อาจารย์-นักศึกษา ราชภัฏโคราชฮือแต่งดำประท้วง

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – อาจารย์-นศ. ม.ราชภัฏโคราชฮือแต่งดำประท้วง ค้านมติสภามหาวิทยาลัยฯ เลือกอธิการบดีคนใหม่ กก.สภาฯ 3 คน สุดทนยื่นลาออก พร้อมชูป้ายประณาม “สภาอัปยศ ไม่ฟังเสียงประชาคม” ชี้ทุกขั้นตอนผ่านการกลั่นกรองมาอย่างหนัก แต่สุดท้ายสภาฯ กลับเลือกเอาคนได้คะแนนแพ้รวดทุกยกเป็นอธิการฯ โดยไม่สนความเหมาะสมตามที่คนส่วนใหญ่เลือกมา

ค้านมติสภาเลือกอธิการ
ค้านมติสภาเลือกอธิการ

18 พ.ค.2556 ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มคณาจารย์และนักศึกษา จำนวนกว่า 30 คน นำโดย ผศ.ธวัช ตราชู ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รวมตัวกันแต่งชุดสีดำแสดงพลังคัดค้านมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ได้ลงมติเลือก รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาคนใหม่ ในการประชุมเมื่อวานนี้ (17 พ.ค.2556)

พร้อมกันนี้ ผู้ชุมนุมได้ชูป้ายประท้วงข้อความต่างๆ เช่น “ไม่เอาวิเชียร” “มหาลัยจะอยู่อย่างไรถ้าสภาไม่ยอมรับฟังเสียงประชาคม” และ “สภาอัปยศไม่ฟังเสียงประชาคม” จากนั้น ผศ.ธวัช ตราชู กับพวกได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อคัดค้านการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ โดยมี ผศ.คมกฤช ตรีสินธุรส รักษาการรองอธิการบดี เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมอ่านแถลงการณ์ ก่อนเดินขบวนไปรอบมหาวิทยาลัยฯ

ผศ.ธวัช ตราชู ประธานสภาคณาจารย์ และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดำเนินการสรรหาอธิการบดีแทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากอธิการบดีคนปัจจุบัน ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยสภามหาวิทยาลัยฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีขึ้นมา จำนวน 9 คน ภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ และ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ซึ่งในมาตรา 28 อธิการบดีนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย จากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 29

ต่อมา คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ดำเนินการให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัย จำนวน 14 หน่วยงาน เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี หน่วยงานละ 1 รายชื่อ ปรากฏว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานทั้งสิ้น 5 คน เรียงลำดับตามจำนวนหน่วยงาน คือ อันดับ 1 ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ จำนวน 6 หน่วยงาน อันดับ 2 รศ.ดร.นภัทร์ น้อยน้ำ จำนวน 3 หน่วยงาน และอันดับ 3 รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล จำนวน 2 หน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อสมัครเข้ารับการสรรหาอีก 3 คน ร่วมเป็นผู้เข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 8 คน

จากนั้น คณะกรรมการสรรหาฯ ได้จัดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าประชาคม มีการสัมภาษณ์ กลั่นกรอง พิจารณาคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ และให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเลือกให้เหลือ 3 คน เพื่อนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ปรากฏว่า ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ มาเป็นอันดับ 1 ได้คะแนน 87.36 อันดับ 2 รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล ได้คะแนน 77.41 และอันดับ 3 ดร.สุนทรี ศิริอังกูร ได้คะแนน 72.30

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.2556) คณะกรรมการสรรหาฯ ได้นำรายชื่อทั้ง 3 คน ดังกล่าว เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2556 แต่ผลปรากฏว่า สภามหาวิทยาลัยฯ ได้ลงมติ 11 เสียง เลือก รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล และ 9 เสียงเลือก ศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ทั้งที่ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยมากที่สุดถึง 6 หน่วย ซึ่งแสดงถึงการยอมรับของบุคลากรในมหาวิทยาลัยมากกว่า รศ.ดร.วิเชียร ที่ได้รับการเสนอจากหน่วยงานเพียง 2 หน่วยงาน อยู่ในอันดับที่ 3

นอกจากนี้ คะแนนในส่วนของคณะกรรมการสรรหาฯ ยังได้มาเป็นอันดับ 1 จำนวน 87.36 มากกว่า รศ.ดร.วิเชียร ซึ่งได้มาเป็นอันดับ 2 จำนวน 77.41 อย่างเห็นได้ชัดเจน แต่สภามหาวิทยาลัยฯ กลับมีมติที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาตรา 28

ฉะนั้น วันนี้พวกเราในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ ตัวแทนผู้บริหาร และผู้แทนคณาจารย์เห็นว่า มติของสภามหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงบทบัญญัติใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนของประชาคมในมหาวิทยาลัย และไม่ได้รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือกันมาโดยตลอดอย่างยาวนาน จึงขอคัดค้านมติสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว

ทั้งนี้ เพราะเป็นมติที่ทำลายวัฒนธรรมองค์กร ก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร และขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็นสภาคณาจารย์ และข้าราชการ และการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ผม พร้อมด้วย รศ.พรณีย์ ตะกรุดทอง และ อ.ศักดิ์ดา นาสองสี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ เพราะกระบวนการสรรหาแต่ละขั้นตอนเราต้องระดมความคิดเห็นอย่างสาหัสจนมั่นใจว่าจะได้ผู้นำที่เหมาะสมแล้วจึงนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ที่เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และทรงเกียรติ เพื่อจะได้พิจารณาอย่างสมเหตุสมผล แต่สุดท้าย การสรรหาที่กลั่นกรองไว้ด้วยหลักการ และเต็มไปด้วยความยุติธรรม กลับไม่ได้ถูกนำมาอ้างอิง แต่มติที่ออกมากลับเป็นการเลือกข้าง เพื่อพรรคพวกตัวเองอย่างชัดเจน” ผศ.ธวัช ตราชู กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปัจจุบัน มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งผูกขาดในตำแหน่งนี้มาตลอดเป็นเวลานานกว่า 18 ปี และมักถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงในการสรรหาอธิการบดีคนใหม่มาทุกยุคสมัย เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่ นายสุวัจน์ เดินทางมาเป็นประธานประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ คุมเกมเลือกอธิการบดีคนใหม่ด้วยตัวเอง และร่วมลงคะแนนเสียงด้วย

! http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000059750