู้ชำนาญการ ครูผู้ชำนาญการพิเศษ ครูผู้เชี่ยวชาญ และครูผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในแผนการปฏิรูปการศึกษายก 2 ที่มุ่งหวังพัฒนา “ตัวครู” และหวังว่าจุดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน และระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น

ปรากฏว่าไม่เพียงแต่วงการการเรียนในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ที่มีกระบวนการ “หากิน” ของคนบางกลุ่มเพื่อให้ “ครู” ที่ส่วนหนึ่งทำงานวิจัยไม่เป็น เพียงแค่มีเงินก้อนใหญ่ ก็สามารถที่จะเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ หรือที่เรียกว่าค่าวิทยฐานะนี้ได้แบบง่ายๆ
ไม่ต้องตั้งคำถามถึง “คุณภาพของระบบการศึกษาไทย” ว่าจะดีขึ้นแค่ไหน เพราะแท้จริงแล้ว นโยบายการพัฒนา “ตัวครู” นี้ ทั้งๆ ที่ความตั้งใจในการกำหนดนโยบายดี แต่สุดท้ายช่องโหว่ที่มีอยู่จำนวนมาก ก็ทำให้นโยบายนี้มีผลดีเพียงช่วยให้ครูมีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ระบบการศึกษาไทยไม่ได้พัฒนาขึ้นจริง และที่สำคัญ เด็กไทยยังเรียนเหมือนเดิมเป๊ะ!

4 ขั้นวิทยฐานะครู

สำหรับการเลื่อนวิทยฐานะครูนั้น จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้ เริ่มต้นจากการเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี แล้วจะได้เลื่อนเป็น ครู หลังจากนั้นจะเริ่มนับเวลาการดำรงตำแหน่งครู เมื่อเป็นครูไปได้ 6 ปี สำหรับคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี, 4 ปีสำหรับคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และ 2 ปีสำหรับคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่จะสามารถขอทำการเลื่อนวิทยฐานะไปเป็นครูระดับชำนาญการได้

จากนั้นเมื่อระยะเวลาในการทำงานครบ 1 ปี จึงสามารถขอเลื่อนวิทยฐานะไปเป็นครูชำนาญการพิเศษ และมีระยะเวลาการทำงานครบ 3 ปีก็จะสามารถยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญได้ และทำงานไป 2 ปีก็จะมีสิทธิในการเลื่อนฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญพิเศษ

โดยที่ผ่านมาพบว่าครูส่วนใหญ่ได้ทำการเลื่อนวิทยฐานะไปเป็นครูชำนาญการ ซึ่งไม่ยาก ไม่ต้องมีผลงานประกอบ จึงเป็นขั้นที่มีการเลื่อนได้ง่ายที่สุด

หลังจากนั้นก็จะมีการขอเลื่อนวิทยฐานะในตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ ซึ่งครูมีความต้องการที่จะอยู่ในวิทยฐานะนี้มากที่สุด สาเหตุคือหากได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการ แม้จะง่าย แต่ก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนอีกเดือนละ 3,500 บาท

แต่ถ้าได้เลื่อนขั้นไปอยู่ในตำแหน่ง “ครูชำนาญการพิเศษ” จะได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอีกถึงประมาณเดือนละ 12,000 บาท

เหตุนี้ทำให้ “ครู” บางคนพยายามวิ่งเต้น ทำทุกอย่างเพื่อให้การเลื่อนวิทยฐานะไปอยู่ในระดับชำนาญการพิเศษนี้

สมมติว่าอายุราชการยังเหลืออีก 20-30 ปี เงินที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 12,000 บาทยันเกษียณอายุราชการ นับว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

“เงินเพิ่มเดือนละ12,000 ถ้ายังเหลืออายุราชการ 20 ปีจะได้เงินเพิ่ม 12,000x12x20 ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 2,880,000 บาท แต่ถ้า 30 ปีจะได้ 12,000x12x30 เท่ากับได้เงินเพิ่มขึ้น 4 ,320,000 บาท” แถมในขั้นของการทำผลงานในระดับการเลื่อนจากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ ยังไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก เหมือนกับการเลื่อนวิทยฐานะไปเป็นครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ ที่จะต้องมีการทำงานวิจัยประหนึ่งการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งยาก มาตรฐานสูง

แต่ใช่ว่าครูเหล่านี้จะสามารถทำผลงานวิชาการเพื่อยื่นเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ทุกคน   ตรงนี้จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดขบวนการทุจริตของบรรดาครูทั่วประเทศ!

