รัฐบาลไทยเชื่อศัพท์โจ๋ไม่ทำให้วิบัติ

30 กรกฎาคม 2556

นักวิชาการ-ราชบัณฑิต ชี้ ศัพท์วัยรุ่น ไม่ทำภาษาไทยวิบัติ แค่สื่อสารในกลุ่มไม่นานก็หาย แนะศึกษาภาษา เพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2556 “ภาษาไทย ภาษาอาเซียน” ที่ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการไปมาก เป็นโลกไร้พรมแดน และต่อไปไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ซึ่งการใช้ภาษาจะมีความสำคัญอย่างมาก

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาไทยที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กัน คนรุ่นเก่าไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเด็กรุ่นใหม่พัฒนาภาษาให้ตรงกับการสื่อสารภายในกลุ่มของตน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีการใช้กันเป็นปกติ และภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง จึงจะไม่ตาย อย่างไรก็ตาม แต่ละชาติต่างมีภาษาของตนเอง โดยเฉพาะภาษาไทยมีตัวอักษรและเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงอยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยไว้

“ต่อไปเมื่อเปิดเอซีจะมีชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในหลายเรื่อง เช่น การค้า การศึกษา ทำให้ชาวต่างชาติต้องเรียนรู้ภาษาไทยกับคนไทย เพื่อจะได้สื่อสารกับคนไทยได้ จึงเป็นความท้าทายว่า เราจะจัดระบบอย่างไรให้ชาวต่างชาติเรียนภาษาไทยกับเราได้ง่าย อย่างไรก็ตาม คิดว่าภาษาไทยไม่ได้เป็นภาษาหลักของอาเซียน เพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของเอซี” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำเนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ไม่รู้สึกตกใจกับการใช้ภาษาของวัยรุ่นยุคใหม่ รวมไปถึงภาษาในไลน์ เช่น คำว่า สาด เกรียน จุงเบย เพราะเป็นการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เพียงแต่ต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักแยกแยะและรู้กาลเทศะในการใช้ภาษาไทยว่า เวลาใด สถานที่ใด ควรใช้ภาษาไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ

“คิดว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า แต่คงไม่ใช่ภาษาหลักของอาเซียน เพราะหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย บรูไน ก็ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย อย่างไรก็ตาม การจะให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ภาษาไทยและภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูผู้สอน ซึ่งต้องมีความเข้าใจเนื้อหาและวิธีการสอน” ดร.นิตยา กล่าว

นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มองว่าขณะนี้สถานการณ์การใช้ภาษาไทยไม่น่าห่วง เพราะการใช้ภาษาไทยในโลกออนไลน์มีชีวิต มั่นคงและมีวิวัฒนาการของผู้ใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ภาษาไทยมีความแข็งแรง ยั่งยืน ไม่ล้มหายไปไหน อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยไม่สามารถเป็นภาษาหลักของเอซีได้ เพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง และแต่ละชาติมีภาษาของตัวเอง

นายทอดด์ ทองดี พิธีกรรายการคุณพระช่วย สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 กล่าวว่า เชื่อว่าต่อไปภาษาไทยจะเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งของอาเซียน อยากให้ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญภาษา ท้องถิ่นเป็นทูตด้านภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติ รวมทั้งกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการทูตวัฒนธรรมเยาวชน โดยให้เยาวชนไทยไป แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อซึมซับและเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

นายชิบ จิตนิยม พิธีกรรายการเอเชีย คอนเนค สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า จากประสบการณ์ไปทำข่าวประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร พม่า สิ่งที่น่าห่วงคือ ประเทศเพื่อนบ้านต่างสนใจและเรียนรู้ภาษาไทยกันมาก ทั้งเรียนในมหาวิทยาลัยในไทย หรือสื่อบันเทิงอย่างละครทีวีของไทย แต่คนไทยกลับไม่ยอมเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน จึงอยากให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติหันมาเรียนรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้สื่อสารกันได้ ไม่เสียโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรมและการค้าเพื่อรองรับเอซี

วันเดียวกัน ที่โรงละครแห่งชาติ มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2556 และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และรางวัลเพชรในเพลง

นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่สื่อต่างๆ ให้ความสนใจในการนำเสนอข่าววันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม จึงอยากรณรงค์ให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนตระหนักและให้ความสำคัญกับภาษาประจำชาติ ด้วยการใช้ภาษาไทยให้ถูกหลัก และหลีกเลี่ยงคำร่วมสมัยที่ไม่ถูกต้อง

นายประมวล พิมพ์เสน ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น กล่าวว่า คนส่วนใหญ่จะหวั่นวิตกเรื่องศัพท์สแลง และภาษาสมัยใหม่ แต่ส่วนตัวคิดว่า การใช้ภาษาไทยของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นวิวัฒนาการของภาษาที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ภาษาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เรียกได้ว่า ศัพท์เสริม ศัพท์เสื่อมก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายจะเห็นว่า ส่วนที่ดีก็ยังมีอยู่ ส่วนที่ไม่ดีจะหายไปเอง ดังนั้นอย่าหวั่นวิตกกับศัพท์วัยรุ่นมากเกินไป

“อยากฝากว่า การใช้ภาษาไม่ว่าจะใช้ในทางใด เราต้องรู้จักความเป็นชาติ เพราะภาษาเป็นอันดับหนึ่ง แผ่นดินเป็นอันดับสอง ดังนั้นเราต้องรักษาเอกลักษณ์ การแสดงออกเป็นชาติเอาไว้ให้ได้” นายประมวล กล่าว

ขณะที่ นายสุรินทร์ แปลงประสพโชค ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า มีความเป็นห่วงการใช้ศัพท์ของวัยรุ่นในปัจจุบัน เพราะเด็กสมัยใหม่มีฐานภาษาไทยค่อนข้างอ่อน ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังภาษาไทยตั้งแต่ 3-4 ขวบ ซึ่งง่ายๆ และสนุก เด็กชอบ นั่นก็คืออ่านนิทานให้ฟังแล้วพยายามให้เด็กจินตนาการตามไปด้วย ถ้าหากเด็กมีพื้นฐานภาษาไทยแน่นก็จะมีภูมิต้านทานที่จะต่อสู้กับภาษาใหม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างเด็กให้แม่นภาษา ควร พูด อ่าน เขียน ให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันพยายามปลูกฝังให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรียนรู้ภาษาไทยให้ถ่องแท้แล้วก็ควรมีความรู้ด้านภาษาเพื่อนบ้านด้วย ก็จะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33522&Key=hotnews