จี้ตอบโจทย์ใหญ่ปฏิรูปหลักสูตร สสค.ถอดโมเดลเน้นทักษะสู่อาชีพ-อุ้มเด็กจน

30 พฤษภาคม 2556

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 2 หัวข้อการพัฒนาทักษะอาชีพและโลกของงาน ถอดบทเรียนการปฏิรูปหลักสูตรและโลกของงานจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ 2 กรณี โดย น.ส.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า Career Technical Education (CTE) เป็นรูปแบบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจัดมากว่า 40 ปี เป็นต้นแบบของการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนต่อการพัฒนาการศึกษา ร่วมวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา การสอนและปรับวิธีการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาให้สอดคล้องกับโลกแห่งการทำงาน พบว่าอัตราการออกกลางคันนักเรียนกลุ่มเสี่ยงลดลง และมีอัตราเรียนจบสูงขึ้น ร้อยละ 90 ได้รับเงินเดือนสูงกว่านักเรียนที่จบแบบปกติถึง ร้อยละ 11

น.ส.ไหล ปี้ จี (Jill Lai) นักวิชาการการศึกษาอาวุโส สำนักเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันลงทุนด้านการศึกษาอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ แก่ผู้เรียน ส่วนกรณีเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ไต้หวันยังมีหลักสูตรเฉพาะที่เรียกว่า TVE High School Cooperative Work Experience Education เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนวิชาชีพฟรี พร้อมทั้งทำงานไปด้วยอย่างละครึ่ง หารายได้จุนเจือครอบครัว

ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค. กล่าวว่า อยากเน้น 3 เรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาของไทย คือ 1.การศึกษาของไทยนำไปสู่การมีวุฒิ แต่ไม่นำไปสู่การมีงานทำ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาต้องนำสู่การเรียนรู้ 2.ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรลดลง เรามีวัยทำงาน 35-40 ล้านคน จึงต้องสนับสนุนให้การพัฒนา การฝึกอบรม 3.รัฐบาลต้องเปลี่ยนบทบาท เป็นผู้ให้งบประมาณ แล้วให้โอกาสท้องถิ่น จังหวัด ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้จัดการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรใหม่ ต้องเน้นสร้าง “ทักษะ”

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32856&Key=hotnews