ที่สำคัญทำให้เกิดอาชีพรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และการเขียนผลงานวิชาการ รวมไปถึงกระบวนการรีดไถของคณะกรรมการตรวจงานฯ โดยที่ครูเหล่านี้หาได้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจากการทำผลงานวิชาการแต่อย่างใด

รับจ้างทำผลงานครู “คนใน” เอี่ยว
ทีม Special Scoop ได้ทำการสืบค้นหาแหล่งว่าจ้างทำผลงานวิชาการของ “ครู” แต่พบว่าส่วนใหญ่ที่ประกาศแพร่หลายในอินเทอร์เน็ตจะเป็นการประกาศรับจ้างทำงานวิชาการในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นหลัก

ส่วนการรับจ้างเพื่อช่วยเหลือ “ครู” ในการเลื่อนวิทยฐานะนั้น หาได้น้อย และแทบไม่มีปรากฏ
ด้านแหล่งข่าวประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาในภาคอีสาน ซึ่งได้ทำงานในส่วนของการพยายามตรวจจับขบวนการ “รับจ้าง” ทำผลงานวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายมานาน ระบุว่าจากการติดตามพบว่าขบวนการรับจ้างช่วยครูในการเลื่อนวิทยฐานะได้นั้นจะไม่ประกาศตัวอย่างแพร่หลาย แต่จะเป็นที่รู้กันในแวดวงครู

“พวกเขารู้กันเองว่าจะว่าจ้างใครซึ่งเป็นข้าราชการครู (เขตการศึกษา) เองที่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้”
สำหรับหลักการและขั้นตอนในการทำผลงานวิชาการนั้นจะเริ่มจากเมื่อครูมีระยะเวลาการทำงานและเงินเดือนถึงระดับที่จะสามารถเลื่อนวิทยฐานะได้นั้น ครูจะต้องไปทำเรื่องขอเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งในขั้นตอนนี้ครูจะต้องคิด และเลือกว่าจะทำผลงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านไหน และต้องระบุไปในขั้นตอนนี้ เช่น จะทำผลงานด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

จากนั้นจะมีคนในราชการระดับเขตนี้แหละ ที่จะติดต่อกับครูที่ต้องการเลื่อนวิทยฐานะเหล่านั้น ว่าจะช่วยให้ผลงานผ่านได้แน่ๆ และผ่านไปได้อย่างง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าครูทุกคนจะจ้างทำผลงานทั้งหมด เพราะมีครูจำนวนไม่น้อยที่อยากทำผลงานเองจากการประเมินเบื้องต้นอยู่ที่สัดส่วน 50-50%
โดยขบวนการ “หากิน” นี้จะเริ่มจาก ผู้รับจ้างจะนำผลงานที่เคยทำมา มาให้ครูคนนั้นๆ นำไปเปลี่ยนหัวข้อ หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาในผลงานที่เคยผ่านการพิจารณาไปแล้วนำไปทำ เพราะว่าเป็นการสร้างผลงานที่ง่ายที่สุด

จากนั้น คนในราชการระดับเขต ก็จะทำตัวเป็นผู้ประสานงานทุกอย่างเพื่อช่วยครู โดยเฉพาะในการคัดเลือกคนที่อยู่ในระดับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเป็นผู้ “อ่านผลงาน”
จะผ่านหรือไม่ผ่าน อยู่ในขั้นตอนนี้!

ดังนั้นในการคัดเลือกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาอ่านผลงานในเขตนั้นๆ ก็จะมีการประสานเพื่อให้อาจารย์นั้นเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วย และหากได้อาจารย์ที่ไม่ค่อยมีจรรยาบรรณ ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการ ก็จะมีการมาติดต่อครูคนนั้นๆ อีกทีว่าคัดเลือกอาจารย์ได้แล้ว ผ่านแน่นอน
แต่จะผ่านแบบไหน?

จะผ่านโดยไม่ต้องมีการอ่านผลงานเลย หรือต้องการผ่านโดยการให้อาจารย์เหล่านั้นมีการแนะนำก่อนว่าผลงานนั้นๆ ต้องปรับแก้ตรงไหน ก่อนถึงวัน “อ่าน”

ในขั้นตอนนี้ ผู้ประสานงานที่เป็นข้าราชการก็จะมีการประสาน และบางครั้งมีการเปิดโรงแรมเพื่อนัดพบเป็นพิเศษระหว่างครูผู้ขอเลื่อนวิทยฐานะกับอาจารย์ผู้ที่จะอ่านผลงาน เพื่ออ่านผลงานก่อนนำเสนอ และเมื่อถึงวันนำเสนอผลงานก็จะให้ผ่านได้ง่ายๆ

สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องเลือก เพราะสนนราคาทั้ง 2 แบบไม่เท่ากัน
หากต้องการให้การอ่านผลงานผ่านเลย สนนราคาอยู่ที่ฉบับละ 60,000-100,000 บาท
แต่หากเลือกแบบมีการปรับแก้ก่อนวันตรวจ สนนราคาอยู่ที่ระดับ 30,000-35,000 บาท
สำหรับขบวนการหากินนี้ มีมากที่สุดในภาคอีสาน!

แหล่งข่าวประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ค.ก.ศ.) กล่าวว่า ขบวนการหากินแบบนี้เกิดมากที่สุดในภาคอีสาน เพราะมีโอกาสได้ครูชำนาญการมากถึง 80% ของครูที่ทำการขอเลื่อนวิทยฐานะ ขณะที่ภาคอื่นๆ มีน้อยกว่า ได้แก่ภาคกลางมีประมาณ 30% ภาคเหนือประมาณ 30% และภาคใต้มีประมาณ 20% ซึ่งน้อยที่สุด

“หากจะถามว่าการตรวจจับเป็นการแก้ปัญหาไหม ตอบได้เลยว่า ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังใช้เกณฑ์การวัดผลโดยดูจากเอกสาร ก็จะเกิดขบวนการรับจ้างอย่างนี้ต่อไป”

สิ่งที่เป็นทางออกในเรื่องนี้คือ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนแล้วว่า การเลื่อนวิทยฐานะครูแบบนี้เป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ควรจะยกเลิกไปเสีย แล้วตั้งเกณฑ์การประเมินครูแบบใหม่ โดยเน้นประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเป็นหลัก
รับประกันผ่าน 100% จ่าย 3 แสน

ส่วนในเขตภาคกลางและกรุงเทพมหานคร แหล่งข่าวผู้แทนครูใน ค.ก.ศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ในกรุงเทพมหานคร บอกว่า ขบวนการการทำผลงานทางวิชาการนั้นเกิดขึ้นจริง เนื่องจากต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ครูมี 2 ส่วน คือ ครูคนที่มีความสามารถไปถึงมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้ ก็จะสามารถทำผลงานในการเลื่อนวิทยฐานะได้ และมีการนำผลงานมาพัฒนานักเรียนที่ได้ผลดี ซึ่งตรงตามเป้าหมายของการเลื่อนวิทยฐานะ

แต่ก็มีครูอีกส่วนหนึ่ง คือครูที่ไม่มีความสามารถ แต่มีเงิน ประกอบกับมีอลัชชีทางการศึกษา ที่อยู่ในวงการการศึกษา แต่ต้องการเงิน ก็จะเข้ามารับจ้างในการทำผลงานวิทยฐานะตรงนี้
“เป็นไปตามหลักดีมานด์ ซัปพลาย คือ เมื่อมีผู้เสนอ ก็ต้องมีผู้สนอง”

ขณะเดียวกัน ขบวนการหากินในภาคกลาง จะเหมือนในภาคอีสานคือ จะมีคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่เป็นข้าราชการ (ครู) ที่อยู่ในเขตการศึกษานั่นเอง เป็นคนจัดการประสานผลประโยชน์ทั้งหมด โดยเฉพาะระหว่างครู และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบอกได้ว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการได้เงินอย่างไม่ถูกต้องที่เกิดในขบวนการนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ดีนั้น จะอ่านผลงานครูที่ไม่ได้เข้าสู่การซื้อวิทยฐานะด้วยการอ่านผลงานแล้วไม่ให้ผ่าน
สำหรับวิธีการซื้อผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะจะมี 2 ระดับคือ

ระดับแรก คือจะจ้างให้จัดทำทั้งหมด โดยนายหน้าที่เป็นข้าราชการครู (ในเขตการศึกษา) จะไปติดต่อให้อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีการจัดทำผลงานทั้งหมดให้ ทั้งผลงานด้านนวัตกรรม รายงานวิชาการ และผลงานปฏิบัติงาน รวม 3-5 เล่ม แต่จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้ สนนราคาในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 70,000-100,000 บาท

ระดับที่สอง ถ้าอยากให้ “ผ่านแน่นอน” จะต้องมีการจ้างคนตรวจเพื่อให้อนุมัติผ่านแบบรับประกัน 100% ราคาการจ้างในส่วนนี้เมื่อรวมขั้นตอนแรกด้วยนั้นจะตกอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท
ดังนั้นแม้ราคาค่าจ้างทำผลงานวิชาการจะสูงมาก แต่ก็คุ้มค่าที่เสียไปมาก!

“ครูที่ทำงานมานานๆ เงินเดือนก็อยู่ที่ 37,000 บาท ถ้าได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษก็จะได้เงินเดือนเพิ่ม และยังได้เงินค่าวิทยฐานะเพิ่มอีก 12,000 บาทต่อเดือน แต่หากเลื่อนขั้นอีกเป็นครูเชี่ยวชาญ ก็จะได้เงินค่าวิทยฐานะเพิ่มอีก 19,600 บาท”

หากย้อนมาดูตัวเลขของการตกเบิกประกอบ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ถ้าครูคนหนึ่งลงทุนจ้างทำผลงานไป 2 แสนบาท ยังไงก็คุ้ม เพราะแค่การตกเบิกยังได้แล้วสูงสุดถึง 3 แสนบาท

แหล่งข่าวย้ำว่าเมื่อได้เงินเพิ่ม แถมได้ค่าวิทยฐานะเพิ่ม แต่การศึกษาแย่ลงจึงกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะผลที่ตามมาคือ “ครูดีๆ เริ่มท้อแท้”

แฉครูดี 4 สาขาสุดช้ำ ลาออกอื้อ!
แหล่งข่าวกล่าวว่า ครูที่อยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยเลยที่สอบไม่ผ่าน เนื่องจากครูใน กทม.นั้นส่วนใหญ่จะเป็นครูที่ต้องการจะทำผลงานด้วยตนเอง แต่เมื่อไม่ซื้อ ถึงแม้เก่ง โอกาสที่ผลงานจะผ่านก็เป็นไปได้น้อย เพราะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนก็ไม่ใช่คนที่ตรงไปตรงมา
ไม่จ่ายก็อย่าหวังผ่าน!

ทำให้เวลานี้ ครูที่ทำงานโรงเรียนดังๆ ที่มีการสอนมา 20-30 ปี สอนให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ก็หลายคน แต่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะก็มีไม่น้อย

ขณะที่ครูรุ่นใหม่ๆ ไม่มีความสามารถ แต่ใช้เงินซื้อ ก็ได้เลื่อนวิทยฐานะ ครูดีๆ โดยเฉพาะในสาขา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคม หลายคนก็รับไม่ได้ เลยมีการขอ “เออร์ลีรีไทร์” หรือขอเกษียณก่อนกำหนด ปีหนึ่งหลายคน อย่างปี 2555 มีครูใน 4 สายนี้ที่ขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดกว่า 100 คนไปแล้ว

ดังนั้น นโยบายและหลักเกณฑ์ในการเลื่อนวิทยฐานะครู กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลและผู้บริหารการศึกษาระดับกระทรวงจะมองข้ามไม่ได้อีกแล้ว

เพราะจุดประสงค์ในการเลื่อนวิทยฐานะครู ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพครูเพื่อต้องการให้นักเรียนมีระบบการเรียนการสอนที่ดีขึ้น เด็กนักเรียนมีคุณภาพสูงขึ้น

แต่วันนี้ความเห็นแก่ “เงิน” ของแวดวงผู้บริหารการศึกษา ถือเป็นตัวอันตรายที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอและคุณภาพด้อยลงไปอีก

“เงินเพิ่ม แถมได้ค่าวิทยฐานะเพิ่ม แต่การศึกษาแย่ลง” ประโยคนี้ได้ยินแล้วมันช้ำ!

— ASTVผู้จัดการออนไลน์ —

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32647&Key=hotnews

Leave a Comment